สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย ชาวบ้านเคยชม ถ่ายไลฟ์สด พบ 51.91% เคยดูสิ่งไม่เหมาะสม 65.02% ชี้มีเวลาส่วนตัวน้อยลง 70.04% ห่วงพวกทำไม่ดีเกิดการเลียนแบบ 73.96% ค้านทีวีเอามาฉาย 71.83% เชื่อทำสังคมรุนแรงขึ้น 66.04% จี้ฟันคนเผยแพร่
วันนี้ (10 มิ.ย.) ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ต่อการถ่ายทอดสดกิจกรรม/พฤติกรรมต่างๆ ของตนเองผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์” สำรวจระหว่างวันที่ 4 - 9 มิถุนายน จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,175 คน
ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์จัดเป็นเทคโนโลยีทางการสื่อสารที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้มีการพัฒนาคุณภาพการบริการ รวมถึงนำเสนอบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกกับผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้บริการระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ยังคงมีแนวโน้มเติบโต และมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ บริการหนึ่งบนระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีการพัฒนาและนำเสนอให้กับผู้ใช้งานซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์นิยมใช้มากขึ้น คือ ระบบการถ่ายทอดสด (live) ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์สามารถเผยแพร่การทำกิจกรรมหรือการแสดงต่างๆ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันหรือพฤติกรรมต่างๆ ให้ผู้อื่นได้รับชมแบบสดๆ
แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้ใช้งานระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์บางส่วนได้นำเอาระบบการถ่ายทอดสดบนเครือข่ายสังคมออนไลน์มาเผยแพร่พฤติกรรม การแสดง หรือการทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เช่น การแสดงลามกอนาจาร การทารุณกรรมสัตว์เลี้ยง การพูดจาก้าวร้าวรุนแรง และการทำร้ายตนเอง/ผู้อื่น เป็นต้น
โดยมีข่าวปรากฏอยู่เป็นระยะ ซึ่งทำให้ผู้คนในสังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางถึงความเหมาะสมในการเผยแพร่ และแสดงความห่วงใยถึงการมีพฤติกรรมเลียนแบบ และแนวโน้มความรุนแรงในสังคมที่อาจเกิดขึ้นได้ จากประเด็นดังกล่าวสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการถ่ายทอดสดกิจกรรม/พฤติกรรมต่างๆ ของตนเองผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์
ทั้งนี้ ศ.ดร.ศรีศักดิ์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.47 เพศชายร้อยละ 49.53 อายุ 15 ปีขึ้นไป สรุปผลได้ ดังนี้
ในด้านพฤติกรรมการถ่ายทอดสดการทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.66 ระบุว่า ตนเองเคยถ่ายทอดสดการทำกิจกรรมต่างๆ/พฤติกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวันของตนเอง เช่น การเดินทางไปสถานที่ต่างๆ การรับประทานอาหาร การร้องเพลง การทำงาน เป็นต้นผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.79 ระบุว่า ตนเองเคยเข้าไปชมการถ่ายทอดสดการทำกิจกรรมต่างๆ/พฤติกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางไปสถานที่ต่างๆ การรับประทานอาหาร การร้องเพลง การทำงาน เป็นต้น ของผู้อื่นผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์
อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.91 ยอมรับว่า ตนเองเคยเข้าไปดูการถ่ายทอดสดการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การแสดงลามกอนาจาร การทารุณกรรมสัตว์เลี้ยง การพูดจาก้าวร้าวรุนแรง การทำร้ายตนเอง/ผู้อื่น เป็นต้น ผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์
ในด้านความคิดเห็นต่อการใช้งานระบบการถ่ายทอดสดผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.45 มีความคิดเห็นว่าระบบการถ่ายทอดสดผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ มีส่วนทำให้ผู้คนใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ในแต่ละวันเพิ่มมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสาม หรือคิดเป็นร้อยละ 65.02 มีความคิดเห็นว่าการถ่ายทอดสดการทำกิจกรรมต่างๆ/พฤติกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวันผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ส่งผลให้ผู้คนมีเวลาส่วนตัวในแต่ละวันน้อยลงได้
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 62.21 มีความคิดเห็นว่าการถ่ายทอดสดการทำกิจกรรมต่างๆ/พฤติกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวันผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ มีส่วนทำให้ผู้คนมีสมาธิในการเรียน/การทำงานน้อยลง
ในด้านความคิดเห็นต่อการถ่ายทอดสดการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้น กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสาม หรือคิดเป็นร้อยละ 66.72 มีความคิดเห็นว่าการถ่ายทอดสดการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ส่งผลให้ผู้คนในสังคมเกิดความเครียดมากขึ้นได้
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.04 มีความคิดเห็นว่าการถ่ายทอดสดการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ส่งผลทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่ หรือคิดเป็นร้อยละ 73.96 ไม่เห็นด้วยกับการที่มีสื่อโทรทัศน์นำภาพจากการถ่ายทอดสดการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์มาเผยแพร่
ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.83 มีความคิดเห็นว่าการที่สื่อโทรทัศน์นำภาพจากการถ่ายทอดสดการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์มาเผยแพร่มีส่วนเพิ่มความรุนแรงในสังคมได้
และกลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.04 เห็นด้วยที่จะมีการลงโทษอย่างรุนแรงกับผู้ที่นำภาพจากการถ่ายทอดสดการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์มาเผยแพร่/ส่งต่อ/แบ่งปัน