xs
xsm
sm
md
lg

ปลอดขยะนำเข้า! อธิบดีกรมควบคุมโรคยันขยะอิเล็กทรอนิกส์เมืองน้ำดำยังปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - “นพ.สุวรรณชัย” อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะ ลงพื้นที่ติดตามผลการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย ระบุไม่พบขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ลักลอบจากต่างประเทศ นอกจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างจังหวัดเพื่อคัดแยกรีไซเคิล และสร้างอาชีพให้ชาวบ้าน



วันนี้ (12 มิ.ย.) ที่บ้านสะอาด หมู่ 2 ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะได้ลงไปตรวจสอบดูสถานที่จริงตามจุดที่มีการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งจากเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ เพื่อศึกษาหาข้อมูลในการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่ยึดอาชีพนี้

โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ นพ.ธีรวัฒน์ วิลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น นพ.ประวิตร ศรีบุญรัตน์ สาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นายประสูตร หอมบันเทิง นายอำเภอฆ้องชัย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้นำชุมชน ร่วมต้อนรับ
นพ.สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุข
นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เนื่องจากมีข่าวเรื่องการลักลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้งในประเทศไทย จึงได้มาลงพื้นที่ อ.ฆ้องชัย แหล่งที่ประชาชนประกอบอาชีพการคัดแยกขยะเป็นส่วนใหญ่ว่ามีปัญหาเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศหรือไม่ ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ปรากฏว่าไม่พบขยะอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว และจากวันสิ่งแวดล้อมโลก (5 มิ.ย. 61) ที่ผ่านมา ได้มีคำขวัญในการรณรงค์สิ่งแวดล้อมโลกว่า “ถ้าเปลี่ยนโลก ต้องเริ่มที่ตัวเรา” จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ ในเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงได้มาตรวจดูสภาพจริงในพื้นที่ ต.โคกสาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ดังกล่าว


อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้ลงพื้นที่และมาติดตามการบูรณาการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ ต.โคกสะอาด พบว่าได้มีการจัดการอย่างต่อเนื่อง ประชาชนทำตามคำแนะนำ และที่สำคัญมีการพัฒนาอาชีพของชาวบ้านทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ที่สำคัญเด็ก เยาวชน มีจิตสำนึกและความตระหนักในการกำจัดขยะที่ถูกวิธี ทั้งนี้ ในการศึกษาปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งที่เป็นห่วงคือมีปัญหาในภาพรวม คือ ขยะที่เหลือจะทำอย่างไรไม่ให้มีผลตกค้างระยะยาว ไม่มีการปนเปื้อนระบบน้ำใต้ดินที่จะมีผลต่อห่วงโซ่อาหาร คงจะต้องนำเสนอในระดับส่วนกลางต่อไป

ด้านนายสนั่น พงษ์อักษร รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จ.กาฬสินธุ์ ได้สนับสนุนให้มีการัดแยกขยะที่ต้นทางตามโครงการจังหวัดสะอาด ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวม 4,469 แห่ง ใน 18 อำเภอกำหนดบ่อทิ้งขยะ 5 โซน คือ เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เทศบาลตำบลโพน อ.คำม่วง เทศบาลเมืองบัวขาว อ.กุฉินารายณ์ เทศบาลตำบลหนองกุงศรี อ.หนองกุงศรี และเทศบาลตำบลกมลาไสย อ.กมลาไสย

โดยมีหมู่บ้าน ชุมชนต้นแบบการจัดการขยะ 159 แห่ง เริ่มให้มีจุดรวบรวมขยะอันตรายหมู่บ้านละ 1 แห่ง ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน มีการจัดการปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่แบบครบวงจร และบูรณาการทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการสาธารณสุขระดับจังหวัด มีศูนย์วิชาการะดับเขต เครือข่ายจากสถาบันการศึกษา

นายสนั่นกล่าวอีกว่า ในส่วนของการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น จ.กาฬสินธุ์ กำหนดยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหา 7 ยุทธศาสตร์ คือพัฒนาระบบการดูแลเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน, พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากปัญหามลพิษขยะอิเล็กทรอนิกส์, สร้างความรู้ ทักษะที่ถูกต้อง นำสู่การเกิดจิตสำนึกและวินัยของประชาชน และผู้ประกอบการ, พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และรูปแบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์, สร้างกลไกการบูรณาการความร่วมมือทุกภาส่วนในการจัดการขยะ, ส่งเสริมอาชีพเสริม และอาชีพทางเลือกที่มั่นคง ทั้งผู้ประกอบการและประชาชน

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี สิ่งแวดล้อมในชุมชนปลอดภัย ไม่เกิดปัญหามลพิษ และเป็นศูนย์เรียนรู้ในการจัดการขยะอีเล็กทรอนิกส์ระดับประเทศต่อไป

ด้าน นพ.ประวิตร ศรีบุญรัตน์ นาแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 สถานการณ์ปัจจุบัน มีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเก่าเข้ามาในพื้นที่ 767ตัน/เดือน ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเก่าเหลือทิ้ง 20 ตัน/เดือน สมาชิกในครัวเรือนที่ประกอบอาชีพคัดแยกขยะ 656 คน กลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง 109 คน เป็นเด็ก 0-5 ขวบ 32 คน ผู้สูงอายุ 70 คน และผู้พิการ 7 คน

นพ.ประวิตรกล่าวอีกว่า ในส่วนการคัดกรองสุขภาพผู้ประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่เมื่อปี 2556 ตรวจกลุ่มเสี่ยงในเด็ก 122 คน พบผลตะกั่วเกิน 5Ug/dl ที่ 24 ราย ร้อยละ 19.7 และในปี 2557 ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในเด็ก 60 คน ผลตะกั่วเกิน 5Ug/dl ที่ 12 ราย ร้อยละ 20 ล่าสุดปี 2559 คัดกรองจำนวน 194 ราย พบว่ามีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเนื่องจากการยกของหนัก ร้อยละ 71.1

รองลงมาคือผื่นคันผิวหนัง คัดจมูกเนื่องจากสัมผัสฝุ่นร้อยละ 47.9 มีอาการบาดเจ็บเล็กน้อยเนื่องจากอุบัติเหตุจากการถอดแยกชิ้นส่วนร้อยละ 38.7 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจหาสารแคดเมี่ยมในร่างกาย พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติทุกราย


กำลังโหลดความคิดเห็น