รมว.เกษตรฯ รับข้อเสนอม็อบแบนพาราควอต หลังบุกทำเนียบยื่นหนังสื่อถึง “บิ๊กตู่” ทบทวนการยกเลิกใช้สารอันตราย หวั่นกระทบสุขภาพเกษตรกร-ผู้บริโภค
วันนี้ (5 มิ.ย.) เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่ง ก.พ.) เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร กว่า 150 คน นำโดยนายสุนทร รักษ์รงค์ แกนนำเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดและเครือข่ายคนกรีดยางแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีการรวมรวมตัวกันที่บริเวณข้างวัดเบญจมบพิตร ตั้งแต่ในช่วงเช้าที่ผ่านมา ก่อนที่จะเดินเท้าเคลื่อนขบวนมายังสำนักงานสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีการชูป้ายคัดค้าน รวมถึงแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ พร้อมแสดงออกถึงการต่อต้านสารอันตราย พร้อมทั้งแสดงละครที่แสดงให้เห็นถึงความอันตรายของสารดังกล่าว
โดยทางเครือข่ายฯ ขอให้ทบทวนมติและกระบวนการพิจารณาเพื่อยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส สืบเนื่องจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีการประชุมพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการวัถตุมีพิษอันตรายกลับมีมติไม่แบนการใช้สารพาราวควอต และสารคลอร์ไพริฟอส โดยที่ทางเครือข่ายมองว่าการไม่แบนสารวัตถุอันตรายดังกล่าวจะทำให้เกิดอันตราย และอาจจะกระทบต่อสุขภาพแก่พี่น้องชาวเกษตรกร ผู้บริโภค รวมถึงกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยทางเครือข่ายฯจึงมายื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีด้วยกัน 3 ข้อ คือ 1. ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนมติ และพิจารณายกเลิกพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ภายในเดือน ธ.ค. 2562 ตามกรอบเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอไว้ โดยกระบวนการพิจารณาข้อมูลและลงมติต้องไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วม 2. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการศึกษาหาวิธีการทดแทน ตามมติการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค 3. ในช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านก่อนจะมีการยกเลิกใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ในช่วงปี 2562 หากพบว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนของการเกษตร จะต้องเสนอให้กระทรวงการคลัง ต้องศึกษาและจัดเก็บภาษีจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง มาเยียวยาผลกระทบให้เกษตรที่ปรับเปลี่ยนวิธีจัดการวัชพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
จากนั้นในเวลา 11.00 น. นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์มารับหนังสือเรียกร้องดังกล่าว โดยนายกฤษฎากล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังจัดทำแผนจำกัดการนำเข้าวัตถุอันตรายมาใช้ในการเกษตร ซึ่งใช้ระยะเวลา 60 วัน และจะรับเอาข้อเสนอของทางเครือข่ายฯ ไปพิจารณา โดยจะเป็นการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างข้าราชการ นักวิชาการ และตัวแทนภาคประชาชน มาศึกษาข้อเท็จจริงใหม่ เพื่อยื่นไปที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ทบทวนมติอีกครั้ง โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างแน่นอน ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมการวัตถุอันตราย และข้าราชการกรมวิชาการเกษตรนั้น เป็นเรื่องของกฎหมาย โดยที่เครือข่ายฯ สามารถส่งหลักฐานมาเพื่อยื่นให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับบรรยากาศการรักษาความปลอดภัยได้มีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล ยืนประจำโดยรอบบริเวณศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยภายหลังการยื่นหนังสื่อแล้วทางเครือข่ายได้ทยอยเดินทางกลับ ไม่มีความวุ่นวายแต่อย่างใด