MGR Online - ป.ป.ส.ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ลงนามข้อตกลงสนับสนุนข้อมูลด้านพิษวิทยาของยาเสพติด เผยปัจจุบันกลุ่มวัยรุ่นนำยารักษาโรคมาใช้เป็นสารเสพติด
วันนี้ (26 มี.ค.) เวลา 11.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ศาสตราจารย์ นพ.วินัย วนานุกูล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสาน สนับสนุนข้อมูล และการดำเนินงานด้านพิษวิทยาของยาเสพติด ระหว่างหน่วยงานหลักด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ยาเสพติด กับหน่วยงานทางวิชาการและการปฏิบัติการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเกี่ยวกับพิษวิทยา เพื่อให้ประชาชนและสังคมได้รับประโยชน์ด้านองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ตลอดจนวิธีการปฏิบัติตนเพื่อการป้องกันตนเองและสังคมให้ปลอดภัยจากโทษและพิษภัยของยาเสพติด สารเสพติด สารเคมี วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ก๊าซ และการนำยารักษาโรคมาใช้ในทางที่ผิด
นายศิริทร์ยาเปิดเผยว่า ปัจจุบันพบกลุ่มวัยรุ่นนำยาที่ใช้ในทางการแพทย์ หรือยารักษาโรค มาใช้ในทางที่ผิดเป็นจำนวนมาก โดย ป.ป.ส.ขอความร่วมมือจากศูนย์พิษวิทยาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์หาสารพิษหรือผลร้ายที่จะเกิดกับร่างกาย เช่น การนำยาแก้ปวด ยาแก้หวัด หรือยาแก้ไอ มารับประทานเป็นสารเสพติด จากสถิติพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องจากได้รับผลข้างเคียงจากการเสพสารเสพติดดังกล่าวเพราะถูกชักชวนจากสื่อโซเชียลฯ โดยคาดว่าการลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้จะสามารถสื่อสารไปยังผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ให้ช่วยตักเตือนเด็กและเยาวชนได้
“ที่ผ่านมาพบข้อมูลการจับกุมผู้ลักลอบนำเข้า และจำหน่ายยาทรามาดอล หรือยาเขียว-เหลือง จำนวน 3-4 แสนเม็ด ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการควบคุมการจำหน่ายยาประเภทนี้ อาทิ จำหน่ายในปริมาณจำกัด หรือต้องได้รับใบสั่งแพทย์ เนื่องจากหากรับประทานมากเกินไปจะส่งผลอันตรายต่อร่างกาย” นายศิริทร์ยากล่าว
ด้าน ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตรกล่าวว่า ศูนย์พิษวิทยาจะสนับสนุนผลการตรวจตัวยาจากห้องปฏิบัติการ รวมทั้งหาองค์ความรู้ด้านพิษวิทยาในตัวยาใหม่ๆ เช่น ยาแก้ปวดเม็ดเขียว-เหลือง ที่นิยมนำมาใช้เป็นสารเสพติด และยาที่ใช้ในทางวิสัญญีแพทย์ โดยยอมรับว่าการควบคุมการจำหน่ายยาเหล่านี้ ยังค่อนข้างยาก ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและนำมาใช้อย่างผิดวิธี
ขณะที่ ศาสตราจารย์ นพ.วินัยเผยว่า จากนี้จะมีการให้ความรู้พร้อมติดตามเฝ้าระวังเกี่ยวกับการใช้ยาทางการแพทย์ต่างๆ ในทางที่ผิดของกลุ่มวัยรุ่น ยกตัวอย่างการใช้ยาเม็ดเขียว-เหลือง ในปริมาณที่มากกว่าปกติจะก่อให้เกิดอาการชักได้ หรือยาบางชนิดจะส่งผลถึงอาการหลอนประสาทด้วย