อบก.เผยธนาคารโลกสนับสนุนเงิน 3 ล้านเหรียญสหรัฐให้ประเทศไทยดำเนินกิจกรรมเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งโรงงานควบคุม อาคารควบคุม และเทศบาล ที่เข้าร่วมโครงการนำร่อง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่จากผลการเจรจาระดับนานาชาติ ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 (COP 21) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปีพ.ศ. 2558 สามารถบรรลุข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) การปรับตัวต่อผลกระทบ และการรับมือกับความสูญเสียและความเสียหาย
ความตกลงดังกล่าวเป็นความร่วมมือระยะยาวของประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส และนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ยื่นสัตยาบันสารเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 โดยมีเป้าหมายการมีส่วน ร่วม (Intended Nationally Determined Contribution: INDCs) ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 จากระดับการปล่อยกรณีปกติ ในปีพ.ศ. 2573 โดยมีมาตรการในการลดก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน ยกเว้นด้านการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและป่าไม้ซึ่งจะพิจารณาในภายหลัง
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.ในฐานะหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อม ในการพัฒนากลไกและเครื่องมือต่างๆ เพื่อมาสนับสนุนการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศ จึงได้เข้าร่วมโครงการเตรียมความ พร้อมด้านกลไกตลาดเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก (Partnership for Market Readiness: PMR) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยธนาคารโลกตั้งแต่ปีพ.ศ.2554 เนื่องจากเล็งเห็นว่ากลไกตลาด หรือ Market mechanism จะเป็นกลไกที่สำคัญในการสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้จัดทำข้อเสนอโครงการและได้รับเงินสนับสนุนผ่านธนาคารโลกจำนวน 3 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อนำมาใช้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในช่วงปีพ.ศ.2560-2562
การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ดังนี้คือ 1) การเตรียมความพร้อม
สำหรับการดำเนินการกลไกส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจก (Energy Performance Certificate scheme: EPC) ซึ่งจะเน้นในการจัดการข้อมูลด้านพลังงานและระบบการตรวจวัด การรายงาน และการทวนสอบ (Measurement, Reporting and Verification: MRV) รวมทั้ง กรอบโครงสร้างด้านกฎหมายสำหรับกลไก EPC โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม 11 ประเภท
2) การเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินกลไกส่งเสริมการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City program: LCC) โดยศึกษาศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก การจัดทำแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของเทศบาล การศึกษาการกำหนดราคาของคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจาก LCC program และมาตรการจูงใจสำหรับผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตจาก LCC program โดยจะดำเนินการในเทศบาลที่เข้าร่วม 24 แห่ง และ3) การศึกษาและการเสนอกรอบโครงสร้างทางด้านกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินการในรูปแบบระบบการซื้อขายก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS)
นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวว่า อบก.ได้ดำเนินการคัดเลือกที่ปรึกษามาดำเนินการศึกษาองค์ประกอบต่างๆ ภายใต้กลไกส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจก หรือ EPC และการจัดทำข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง รวมถึงการจัดทำแผนการลดก๊าซเรือนกระจกให้แก่เทศบาลที่เข้าร่วมกลไกส่งเสริมการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ หรือ LCC เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานที่ได้วางไว้
โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โรงงานควบคุม อาคารควบคุม และเทศบาลที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีสถานประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการนำร่องจำนวน 38 แห่งประกอบด้วย โรงงานควบคุมประเภทอาหารทะเลแช่เยือกแข็งและสุขภัณฑ์เซรามิกจำนวน 14 แห่ง อาคารควบคุมประเภทโรงพยาบาลและห้างสรรพสินค้าจำนวน 24 แห่ง และเทศบาลจำนวน 24 เทศบาล
เมื่อเร็วๆ นี้ โรงงานอุตสาหกรรม อาคารธุรกิจ และเทศบาลที่เข้าร่วมโครงการนำร่องได้เข้าร่วมลงนามความร่วมมือ ภายใต้“โครงการเตรียมความพร้อมด้านกลไกตลาดเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก หรือ Thailand Partnership for Market Readiness” ระหว่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. ผู้เข้าร่วมโครงการและที่ปรึกษาโครงการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ไบร์ท แมเนจเม้นท์ คอนซัลติ้ง จำกัด โดยมีนางสาววราภรณ์ หิรัญวัฒน์ศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมอาวุโส ธนาคารโลก นางสาวพิสมัย เสถียรยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และนายดุษฎี สุวัฒวิตยากร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มาร่วมเป็นสักขีพยาน
ทั้งนี้ คาดว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากผลจากการศึกษาและการดำเนินกิจกรรมต่างๆภายใต้โครงการตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้คือ จะช่วยประเทศไทยในการเตรียมความพร้อมกับการนำกลไกตลาดมาใช้ในการสนับสนุนการลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับกับแผนอนุรักษ์พลังงาน แผนปฏิบัติการ 20 ปีของประเทศ และการเตรียมความพร้อมของเทศบาลเพื่อมุ่งไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน รวมทั้งสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในเชิงนโยบายของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกต่อไป