xs
xsm
sm
md
lg

ช้อปเปลี่ยนโลก!! ยกระดับขับเคลื่อนวิถีเกษตรอินทรีย์สู่ผู้บริโภค เปิดตัว“สมาพันธ์ผู้บริโภคอินทรีย์” ชวนใช้แอพ “Thai Organic Platform”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สวนสามพราน และเลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ในฐานะประธานจัดงานสังคมสุขใจ กล่าวถึงแนวคิดการจัดงานประจำปีของการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ว่า ต้องการให้เครือข่ายสังคมอินทรีย์ได้แสดงออกถึงพลังความร่วมมือ ร่วมผลักดัน และสร้างการมีส่วนร่วมของห่วงโซ่อินทรีย์ทั้งระบบ คือ จากต้นน้ำ กลางน้ำสู่ปลายน้ำ
การขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ “งานสังคมสุขใจ” ในปีนี้เตรียมจัดเป็นครั้งที่ 6 วันที่ 13-15 ธันวาคมนี้ ณ สวนสามพราน จ.นครปฐม ภายใต้คอนเซ็ปต์ ขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์..สู่ชีวิตที่สมดุล “ช้อปเปลี่ยนโลก” โดย มูลนิธิสังคมสุขใจ ร่วมกับ ททท. สสส. กรมการค้าภายใน เซ็นทรัล กรุ๊ป และอีกหลายพันธมิตรซึ่งเข้าร่วมกันมากกว่าทุกปี


"ในปีนี้เราเน้นการเปิดพื้นที่ เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนมากขึ้น โดยการประกาศแนวทางยกระดับการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายโดยการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยการเปิดตัว “สมาพันธ์ผู้บริโภคอินทรีย์” พร้อมแอพพลิเคชัน Thai Organic Platform ทั้งบนโมบายและบนเว็บไซต์ ให้เป็นช่องทางเชื่อมต่อของผู้ประกอบการและผู้บริโภค และทำให้สังคมวงกว้างสู่สังคมวงกว้างเกิดความมั่นใจในความปลอดภัยจากการเลือกบริโภคอาหารอินทรีย์"
สำหรับ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม Thai Organic Platform เราได้ทุนจากเอ็นไอเอ (สนช.) ด้วยจุดประสงค์ให้การขับเคลื่อนข้อมูลทุกอย่างอยู่บนแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งจะเกิดผลดีต่อการขยายผลอย่างมีประสิทธิภาพ คงไม่เหมือนแพลตฟอร์มโดยทั่วไป เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มการขับเคลื่อนที่มีการเชื่อมโยงต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ล้อไปกับการขับเคลื่อนอย่างที่สามพรานโมเดลทำกันอยู่แล้ว คือ เกษตรกรอินทรีย์ต้องมีการจดบันทึก เช่นการบันทึกกิจกรรมแปลง ปัจจัยการผลิต ผลิตมาแล้วขายให้ใคร เป็นต้น ดังนั้น พอมีแพลตฟอร์มก็จะทำให้การเก็บข้อมูลต่างๆ ง่าย และสะดวกต่อการนำไปใช้วางแผนและต่อยอด
ตอนแรกนี้เรากำลังให้เกษตรกรในสามพรานโมเดลทดลองใช้ก่อน พอถึงวันเปิดตัวจะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เกษตรกรอินทรีย์กลุ่มอื่นๆ เพราะเป็นแพลตฟอร์มกลาง เราพัฒนาให้ทุกกลุ่มใช้ และร่วมเป็นเจ้าของ คาดว่าในระยะเริ่มต้นถ้าได้ความร่วมมือสักครึ่งหนึ่งจากทุกกลุ่มก็ถือว่าประสบผลสำเร็จ และในปีหน้า เกษตรกรที่เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้ได้ จะต้องมีระบบการทำงานขั้นต่ำพีจีเอส คือมีระบบรับรองการมีส่วนร่วม
ส่วนขั้นที่สอง แพลตฟอร์มนี้จะพัฒนาให้ผู้ประกอบการนำไปใช้งาน อย่างเช่นตอนนี้ผู้ประกอบการที่ซื้อของโดยตรงจากเกษตรกรสามพราน เช่น โรงแรมสุโกศล สีฟ้า เอสแอนด์พี ไบเทค ชื่อของผู้ประกอบการเหล่านี้ก็จะอยู่บนแพลตฟอร์ม พร้อมเปิดเผยข้อมูลปริมาณการซื้อขายให้ประชาชนเห็น เพราะเป้าหมายของแพลตฟอร์มนี้ คือ ความโปร่งใส เพื่อทำให้ทุกคนเกิดความเชื่อมั่น เราจึงต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุด อย่างข้อมูลที่ผู้ประกอบการซื้อกับข้อมูลเกษตรกรขายต้องตรงกัน และทุกคนก็เห็นอีกว่า เกษตรกรอินทรีย์มีอยู่ที่ไหนบ้าง
และขั้นที่สาม เป็นแพลตฟอร์มให้กับผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคเป็นสมาชิกแพลตฟอร์ม จะดูข้อมูลแล้วรู้ได้ทันที เช่น ในรัศมี 100 กิโลเมตร ว่ามีเกษตรกรอินทรีย์อยู่ที่ไหนบ้าง มีร้านอาหาร โรงแรมใดบ้างที่ใช้อาหารเกษตรอินทรีย์ แล้วเป็นอาหารอินทรีย์จากที่ใดก็ทราบเลย

แอพพลิเคชัน Thai Organic Platform ต่อไปจะเป็นช่องทางเชื่อมต่อให้ผู้บริโภคมองเห็น จุดขายผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่ปลอดภัยใกล้บ้าน
อรุษ ย้ำถึงปัญหาของผู้บริโภคอาหารอินทรีย์ คือไม่รู้จะหาซื้อที่ไหน สิ่งเหล่านี้จะพบบนแพลตฟอร์ม บางคนบอกว่าอินทรีย์ราคาแพง แต่คงไม่ทราบว่าที่แพง เพราะไม่ได้ซื้อตรงกับเกษตรกร รวมถึงอาหารอินทรีย์จะเชื่อถือได้แค่ไหนว่าอินทรีย์จริง สิ่งเหล่านี้บนแพลตฟอร์มจะมีโปรแกรมเทรนนิ่งให้กับผู้บริโภคด้วย ผู้บริโภคที่เข้ามาสามารถเรียนรู้  เขามองเห็นจากปฏิทิน อย่างที่สามพรานโมเดล เราเปิดให้ผู้บริโภคเข้ามาร่วมได้ มันจะเห็นรูปแบบของระบบการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมกลุ่มทุกเดือน การตรวจแปลง เยี่ยมแปลง หรือผู้ประกอบการต้องการให้ผู้บริโภคมาเยี่ยมแปลง หรือเพื่อโฆษณาโฮมสเตย์ หรือจะมีกิจกรรมที่มาจากผู้บริหารแพลตฟอร์ม ซึ่งเราจะมีผู้บริหารแพลตฟอร์ม เช่น เทรนนิ่งให้ผู้บริโภคเป็นผู้ตรวจ ซึ่งจะมีทุก 3 เดือน เป็นกิจกรรม Official Activity ของแพลตฟอร์ม หรือจะอบรมเรื่องสารเคมีเกษตร มีกิจกรรมกลุ่มเชียงดาวที่รักษาป่าต้นน้ำ ซึ่งมีความพยายามสนับสนุนให้เลิกปลูกข้าวโพด ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนได้ และมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง หรือทำอะไรดีๆ แก่สังคม
นอกจากนี้ แพลตฟอร์มเพื่อผู้บริโภค เราอยากเห็นผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้ตรวจแปลงด้วย เพื่อยกระดับผู้บริโภคให้เป็น Active Consumer เพราะผู้บริโภคเป็นกลุ่มสำคัญในการสร้างแรงผลักดันของสังคมอินทรีย์ ก้าวไปสู่ระบบอาหารยั่งยืน เพราะถ้าผู้บริโภคยังไม่เข้าใจ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการก็คงยากที่จะเติบโต



พืชผัก ผลไม้ออร์แกนิก หรือเกษตรอินทรีย์ ที่มีความปลอดภัย ต่อไปผู้บริโภคจะมีความมั่นใจมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น