xs
xsm
sm
md
lg

โลกกรีนยังลุ้นผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ สานต่อสัญญา ‘ปารีส’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย มูลนิธินภามิตร ร่วมกับ หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ จุฬาฯ จัดงานเสวนาสาธารณะ TGWA ครั้งที่ 5 สหรัฐอเมริกาถอนตัวข้อตกลงปารีส ผลกระทบเวทีโลกร้อนและไทยควรมีจุดยืนอย่างไร? วิทยากร โดย ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาฯ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยกรีนพีชเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช ผู้อำนวยการสำนักประสานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อวันพุธที่ 16 สิงหาคม 2560 ณ ห้องประชุมชั้น 7 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา
หลังจากที่ “ทรัมป์” ถอนตัวข้อตกลงปารีส หากจะมีผลในอีก 4 ปี และคาบเกี่ยวกับการหมดวาระผู้นำสหรัฐฯ จึงมีลุ้นในการเปลี่ยนแปลง เผยภาพรวมการลดก๊าซทั่วโลกยังไม่กระทบ
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช ผู้อำนวยการสำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผยในเวทีเสวนา “สหรัฐอเมริกาถอนตัวข้อตกลงปารีส ผลกระทบเวทีโลกร้อนและไทยควรมีจุดยืนอย่างไร” เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2560 ตอนหนึ่งว่า การประกาศถอนตัวจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ของโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะยังไม่มีผลอย่างเป็นทางการ จนกว่าจะถึงเดือน พ.ย.2563 ขณะที่วาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายทรัมป์จะสิ้นสุดลงก่อน จึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ เนื่องจากการขอถอนตัวออกจากความตกลงปารีสตามข้อ 28 นั้น ได้กำหนดไว้ว่าหลังจากลงนามไปแล้ว 3 ปี ประเทศสมาชิกจึงจะสามารถยื่นเอกสารขอถอนตัวอย่างเป็นทางการได้ และภายหลังการยื่นแล้วก็ยังจะต้องรออีก 1 ปี เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณา จึงจะออกจากข้อตกลงอย่างสมบูรณ์ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนคนใหม่ก็อาจมีความคาดหวังที่อเมริกาจะเปลี่ยนแปลงทิศทางกลับมาร่วมกับประชาคมโลกได้ด้วยเช่นกัน
ดร.พิรุณ กล่าวว่า แม้ขณะนี้จะถือว่าอเมริกายังไม่ได้ออกจากความตกลง และยังคงต้องส่งเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น (NDC) เช่นเดิม แต่เมื่อตั้งใจออกแล้วก็อาจตัดความช่วยเหลือด้านงบประมาณให้กับองค์กรต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีอิทธิพล และในมุมมองของนักวิชาการได้มีการมองว่าอาจมีผล เช่น ความมุ่งมั่นของประเทศจีนจากเดิมที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากก็อาจทำช้าลง ขณะที่งานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับพลังงานสะอาดในประเทศอินเดียก็อาจหยุดลง เพราะโดยส่วนใหญ่มีอเมริกาเป็นผู้สนับสนุน
อย่างไรก็ตาม สถานภาพล่าสุดของความตกลงปารีส ปัจจุบันมีทั้งหมด 159 ประเทศเข้าร่วม รวมจำนวนการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 86% ของทั้งโลก หากอเมริกาถอนตัวก็จะเหลือ 63% ซึ่งก็ยังอยู่ในข้อกำหนดของความตกลงปารีสที่จะต้องรวบรวมการปล่อยให้ได้เกิน 55% จึงไม่มีผลต่อความตกลง
ดร.พิรุณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เขตการปกครองในอเมริกาที่มีอิสระในการตั้งเป้าหมายของตัวเอง ก็ได้ทำให้มี 13 รัฐ และอีก 1 ดินแดนยังคงมุ่งมันที่จะดำเนินการต่อ ซึ่งรวมแล้วมีบทบาทในการปล่อยก๊าซกว่า 20% ของประเทศ ขณะที่ภาพรวมทั่วโลก ทั้งในการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (UNFCCC) หรือการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G7) ที่ผ่านมา ล้วนมีทิศทางเดินหน้าอย่างเต็มที่ และจะยังไม่มีการเจรจาใหม่อย่างแน่นอน
สำหรับประเทศไทย สผ.ในฐานะหน่วยประสานงานกลาง มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อน 4 ด้าน คือ
1.จัดทำกรอบท่าทีการเจรจาของประเทศ โดยรวบรวมความเห็นจากทุกภาคส่วน ให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ประเทศ
2.จัดทำนโยบายและแผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มองระยะยาวจนถึงปี 2593
3.จัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ว่าแต่ละปีมีการปล่อยจำนวนเท่าไร ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการส่งข้อมูลกิจกรรมเข้าระบบ
4.การเข้าถึงกลไกการสนับสนุนจากต่างประเทศ
“ในส่วนของประเทศไทยจะยังคงดำเนินการตามเป้าหมาย โดยไทยเป็นประเทศที่มีความอ่อนไหวและถูกจัดให้อยู่ 1 ใน 10 ของประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุด ซึ่งภาพรวมการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จะเกิดจากทุกคนร่วมกัน หากมองเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหรือประเทศใดอย่างเดียว ปัญหาคงไม่สามารถแก้ได้” ดร.พิรุณ กล่าว
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช
ธารา บัวคำศรี
ขณะที่ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า จากรายงานการศึกษาของ Oil Change International ได้ระบุว่าการที่จะควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส พลังงานฟอสซิลที่มีจะไม่สามารถขุดขึ้นมาเพิ่มได้อีก เพราะพรมแดนของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นสิ้นสุดลงแล้ว ความหวังเดียวขณะนี้จึงเป็นการลดและจัดการกับการใช้พลังงานฟอสซิลที่มีอยู่เดิมให้หมดไป
จากการคำนวณแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เราใช้งานอยู่ในปัจจุบัน พบว่าก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นปริมาณ 942 กิกะตัน ซึ่งหากต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส จะต้องลดการปล่อยให้เหลือ 800 กิกะตัน แต่หากจะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ก็จะต้องลดการปล่อยลงเหลือ 353 กิกะตัน
“เราต้องเก็บเชื้อเพลิงฟอสซิลทิ้งไว้ใต้ดินทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องหยุดการใช้ในปัจจุบันทันทีทันใด เรายังมีเวลาหยุดและควบคุมไม่ให้เพิ่มไปมากกว่านี้ สิ่งสำคัญคือต้องหยุดการพิจารณา หยุดนโยบายการขยายการขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียม หรือเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ยังไม่ได้มีการสำรวจ ซึ่งกรีนพีซก็กำลังมีการดำเนินงานเพื่อป้องกันขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล่านี้ในระดับโลกด้วยเช่นกัน” ธารา กล่าวในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น