“จุรินทร์” ไฟเขียวกรอบวงเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรปี 63 กว่า 4.3 พันล้านบาท หวังใช้ดูแลพืชเกษตรเป้าหมาย 10 ชนิด ด้านกรมการค้าภายในชงคลังขออนุมัติใช้เงิน พร้อมทำแผนดูแลราคาช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เน้นการเชื่อมโยงตลาด ชะลอการจำหน่าย และผลักดันการส่งออก มั่นใจช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตได้คุ้มต้นทุน และราคาไม่ตกต่ำ
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้อนุมัติกรอบวงเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงินรวม 4,389.496 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นกรอบวงเงินในการจัดทำแผนการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชเกษตร 10 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ กุ้ง สุกร ไข่ไก่ เกลือ หอมหัวใหญ่ และกระเทียม
“กรมฯ ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลและบริหารการใช้เงินกองทุน คชก. ได้ทำเรื่องเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อขออนุมัติหลักการใช้เงินแล้ว หลังจากที่ คชก.ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ ซึ่งเมื่อกระทรวงการคลังอนุมัติก็จะทำให้กรมฯ สามารถใช้เงินเพื่อเข้าไปดูแลพืชเกษตรเป้าหมาย 10 ชนิดในช่วงที่มีปัญหาราคาตกต่ำได้” นายวิชัยกล่าว
สำหรับแนวทางการใช้เงินกองทุน คชก.เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จะเน้นการเชื่อมโยงตลาดในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เน้นการชะลอการจำหน่าย เพื่อไม่ให้ราคาตกต่ำ และจะเร่งรัดผลักดันการส่งออก เพื่อเร่งระบายผลผลิตออกสู่ตลาด ซึ่งพืชเกษตรแต่ละชนิดจะมีการลงลึกในรายละเอียดของมาตรการอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรขายผลผลิตได้คุ้มต้นทุน ป้องกันปัญหาราคาตกต่ำ และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
นายวิชัยกล่าวว่า สินค้าเกษตรที่ยังมีปัญหาด้านราคาในปัจจุบัน อย่างข้าวเปลือกเจ้าจะต้องมีมาตรการเสริมเพื่อผลักดันราคาให้สูงขึ้น โดยมาตรการที่จะนำมาใช้ เช่น การเก็บสต๊อก การให้สินเชื่อเพื่อชะลอการขาย ปาล์มน้ำมันจะเร่งติดตั้งมิเตอร์ที่แท็งก์เพื่อตรวจสอบปริมาณสต๊อกและเร่งผลักดันการส่งออก กุ้งมีแนวโน้มจะมีปัญหาด้านราคา โดยเฉพาะกุ้งก้ามกรามที่ผลผลิตมีมากแต่ความต้องการบริโภคลดลง ซึ่งกำลังจะจัดกิจกรรมกระตุ้นการบริโภคในประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีหมูที่มีแนวโน้มราคาลดลงจากการที่ผู้บริโภคไม่มีความมั่นใจในการบริโภคเนื้อหมู หลังจากเกิดโรคอหิวาต์ระบาดในจีนและเพื่อนบ้าน แม้ในประเทศจะไม่มีการระบาดแต่ก็มีความกังวลเกิดขึ้น ทำให้ชะลอการบริโภค โดยปัจจุบันหมูเป็นราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งจะต้องเข้าไปช่วยดูแล และมันสำปะหลังที่ราคาปัจจุบันยังทรงตัวในระดับสูง แต่ก็ต้องมีมาตรการเสริมรองรับไว้ก่อน
ส่วนสินค้าตัวอื่นๆ เช่น เกลือ ปัจจุบันยังไม่มีปัญหาเรื่องราคา แต่มีแนวโน้มว่าจะมีปัญหาในช่วงหน้าแล้ง ที่ผลผลิตเยอะ ไข่ไก่ หอมหัวใหญ่ กระเทียม และผลไม้ ยังไม่มีปัญหาด้านราคา แต่ก็ต้องมีการเตรียมมาตรการรองรับไว้ล่วงหน้า เพราะทุกรายการมีปฏิทินอยู่แล้วว่าผลผลิตจะออกมามากช่วงไหน