ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง ออกแถลงการณ์หนุนแต่งตั้งกรรมการอิสระให้มีการทบทวนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อพิจารณายกเลิกการใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ในเดือนธันวาคม 2562 โดยมีกรอบการทำงานภายใน 60 วัน
เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยมีใจความว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นตัวแทนของรัฐบาลมารับหนังสือของเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 700 องค์กรนั้น
เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง ยอมรับการแต่งตั้งกรรมการอิสระ เพื่อให้มีการทบทวนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยมีกรอบการทำงานภายใน 60 วัน แต่ยืนยันให้มีการแต่งตั้งตัวแทนกรรมการโดยรัฐบาล และให้เป็นกรรมการที่ปลอดจากผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างแท้จริง อีกทั้งต้องยึดหลักการเอาเรื่องสุขภาพเป็นหัวใจสำคัญในการตัดสินใจแบนหรือไม่แบนสารพิษร้ายแรง ซึ่งเป็นคำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ต่อหน้าผู้ชุมนุมเอง
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายไม่อาจยอมรับข้อเสนอที่จะให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการเรื่องนี้ เพราะไม่ได้เป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเรื่องสุขภาพ อีกทั้งมีบทบาททับซ้อนในฐานะที่มีหน้าที่ส่งเสริม และดูแลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นหลัก มองมิติเพียงประสิทธิภาพของการใช้สารเคมีเป็นหลัก
เครือข่ายจะติดตามความชัดเจนของรัฐบาลว่าจะแถลง และดำเนินการในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยต้องเป็นไปตามกรอบข้อเสนอของเครือข่ายฯ 3 ข้อ ได้แก่
1) ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนมติ และพิจารณายกเลิกพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ในเดือนธันวาคม 2562 ตามกรอบเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอไว้ โดยกระบวนการพิจารณาข้อมูล และลงมติต้องไม่มีผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 12 วรรค 2 ใช้ข้อมูลที่ทันสมัย เป็นกลางทางวิชาการ และมาจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง ได้แก่ ผลการพิจารณาของกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และข้อมูลจากเครือข่ายประชาคมวิชาการ ซึ่งเพียงพอต่อการพิจารณายกเลิกการใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส
2) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการศึกษาหาวิธีการทดแทน ตามมติของสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ทั้งนี้ จากการสำรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อย ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และมันสำปะหลัง ร้อยละ 63 ไม่ได้ใช้พาราควอตในการกำจัดวัชพืช นั่นหมายถึงมีสารกำจัดวัชพืชชนิดอื่น และวิธีการในการจัดการวัชพืชที่มีประสิทธิภาพมากกว่าพาราควอตอยู่แล้ว หากแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้รวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้มาเผยแพร่ในวงกว้าง
3) ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านก่อนจะยกเลิกการใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอสในปี 2562 หากพบว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนของเกษตรกร เสนอให้กระทรวงการคลังศึกษา และจัดเก็บภาษีจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรงมาใช้ในการเยียวยาผลกระทบ และสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีจัดการวัชพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะลดผลกระทบจากการถูกกีดกันทางการค้าจากความไม่ปลอดภัยของสารพิษตกค้าง การละเมิดสิทธิเกษตรกรที่ใช้สารพิษที่อันตรายร้ายแรง ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกในระยะยาว
ทั้งนี้ ภายใน 3 สัปดาห์หลังจากนี้ จะมีการจัดประชุมใหญ่ของเครือข่าย โดยมีตัวแทนจากสมาชิกเครือข่ายทั้ง 700 องค์กรเข้าร่วม เพื่อประกาศปฏิบัติการ และท่าทีของเครือข่ายต่อไป จึงเรียนมาเพื่อสื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ