xs
xsm
sm
md
lg

ลือแรง..ยึดหอศิลป์ กทม.สร้างห้าง!? ศิลปินรวมพลังต้าน #FreeBACC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
'ทำเลทอง-ใจกลางเมือง-ผู้เข้าชมปีละ 1.7 ล้านคน' ผู้ว่ากทม.จ่อยึดบริหาร 'หอศิลป์' ลือทั่วยึดทำห้างฯ !? อ้างมูลนิธิฯ เดิมจัดการไร้ประสิทธิภาพ เก้าอี้ไม่มี-เยาวชนนั่งพื้น-ขาดทุน 80 ล้าน! 'ผอ.หอศิลป์' ยืนยันไม่เป็นความจริง! เครือข่ายศิลปินรณรงค์ต่อต้าน #Freebacc ตั้งคำถามชะตากรรมหอศิลป์ นักการเมืองบริหาร..จะรุ่งโรจน์หรือรุ่งริ่ง!?

เมื่อ “หอศิลป์” ไม่ได้ถูกบริหารโดย “ศิลปิน” !?

“ในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งที่เคยร่วมเรียกร้องให้ได้มาซึ่ง 'หอศิลป์ กทม.' ผมขอใช้คำหยาบที่หน้ากระดานของผมได้ไหม - ค ควาย ตามด้วย ว แหวน และปิดท้ายด้วย ย ยักษ์”

ข้อความปะทะสุดดุเดือดถูกเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'สุชาติ สวัสดิ์ศรี' ศิลปินแห่งชาติ สืบเนื่องจากกรณีที่ 'พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง' ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางบริหารจัดการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครว่า จากการบริหารงานหอศิลป์ ในปัจจุบันโดยมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร

พบว่าเกิดความไม่สะดวกในหลายๆ รูปแบบ เช่น การให้บริการโต๊ะเก้าอี้ต่างๆ ที่ไม่เพียงพอ ซึ่งทางกทม.มีความต้องการพัฒนาพื้นที่ให้แก่เด็กและเยาวชนสามารถใช้งานได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ซึ่งในแต่ละปีกทม.จะต้องสนับสนุนงบประมาณเพื่อการดูแลปีละกว่า45 ล้านบาท จึงพิจารณาดูแล้วเห็นว่ากทม.เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณบางส่วนอยู่แล้ว หากสามารถนำกลับมาบริหารจัดการเองนั้นก็จะสามารถพัฒนาในรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมได้

สำหรับแนวคิดข้างต้นนี้จะถูกบริหารจัดการโดยสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว โดยยืนยันว่าจะไม่มีการทำเป็นศูนย์การค้าอย่างที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัย และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างแน่นอน

ขณะที่กลุ่มเครือข่ายศิลปินและประชาชนต่างพากันตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดทางกทม.ถึงเกิดแนวคิดเข้าบริหารหอศิลป์ ขึ้นในเวลานี้ ทั้งที่ปัจจุบันหอศิลป์ ถูกบริหารโดยมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดยกำลังเข้าสู่วาระครบรอบ 10 ปี ซึ่งที่ผ่านมาการบริหารจัดการของมูลนิธิฯ ได้มีผลงานออกสู่สายตาจนเป็นที่ยอมรับแก่สาธารณชนอยู่แล้ว


 
เห็นได้จากคะแนนความนิยมถึง 4.5 ดาวใน GoogleMap โดยมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติหมุนเวียนเข้ามาที่หอศิลป์ แห่งนี้รวมแล้วมากกว่า 1,700,000 คนต่อปี อีกทั้งยังเป็นทำเลทองย่านใจกลางเมือง และยังใช้เป็นสถานที่ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สิ่งแวดล้อม และสังคม ผ่านผลงานศิลปะได้อย่างเป็นอิสระ

นี่จึงเป็นข้อสงสัยของสังคมถึงแนวคิดดังกล่าวในเวลานี้ว่า อาจมีเงื่อนงำหรือผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างไรหรือไม่ จนเกิดกระแสการแสดงความคิดเห็นร้อนระอุไปทั่วโลกออนไลน์

“พื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมของเมืองควรได้รับการสนับสนุนงบจากเมือง และควรบริหารโดยคนที่รู้จักและเข้าใจงานด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ”

“บริหารงานตัวเองให้ดีก่อนไหม ปัญหาเร่งด่วนคือเรื่องขยะค่ะ ขยะจะทับตายอยู่แล้ว”

“ถ้าหอศิลป์ไม่ถูกบริหารโดยศิลปิน แต่ถูกบริหารโดยกลุ่มคนซึ่งไร้ความเข้าใจของแวดวงศิลปะ รับรองได้ครับ ดับอนาถ แบบนี้เรียกว่าสะเออะ”

รวมถึงยังมีการคัดค้านการที่กรุงเทพมหานครจะเข้ามาบริหารจัดการหอศิลปกรุงเทพฯ ด้วยตัวเอง #freebacc ผ่านเว็บไซต์ Change.org โดยล่าสุดมีผู้ลงชื่อสนับสนุนแล้วมากกว่า 8,000 คน

ซึ่งแคมเปญที่ว่านี้มีการรณรงค์ถึงประเด็นหลักๆ ว่าด้วยเรื่องการบริหารการจัดการศิลปะและวัฒนธรรม ไม่ใช่เรื่องทางการปกครอง แต่ควรเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีความรู้-ประสบการณ์เฉพาะทาง และควรเป็นองค์กรที่มีอิสระในการดำเนินงานในระบบบริหารจัดการสมัยใหม่และเป็นสากล

“หอศิลป์” ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง!!

“ผมว่าเขากำลังท้าทายกับพลังของศิลปินและพลังของศิลปะ ปากเขาก็พูดว่ารักศิลปวัฒนธรรมไทย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่เคยให้ศิลปวัฒนธรรมมันเติบโตพัฒนา สิ่งที่เขาพูดมันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเลย”

'วสันต์ สิทธิเขต' ศิลปินดังเจ้าของรางวัลศิลปาธร เปิดใจกับทีมข่าว ผู้จัดการ Live หลังเกิดกระแส กทม.จ่อยึดบริหารหอศิลป์ ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างหนักในขณะนี้

ในฐานะศิลปินผู้ร่วมต่อสู้เรียกร้องให้เกิดหอศิลป์ มานานกว่า 10 ปี มองเรื่องนี้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างผิดพลาด สำหรับการเข้ามาบริหารหอศิลป์ โดยผู้ที่ไม่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในแวดวงศิลปะ

“เราต่อสู้มา 10 ปี กว่าจะได้มา สู้กันมาจนมีมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครมารองรับ เพื่อบริหารจัดการ แต่โดยแรกเริ่มผมรณรงค์ต่อสู้ วาดภาพ เดินขบวน จัดงานเวทีที่นี่อยู่หลายครั้ง การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ดารา ศิลปินมากมาย ก็เลยเป็นเสียงที่ทำให้เราได้ชัยชนะในวันนั้น

แต่เมื่อได้ชัยชนะมาแล้วก็ยังไม่ใช่ชัยชนะ เพราะทางฝ่ายราชการเองเขาไม่เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย คนกรุงเทพฯ มี 20 ล้านคน แต่ไม่เคยมีพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเลย เราเรียกร้องมาจนมีหอศิลป์ วันนี้

ซึ่งจากกระแสข่าวที่มีเวลานี้ มันเหมือนเป็นการตัดมือ-ตัดตีนศิลปินไปเลย ให้ไม่มีพื้นที่ แต่ถ้าไม่มีพื้นที่ เราก็เคลื่อนไหวได้อยู่แล้ว เพราะพื้นที่ศิลปะมันมีทุกที่ มันอาจไม่ใช่เรื่องของพื้นที่ แต่มันคือเรื่องของนโยบายที่คุณอยากปิดหู ปิดตาประชาชนทางด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งคุณคิดผิดแล้ว”
วสันต์ สิทธิเขต
ปวิตร มหาสารินันทน์
 
สอดคล้องกับด้าน ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมฯ 'ปวิตร มหาสารินันทน์' ได้ให้ความเห็นกับทางทีมข่าวถึงประเด็นนี้ด้วยว่า ตามข้อเท็จจริงทางมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีสัญญาโอนสิทธิ์การดูแลบริหารจัดการหอศิลป์ จากทาง กทม.อย่างถูกต้องครบถ้วน ซึ่งสัญญามีผลบังคับใช้อยู่จนถึงปี 2564

ขณะที่เกิดกระแสข่าวบางส่วนที่มีการนำเสนอออกไปว่าทางมูลนิธิฯ มีการบริหารจัดการขาดทุนมากกว่า 80 ล้านบาท! ซึ่งด้าน ผอ.หอศิลป์ ชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง

“มีข้อมูลที่อาจคลาดเคลื่อนไปตามที่ได้ลงในสื่ออื่นๆ ว่ามูลนิธิฯ บริหารจัดการหอศิลป์แล้วขาดทุนปีละ 80 ล้านบาท ผมต้องยืนยันเลยว่าไม่จริง ผมยกตัวอย่างปีที่แล้วเรามีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 75 ล้านบาท เราได้รับเงินสนับสนุนจากทาง กทม.ทั้งหมด 45 ล้านบาท แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราขาดทุน

เพราะเราหาเงินได้ทั้งจากเงินที่สนับสนุนโดยบริษัทห้างร้านต่างๆ หรือจากการบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งเป็นไปตามสัญญาโอนสิทธิ์ที่ทำไว้กับทาง กทม. ซึ่งปีที่แล้วเราหาเงินได้เอง 37 ล้านบาท หากรวมกับที่ กทม.ให้มารวมแล้ว 82 ล้านบาท ซึ่งก็มากกว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดของเรา 75 ล้านอย่างเห็นได้ชัด

ฉะนั้น วิธีการบริหารจัดการแบบนี้ที่เราตกลงกับทาง กทม.ไว้ว่าเรามีสิทธิ์บริหารจัดการเองอย่างอิสระ และรายงานผลต่อ กทม.ทุกเดือน โดยที่ว่า กทม.มีเงินสนับสนุนส่วนหนึ่ง และเราหาได้เงินส่วนหนึ่ง มันก็เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่ามันเป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพและได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้ งบประมาณก้อนนั้นในปีนี้ เราไม่ได้นะครับ ตอนนี้เราทำงานอยู่ได้ด้วยเงินที่สะสมมาจากปีก่อนๆ ถ้าหอศิลป์ที่ผ่านมาขาดทุน ตอนนี้ก็คงต้องปิดแล้วครับ เพราะปีนี้ไม่ได้รับเงินจาก กทม.เลย”

ขณะที่ กทม.เผย มูลนิธิฯ บริหารหอศิลป์ เข้าข่ายผิดระเบียบกรุงเทพฯ มาตรา 96 เหตุไม่ผ่านการอนุญาตจากสภา กทม.และ รมว.มหาดไทย จับตาประชุมวันที่ 15 พ.ค. เคาะข้อสรุป 2 แนวทาง ให้มูลนิธิฯ บริหารต่อ แต่ทำให้ถูกต้อง หรือ กทม.ดึงกลับมาบริหารเอง หลังหมดสัญญาในปี 2564 ด้าน ผอ.หอศิลป์ ชี้แจงกับทีมข่าว

“ทางสำนักกฎหมายได้ปรึกษากับทางผู้บริหาร กทม.ในสมัยนั้นแล้ว ได้ทำจดหมายถึงผู้ว่าราชการสุขุมพันธุ์เรียบร้อยแล้ว เราทำทุกอย่างตามขั้นตอนถูกต้องแล้วนะครับ


 
อย่างที่ทุกคนเห็นว่าหอศิลป์ กทม. มีผู้ใช้บริการมากขึ้นทุกปี ต้องบอกเลยว่าตอนนี้เป็นช่วงขาขึ้นของหอศิลป์นะครับ เรียกง่ายๆ กิจกรรมต่างๆ ที่ทั้งหอศิลป์จัดเอง หรือจากหน่วยงานต่างๆ มีประมาณ 400 กว่ากิจกรรมต่อปี มันก็เลยน่าสนใจว่าทำไมถึงเพิ่งจะมาเห็นข้อผิดพลาด ซึ่งเราก็ได้แก้ปัญหาไปเรียบร้อยแล้ว”

อย่างไรก็ตาม แม้มีหลายเสียงให้ความเห็นว่า เหตุผลสำคัญที่ทาง กทม.ต้องการเข้ามาบริหารจัดการหอศิลป์ เสียเอง อาจเป็นเพราะว่าต้องการปิดช่องทางการแสดงผลงานศิลปะที่มีการสื่อความถึงเรื่องการเมือง สิ่งแวดล้อม และสังคม ด้าน ผอ.หอศิลป์ อธิบายว่าสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย

“ผมว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างเป็นกลางอยู่ตลอดเวลา เห็นได้จากคนที่ทำงานที่นี่หรือศิลปินที่เขานำผลงานมานำเสนอ จะมีทั้งสองด้าน ผมว่ามันเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศเราเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ผมจึงมองว่าหอศิลป์ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ของมูลนิธิฯ หรือของใครเพียงคนเดียว เรามีคนที่มาชมงานปีที่แล้ว1 ล้าน 7 แสนคน ผมเชื่อได้ว่าทุกคนรู้สึกได้ว่าเขาเป็นเจ้าของหอศิลป์ หรือแม้แต่คนที่ไม่เคยมา เขาก็เป็นเจ้าของหอศิลป์เหมือนกัน

ผมคิดว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ดีนะครับที่คนออกมาแสดงความเห็นกัน เนื่องจากว่าหอศิลป์ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง เราก็อยากฟังความเห็นของประชาชนว่าท่านมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า

การที่มูลนิธิฯ บริหารมา 10 กว่าปีนี้ มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด หรือท่านคิดว่าสมควรที่จะยกเลิกสัญญาโอนสิทธิ์ แล้วให้ กทม.มาบริหารจัดการเอง ให้ขึ้นอยู่กับประชาชนแล้วกันครับ”

ข่าวโดย ทีมข่าวผู้จัดการ Live


กำลังโหลดความคิดเห็น