xs
xsm
sm
md
lg

“ฟิลิปส์” รุกดิจิไทเซชันเฮลท์แคร์ ชูไฮเทคโซลูชันรับตลาด 6 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ผู้จัดการรายวัน 360 - “ฟิลิปส์” รุกหนักตลาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ไฮเทค ชูกลยุทธ์ “ดิจิไทเซชัน” โซลูชันครบวงจรรับเทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์บูม คาดอีก 4 ปีมีโรงพยาบาลเอกชนเกิดอีกไม่ต่ำกว่า 6 แห่ง รองรับตลาดรักษาพยาบาลมูลค่า 6.5 แสนล้านบาท

นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทฯ วางแผนที่จะรุกตลาดธุรกิจกลุ่มเครื่องมือการแพทย์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเครื่องมือและซอฟต์แวร์ทางด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์ หรือระบบการเชื่อมต่อข้อมูลในตลาดสุขภาพในไทยเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาล รวมทั้งเพื่อเป็นการตอบรับไทยแลนด์ยุค 4.0 ด้วยที่ก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยน “ดิจิไทเซชันเฮลท์แคร์ ” (DIGITIZATION HEALTHCARE)

ทั้งนี้ ประเมินว่าภายในช่วง 3-4 ปีจากนี้จะมีโรงพยาบาลเอกชนใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 5-6 แห่งรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยจะมีทั้งขนาดใหญ่จำนวนกว่า 500 เตียง และขนาดกลางถึงเล็กประมาณ 150 เตียง เนื่องจากภาคเอกชนมองว่าธุรกิจด้านสุขภาพและโรงพยาบาลจากนี้ไปจะมีโอกาสเติบโตอย่างมาก ขณะที่โรงพยาบาลเดิมก็มีการปรับปรุงและขยายธุรกิจและขนาดต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการด้านอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ทั่วไปและเฉพาะมีมากขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่หากพิจารณาจากข้อมูลทางด้านระบบสุขภาพของไทย พบว่าสัดส่วนของการประกันสุขภาพในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 92.5% ในปี 2545 เป็น 99.8% ในปี 2558 ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8-9% ต่อปี จากมูลค่าค่ารักษาพยาบาลรวมกว่า 6.5 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 80 : 20 ระหว่างการใช้จ่ายภาครัฐบาลและภาคเอกชนตามลำดับ

รวมทั้งการบริการสาธารณสุขได้รับการพัฒนาและขยายไปครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ รัฐบาลได้จัดตั้งคลินิกและโรงพยาบาลแห่งใหม่ขึ้นเพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีสถานพยาบาลในประเทศไทยประมาณ 17,000 แห่ง โดย 70% เป็นของรัฐบาล ขณะที่อีกประมาณ 1,300 แห่งเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาลเฉพาะทางขั้นสูง รัฐบาลใช้จ่ายเงิน 14% ของงบประมาณทั้งหมดในด้านการแพทย์และสาธารณสุข เหล่านี้รวมถึงเงินเดือนของบุคลากรทางการแพทย์ โครงสร้างพื้นฐาน และเครื่องมือแพทย์ต่างๆ ซึ่งคิดเป็น 4.6% ของ GDP ประเทศ เพื่อเสริมสร้างประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชีย

รัฐบาลมีนโยบายที่จะช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย “ประเทศไทย ศูนย์กลางสุขภาพและบริการทางการแพทย์” ภายในระยะเวลา 10 ปี แผนยุทธศาสตร์ 10 ปีเริ่มตั้งแต่ปี 2560-2568 ดิจิตอลเฮลท์แคร์ หรือการนำเอาเทคโนโลยีด้านดิจิตอลมาช่วยในด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมไปถึงการบริการด้านสุขภาพ กลายเป็นกุญแจสำคัญในยุคเฮลท์แคร์ 4.0 ซึ่งจะผลักดันอุตสาหกรรมด้านเฮลท์แคร์ให้ก้าวหน้ามากขึ้นด้วย

กลยุทธ์ของบริษัทฯ ในการรุกดิจิไทเซชันจะเป็นปีแรกที่เน้นการทำตลาดแบบโซลูชัน คือ ครบวงจร ทั้งการจำหน่าย ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์การแพทย์ อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่ไฮเทคและการบริการด้านการดีไซน์ ตั้งแต่เริ่มต้นการออกแบบอาคาร จนถึงการติดตั้งอุปกรณ์ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งเดิมจะมีทีมงานนี้อยู่แล้วอยู่ที่ส่วนกลางที่สิงคโปร์ แต่ในไทยยังไม่ได้นำมาใช้ จะเริ่มปีนี้อย่างจริงจัง รวมทั้งการนำเสนอเครื่องมือไฮเทคใหม่ๆ ต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ เครื่องมือทางการแพทย์แบบเฉพาะทางเราเคยให้บริการแล้ว งานใหญ่ก็เช่นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี แต่การลงทุนค่อนข้างสูง แต่ก็ถือว่าคุ้มในแง่การใช้งาน ซึ่งทั้งสองงานนี้จะเป็นสปริงบอร์ดให้เรารุกตลาดได้

“ตลาดเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ในไทยมีมูลค่ามากกว่า 40,000 ล้านบาท โตเฉลี่ย 10% ต่อปี ส่วนใหญ่ถ้าเป็นเครื่องมือแบบไฮเทค เทคโนโลยีชั้นสูง นำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยในตลาดนี้มีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่แข่งขันกันประมาณ 3-4 ราย ทั้งจากอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ฟิลิปส์เราเป็นรายใหญ่ มีเทคโนโลยีและชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว ที่ผ่านมาเราก็เติบโตต่อเนื่องเป็นตัวเลข 2 หลัก” นายวิโรจน์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น