xs
xsm
sm
md
lg

จับตาพิจารณา “พาราควอต” เล็งฟ้องศาลปกครองหากต่อทะเบียน ชี้ มีผลต่อสุขภาพมาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่าย Thai-PAN จับตาพิจารณา “พาราควอต” ชี้ หากต่อทะเบียนทั้งที่ข้อมูลวิชาการชัดเจน มีผลต่อสุขภาพ พร้อมลุยฟ้องศาลปกครองเพิกถอน

ความคืบหน้ากรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอให้ถอนสารเคมีฆ่าหญ้า “พาราควอต” ออก เนื่องจากมีผลกระทบต่อสุขภาพชัดเจน แต่หลายฝ่ายมีความกังวลใจต่อคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ซึ่งมีตัวแทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งจะพิจารณาตัดสินภายใน เม.ย. นี้ ว่า จะถอนสารเคมีหรือจะต่อทะเบียนอีก

วันนี้ (10 เม.ย.) น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช Thai-PAN กล่าวว่า ขณะนี้การพิจารณายังไม่สิ้นสุด แต่หากผลสุดท้ายออกมาว่าให้ต่อทะเบียนตามที่หลายฝ่ายกังวล เครือข่ายจำนวนกว่า 398 เครือข่าย จาก 51 จังหวัด จะมีการเดินหน้าเพื่อขอเหตุผลที่ชัดเจนจากคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจว่า ผลกระทบต่อสุขภาพเป็นไปตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ และหากต้องมีการจำกัดการใช้จะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้มีประสิทธิภาพ หากเหตุผลไม่เป็นไปตามหลักการแน่นอนว่าอาจจะต้องมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้มีการเพิกถอนการต่อทะเบียนตามที่ได้มีการเตรียมการไว้ก่อนหน้านี้ หรือหากเหตุผลเพียงพอก็อาจไม่ต้องฟ้องร้อง ซึ่งก็ต้องติดตามอีกครั้ง

“ในเวทีของฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการใช้พาราควอตในหลายเวที มีการใช้ข้อมูลของคุณหมอจาก รพ.รามาฯ ที่ระบุว่า ไม่มีผลกระทบต่อสมอง ซึ่งไม่ใช่คุณหมอเฉพาะทางโรคทางด้านสมอง จึงอยากเรียกร้องให้คุณหมอเฉพาะทางทางด้านสมองได้ออกมาพูดถึงเรื่องดังกล่าว และส่งข้อมูลไปยังคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจน” น.ส.ปรกชล กล่าว

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า พาราควอตมีการออกฤทธิ์เฉียบพลันสูง ผู้ได้รับสารมีอัตราการเสียชีวิตสูง ทำให้มีการรวบรวมข้อมูลพบว่า ในบางประเทศ บริษัทผู้ผลิตจะมีการให้งบสนับสนุนอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาให้แก่ศูนย์รักษาผู้ได้รับสารพิษในโรงพยาบาล ซึ่งมองด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้มีอุปกรณ์ที่เป็นประโยชน์ในการรักษาโรคจากสารพิษนั้น แต่มองอีกด้านหนึ่งก็จะมองเป็นการสะท้อนว่าบริษัทต้องการสร้างสัมพันธ์กับผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญบางคน หันมาสนับสนุนสารพิษดังกล่าว ทั้งที่รู้และไม่รู้ตัว ซึ่งในกรณีพาราควอตการใช้ยาถอนพิษได้ผลน้อย เพราะปัจจุบันยังไม่มียาถอนพิษทำให้บางประเทศมีนักวิชาการบางคนให้ข้อมูลทางด้านสุขภาพตรงกันข้าม ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นอาจมีความเป็นไปได้ว่า ขณะนี้หรือในอนาคตจะมีการกระทำดังกล่าวในประเทศไทย ซึ่งก็ต้องมีการตรวจสอบอย่างจริงจัง และหากมีการต่อทะเบียนพาราควอต นอกจากการเปิดเผยรายชื่อผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนที่มีการเตรียมการไว้แล้ว อาจต้องการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นการปลุกคนในสังคมให้ลุกขึ้นมาทำความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงสังคม

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ตนคงไม่มีการรวบรวมข้อมูลทางด้านสุขภาพส่งไปยังคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ แต่การที่ตนได้มีการเรียบเรียงข้อมูลนั้น ก็เพื่อเป็นการสรุปข้อมูลต่อสุขภาพจากการใช้พาราควอตที่มีมหาศาลให้กับกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีหน้าที่สำคัญ แต่กลับบอกว่าไม่มีข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพ และการที่มีแพทย์จาก รพ.รามาฯ ได้ออกมาระบุว่าพาราควอตไม่มีผลต่อสุขภาพ ตนก็ได้มีการแจ้งไปยังรองคณบดี รพ.รามาฯ ให้ไปแจ้งยังแพทย์คนดังกล่าวว่าขณะนี้มีข้อมูลมากมาย ซึ่งหากแพทย์คนดังกล่าว ซึ่งก็เป็นคณะกรรมการทางด้านวิชาการยังออกมาบอกว่าไม่มีหลักฐานก็ถือว่าไม่มีความรอบคอบในการหาข้อมูล


กำลังโหลดความคิดเห็น