xs
xsm
sm
md
lg

ขู่ฉีด “พาราควอต” หน้า ก.อุตฯ หาก 23 พ.ค.ตัดสินไม่แบนสารอันตราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ภาคประชาชนจับตาพิจารณาแบน “พาราควอต” วันที่ 23 พ.ค. ขู่ฉีด “พาราควอต” หน้ากระทรวงอุตสาหกรรม หากไม่แบน เหตุไม่อันตราย ลั่นรัฐบาลต้องรับผิดชอบ พร้อมเล็งเปิด 3 คณะกรรมการ ผลประโยชน์ทับซ้อนบริษัทสารเคมีเอกชน

วันนี้ (22 พ.ค.) ที่โรงแรมตรัง ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวภายในเวทีอภิปราย “ยุติผลประโยชน์ทับซ้อน เรียกความโปร่งใสของคณะกรรมการวัตถุอันตราย” จัดโดยเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษอันตรายร้ายแรง ว่า เรื่องการแบนสารพาราควอตหรือไม่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาผลกระทบจากพาราควอต ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่า มีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ หลังจากที่คณะกรรมการ 5 กระทรวง และคณะกรรมการ 3 กระทรวง เคยมีมติให้แบนชัดเจน แต่ก็ยังไม่จบ มีการยื้อเรื่องจนมาสู่การพิจารณาในชั้นนี้ ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่มาจากกรมวิชาการเกษตร ที่เคยอ้างว่าไม่มีความรู้ในเรื่องสุขภาพ ดังนั้น เรื่องนี้ต้องรอดูผลการตัดสินในวันที่ 23 พ.ค. นี้ ว่า มีความสมเหตุสมผลหรือไม่ จะสะท้อนถึงการมีประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการหรือไม่

“ตามปกติแล้วในยุโรปหรือญี่ปุ่น หากมีข้อมูลผลิตภัณฑ์อะไรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน จะมีคำสั่งระงับการใช้ทันที จนกว่าจะมีข้อพิสูจน์ได้ว่าไม่เป็นอันตราย ดังนั้น หากรัฐบาลยังเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนจริงควรเริ่มต้นจากพาราควอต ซึ่งขณะนี้มีการแย้งกันอยู่ก็ขอให้หยุดไว้ก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่มีอันตราย แต่กลับมีการอนุญาตให้ใช้ต่อ จึงมองว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายผลประโยชน์ทับซ้อน ออกมาเพื่อห้ามให้ข้าราชการรับเงินจากเอกชน และจะบอกข้อมูล หรือแนวนโยบายของราชการแก่เอกชนไม่ได้ เพราะเรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งสิ้น ซึ่งก็เคยมีความพยายามจะออกมาตั้งแต่ปี 2552 จนขณะนี้ก็ยังไม่สามารถออกได้” ดร.มานะ กล่าว

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี (BioThai) กล่าวว่า วันที่ 23 พ.ค. จะมีการตัดสินว่าจะแบนสารพาราควอตหรือไม่ ซึ่งหวังว่าหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลประชาชนจะทำหน้าที่ปกป้องประชาชน อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับการแบนสารพาราควอตหรือไม่ 4 เรื่อง คือ  1. บทบาททับซ้อน เนื่องจากในคณะกรรมการวัตถุอันตรายมี 3 คน ที่มีตำแหน่งในบริษัทสารเคมีเอกชน ซึ่งตามปกติแล้วควรแยกบทบาทหน่วยงานควบคุมให้ชัดเจน ดังนั้น หากมีการอนุญาตให้ใช้ต่อจะมีการเปิดเผยรายชื่อของคณะกรรมการ 3 คนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ให้ประชาชนได้ทราบถูกคน 2.การมีประโยชน์ทับซ้อน เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการต่อทะเบียนหรือข้อสรุปผลการศึกษาทางวิชาการต่อสาธารณชนเลย สะท้อนให้เห็นว่าผลอาจอัปลักษณ์จนไม่มีใครกล้าเปิดเผยตัว กลัวจะถูกวิจารณ์ ซึ่งสิ่งที่ต้องการทราบคือพาราควอตมีฤทธิ์เฉียบพลันมากกว่าสารบางตัวที่ถูกยกเลิกการใช้ไปแล้วหรือไม่

3. กรรมการวัตถุอันตรายหลายคนและอนุกรรมการบางคน เคยเสนอให้พืชสมุนไพรที่ใช้ต้มยำทำแกง 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตราย แต่ตอนนี้กำลังจะให้ใช้พาราควอตต่อ ซึ่ง 50 ประเทศแบนไปแล้ว อีกทั้งในรอบ 10 ปี ยังไม่เคยแบนสารพิษตัวไหนเลย และ 4.ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร รัฐบาล คสช. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการแบนพาราควอตตามมติของ 5 กระทรวง เพราะคณะกรรมการวัตถุอันตราย 19 จาก 29 คน เป็นข้าราชการที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล และหากไม่แบนพาราควอตสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลเห็นแก่บรรษัทข้ามชาติมากกว่าประโยชน์ของประชาชน หวังคะแนนเสียงจากประชาชนและการสนับสนุนจากบริษัทผู้ค้าสารพิษ และโยนความเสี่ยงมาที่ประชาชนที่มีข้อมูลไม่เพียงพอ ให้ตายแบบเฉียบพลันหรือตายแบบผ่อนส่ง

นางบุญยืน ศิริธรรม สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่หากพาราควอตได้ไปต่อ คงได้แค่ 0.4 หากซึ่งอยากบอกว่าไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีสารทดแทน ต้องเชื่อมั่นว่าต้องมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ใช้ทดแทนแน่นอน นอกจากนี้ รัฐบาลบอกว่ามีงบประมาณไม่เพียงพอในการรักษาผู้ป่วย แต่กลับไม่แก้ปัญหาจากสาเหตุที่ทำให้ประชาชนเจ็บป่วย ดังนั้น วันที่ 23 พ.ค. ขอให้ประชาชนเตรียมพาราควอตไปด้วย หากบอกไม่อันตรายก็ฉีดที่หน้ากระทรวงอุตสาหกรรมหลังจากมีคำตัดสิน

นายสุรชัย ตรงนาม ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แม้จะมีข้อถกเถียงเรื่องพาราควอต แต่คำตัดสินของคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็ต้องคำนึงถึงชีวิต คนสัตว์ สิ่งของ และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญตามรัฐธรรมนูญ ต้องมีการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดให้ถูกต้องภายใต้เงื่อนไขและเป็นประโยชน์ที่สุด ซึ่งที่สุดแล้วคำตัดสินคงไม่ได้สิ้นสุดที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย แต่ต้องชงให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ตัดสินอีกครั้ง โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ดังนั้น หากผลออกมาอย่างไร หากมีการใช้ต่อก็สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมในการตรวจสอบได้

น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) กล่าวว่า หลังจาก สธ.ยืนมติเดิม ก็ยังไม่เห็นการตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งในวันที่ 23 พ.ค. ก็จะมีการพิจารณาสรุปโดยคณะกรรมการวัตถุอันตราย เราก็ได้เรียกร้องหาความโปร่งใส โดยอยากให้พิจารณาบนพื้นฐานทางวิชาการ และขอให้กรรมการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนที่รู้ตัวอยู่แล้วว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทไม่เข้าร่วมในการพิจารณา และขอให้เปิดเผยข้อมุลการพิจารณา และคำวินิจฉัยส่วนบุคคลแต่ละท่า ไม่ว่าจะตัดสินแบนหรือไม่แบน และหากยังไม่สามารถพิจารณาได้ในวันพรุ่งนี้หรือเลื่อนการพิจารณาออกไป ภายใน 7 วัน จะมีการชุมนุมของเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อเรียกร้องต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น