xs
xsm
sm
md
lg

ติดตาม 2 ปี แยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ขาย ยังไม่พบปัญหาสุขภาพชัดเจน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เดินหน้าสั่ง รพ. ลดการใช้ “พลาสติก” กรมควบคุมโรค ชี้ ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามมาได้ เผยติดตามหมู่บ้านถอดชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ ยังไม่พบปัญหาสุขภาพเรื้อรัง แต่ต้องติดตามต่อเนื่อง พร้อมให้ท้องถิ่นบังคับใช้ กม.สาธารณสุขคุมเป็นกิจการส่งผลสุขภาพ

วันนี้ (5 มิ.ย.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดโครงการรณรงค์และประชาสัมพันธ์วันสิ่แวดล้อมโลก “WE CHANGE WORLD CHANGE เริ่มเปลี่ยนที่ตัวเรา” เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ว่า รมว.สาธารณสุข ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยบริหารจัดการโรงพยาบาลให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (GREEN & CLEAN Hospital) ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน มีระบบบำบัดน้ำเสีย การกำจัดขยะ ลดการใช้กระดาษ ลดการใช้ถุงพลาสติกเปลี่ยนเป็นการใช้ถุงผ้าใส่ยา เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งปีนี้ได้จัดโครงการรณรงค์ลดปัญหาจากขยะพลาสติก ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ สธ. สนใจ และตระหนักถึงการช่วยลดการใช้พลาสติก ซึ่งทั่วโลกกำลังพบปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตต่ำ ซึ่งคาดการณ์ว่า พลาสติกจะเพิ่มขึ้นจาก 2.05 ล้านตัน ในปี 2560 เป็น 2.44 ล้านตัน ในปี 2565 ทั้งนี้ พลาสติกบางชนิดมีสารประกอบที่อันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หากใช้งานไม่ถูกวิธีอาจเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ได้

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นปีละ 2 ล้านตัน แต่มีการนำกลับมาใช้เฉลี่ยปีละ 0.5 ล้านตัน ทั้งนี้ พลาสติกบางชนิดมีคุณสมบัติไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และยากต่อการย่อยสลาย ทำให้คงอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการย่อยสลายตามธรรมชาตินานถึง 450 ปี ดังนั้น สธ. ในฐานะที่เป็นหลักในด้านสุขภาพ จึงต้องมีการดำเนินการให้เป็นองค์กรตัวอย่างที่ดี เริ่มจากการลดและการนำมาใช้ซ้ำ โดย รมว.สธ. ให้ได้ดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ 1. ลดการใช้ถุงพลาสติกในโรงพยาบาล และ 2. ร่วมกับชุมชนดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมมีทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น พลาสติกหากทิ้งก็จะก่อให้เกิดน้ำท่วมขัง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หรืออุดทางน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค เป็นต้น

เมื่อถามถึงการเฝ้าระวังเรื่องขยะพิษ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จากการติดตามหมู่บ้านฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งทั้งตำบลทำอาชีพถอดชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ขาย เนื่องจากมีรายได้ดี ประมาณ 2 - 3 หมื่นบาทต่อเดือน จนมีการขยายไปใน จ.อุบลราชธานี และ บุรีรัมย์ อย่างไรก็ตาม จากการติดตามมา 2 ปี ยังไม่พบภัยกับสุขภาพ หรือโรคลักษณะเรื้อรัง แต่ส่วนใหญ่จะมีปัญหาได้รับบาดเจ็บจากการถูกบาด และจะพบปัญหาจากการได้ยิน เพราะระหว่างการรื้อจะเกิดเสียงดัง แต่ต้องมีการติดตามเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพ คือ 1. ดูว่ามีใครป่วยหรือไม่ 2. หากยังไม่ป่วย ต้องมีระบบเฝ้าระวัง โดยเฉพาะบ้านที่ทำและบ้านที่มีเด็กเล็ก และ 3. สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยใช้ พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เพื่อให้ท้องถิ่นออกข้อบังคับเรื่องกิจการที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากมีบางชิ้นส่วนที่ไม่สามารถขายได้ ก็จะกลายเป็นขยะตกค้าง มีการเผาทำลายขยะและการกลบฝัง ซึ่งบางส่วนยังกลบไม่ถูกวิธี เนื่องจากต้องทำเป็นหลุมที่ได้มาตรฐาน มีแผ่นพลาสติกรอง เพื่อไม่ใช้สารอันตรายรั่วไหลเมื่อฝนตกหรือซึมลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน จนปนเปื้อนไปในธรรมชาติ

“ชาวบ้านมีการทำเป็นอาชีพมากว่า 10 ปี หากแก้ไม่ได้ก็ต้องมีการให้ความรู้ถึงความปลอดภัยของตัวเอง คนในครอบครัว และชุมชน หรือหากเปลี่ยนอาชีพได้ก็ให้เปลี่ยน เบื้องต้นผลกระทบจากขยะนั้น เนื่องจากมีสารหลายชนิดทั้ง โลหะหนัก ตะกั่ว แคดเมียม หากได้รับในปริมาณมากก็จะมีผลเฉียบพลัน เช่น ตะกั่ว ในเด็กจะเกิดการชัก หากรับปริมาณน้อยจะเป็นลักษณะเรื้อรัง โดยเข้าไปทำลายระบบประสาท เกิดการซีด แต่จากการลงพื้นที่มา 2 ปี ก็ยังไม่พบ” นพ.สุวรรณชัย กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น