ดีเดย์ 1 ต.ค. รพ. 30 แห่งสังกัดกรมการแพทย์ เลิกใช้ถุงพลาสติกใส่ยาใช้ “ถุงผ้า” แทน ลดใช้ถุงพลาสติกได้ 9 ล้านกว่าใบ ประหยัดงบ 2.5 ล้านบาทต่อปี ห่วงปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ทำประชาชนป่วยจากพิษโลหะหนัก บางหมู่บ้านแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ขาย รู้ว่าไม่ปลอดภัย แต่ต้องทำเพื่อปากท้อง
วันนี้ (4 มิ.ย.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก วันที่ 5 มิ.ย. 2561 ว่า วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิ.ย. 2561 มีคำขวัญว่า “รักษ์โลก เลิกพลาสติก” กรมฯ อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหา ซึ่งจากข้อมูลปี 2560 พบว่า โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ 30 แห่ง มีการใช้ถุงพลาสติกใส่ยาให้ผู้ป่วย 9,010,164 ใบ คิดเป็นเงิน 2.5 ล้านบาท ดังนั้น กรมฯ จึงดำเนินโครงการใช้ถุงผ้าใส่ยาให้กับผู้ป่วยแทนการใช้ถุงพลาสติกแล้วในสถานพยาบาล 18 แห่ง เพื่อช่วยลดโลกร้อนและประหยัดงบประมาณ โดยอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 12 แห่ง ซึ่งกำหนดว่าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 เป็นต้นไป รพ. ทั้ง 30 แห่งในสังกัดกรมการแพทย์จะเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าใส่ยาแทนถุงพลาสติกทั้งหมด ซึ่งการดำเนินการใช้ถุงผ้า มีทั้งที่ รพ. จัดหามาให้ผู้ป่วยฟรีในครั้งแรก แต่มีการกำชับให้นำมาในครั้งต่อไป หากไม่นำมาจะถูกเก็บเงินเพิ่ม และมีทั้งให้ผู้เข้ารับบำบัดยาเสพติดของสถาบันธัญญารักษ์เป็นคนเย็บถุง ซึ่งจากการสำรวจประเมินความเห็นประชาชนพบว่าเข้าใจและเห็นด้วยกับมาตรการนี้ และสนับสนุนให้ดำเนินการต่อ
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาสิ่งแวดล้อม ขณะนี้จะเห็นว่ามีข่าวการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ มาทิ้งในประเทศไทย ซึ่งต้องเรียนว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์หากกำจัดไม่ดี จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพิษจากตะกั่วจะทำให้เด็กโลหิตจาง กระทบกับพัฒนา การเรียนมีปัญหา สมาธิสั้น ในผู้ใหญ่ก็จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง และโรคผิวหนัง นอกจากนี้ อาจจะได้รับผลกระทบจากสารปรอท ซึ่งจะถูกดูดซึมเข้าร่างกาย ทำให้ตับวาย ไตวาย กระทบเส้นประสาท นอกจากนี้ ปัจจุบันยังพบปัญหาโรคภูมิแพ้ผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสสารพิษเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นเพราะป่วยเพิ่มจริงๆ หรือเพราะเข้าถึงการตรวจรักษามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่ตนเคยเป็นผู้ตรวจราชการเขต 9 เคยพบปัญหาประชาชนใน จ.บุรีรัมย์ มีปัญหาสุขภาพ เพราะมีการเอาคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์มาทิ้งรวมกันห่างจากประปาหมู่บ้านเพียง 20 เมตร
“ที่ผ่านมา ได้มีการหารือกันของหน่วยงานด้านสุขภาพเพื่อเฝ้าระวังผลกระทบจากขยะอิเล็กทรอนิกส์กับสุขภาพ เพื่อหาข้อมูลว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมากน้อยอย่างไรบ้าง แต่ยังไม่ได้สรุป อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การห้ามประชาชนเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะการเก็บของเก่าขาย ซึ่งประชาชนรู้ว่ามีอันตราย แต่ก็ทำ เพราะรายได้ดีกว่ามาก ซึ่งเขาบอกว่าป้องกันแล้วสวมถุงมือ สวมหน้ากากแล้ว คือเรื่องเศรษฐกิจ คือ ลมหายใจของเขา ก็ห้ามยาก จึงต้องเฝ้าระวัง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว