xs
xsm
sm
md
lg

ลัทธิบูชาคาร์บอน ‘น้ำมัน-ก๊าซ-ถ่านหินอเมริกัน’ ของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ไมเคิล ที แคลร์

America’s Carbon-Pusher in Chief, Trump’s Fossil-Fueled Foreign Policy
By Michael T. Klare
30/07/2017

ใครๆ ก็บอกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้มีนโยบายการต่างประเทศที่สอดคล้องต่อเนื่องกัน แท้จริงแล้วเขามี นั่นคือ ประธานาธิบดีอเมริกันผู้นี้จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อยืดอายุช่วงการแห่งครองอำนาจของเชื้อเพลิงฟอสซิลให้ยาวนานออกไป ด้วยการมุ่งมั่นที่จะบ่อนทำลายความพยายามในการตัดลดการปล่อยไอเสียคาร์บอน และด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้ทั่วโลกบริโภคน้ำมัน, ถ่านหิน, และก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ

ใครบอกล่ะว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้มีนโยบายการต่างประเทศที่สอดคล้องต่อเนื่องกัน? ทั้งบัณฑิตผู้รู้และพวกนักวิพากษ์วิจารณ์ตลอดทั่วทั้งแวดวงการเมืองต่างพากันเหน็บแนมเยาะหยันเขาว่า บกพร่องล้มเหลวไม่สามารถที่จะขบคิดจัดทำระเบียบวาระระหว่างประเทศที่ชัดเจนและนำเอามาปฏิบัติให้เป็นจริงขึ้นมาได้[1] ทว่าเมื่อมองกันอย่างใกล้ชิดถึงความอุตสาหะพยายามในเวลาไปเยือนต่างแดนของเขาแล้ว เราก็จะพบว่าที่จริงแล้วมันมีแบบแผนซึ่งคงเส้นคงวาปรากฏให้เห็นอยู่ นั่นก็คือ โดนัลด์ ทรัมป์ จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อยืดอายุช่วงการแห่งครองอำนาจของเชื้อเพลิงฟอสซิลให้ยาวนานออกไป ด้วยการมุ่งมั่นที่จะบ่อนทำลายความพยายามในการตัดลดการปล่อยไอเสียคาร์บอน และด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้ทั่วโลกบริโภคน้ำมัน, ถ่านหิน, และก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ ดูเหมือนกับว่าเมื่อใดก็ตามทีที่เขาพบปะกับพวกผู้นำต่างประเทศ แรงกระตุ้นอย่างแรกสุดของเขาก็คือการเสนอโน้มน้าวให้พวกเขาใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอเมริกัน

การที่เขาตัดสินใจถอนตัวออกจากข้อตกลงภูมิอากาศกรุงปารีส (Paris Climate Agreement) ซึ่งผูกพันสหรัฐฯให้ต้องลดการบริโภคถ่านหินและใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อตัดทอนการปล่อยไอเสียคาร์บอนของตนด้วยนั้น เป็นเรื่องที่ได้รับการรายงานเสนอข่าวอย่างกว้างขวางจากพวกสื่อมวลชนข่าวกระแสหลักของอเมริกาอยู่แล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง การที่ประธานาธิบดีผู้นี้ใช้ความพยายามเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้มีการบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มมากขึ้นในต่างประเทศ –ซึ่งเมื่อพิจารณากันในแง่ของอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อโลกใบนี้แล้ว มันก็เป็นเรื่องสำคัญเฉกเช่นเดียวกับการหนุนส่งให้บริโภคมากขึ้นในสหรัฐฯนั่นแหละ— ย่อมเห็นได้ชัดทีเดียวว่ายังคงแทบไม่ได้รับความใส่ใจอะไรนัก

นอกจากนี้ขอให้ตระหนักกันด้วยว่า ในเวลาที่ทรัมป์เดินหน้าเพื่อบ่อนทำลายความพยายามของนานาชาติในการตัดลดการปล่อยไอเสียคาร์บอนนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันย่อมจะชะลอความก้าวหน้าในเรื่องนี้ ทว่ายังคงยากลำบากนักที่จะหยุดยั้งความพยายามเหล่านี้ไปเลย ดังที่จะเห็นได้ว่าในการประชุมซัมมิตของกลุ่ม จี-20 เมื่อเร็วๆ นี้ที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ผู้นำถึง 19 ชาติจาก 20 ชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกเหล่านี้ ได้ย้ำยืนยันคำมั่นข้อผูกพันของพวกเขาที่มีต่อข้อตกลงปารีส รวมทั้งสัญญาที่จะ “ลดทอนการปล่อยไอเสียก๊าซเรือนกระจก โดยใช้วิธีการที่นอกเหนือจากความริเริ่มอื่นๆ แล้ว ก็จะดำเนินการเพิ่มพูนนวัตกรรมในเรื่องพลังงานที่ยั่งยืนและสะอาดด้วย”[2] นี่หมายความว่าไม่ว่าทรัมป์จะทำอย่างไรก็ตาม นวัตกรรมอย่างต่อเนื่องในปริมณฑลด้านพลังงานก็ยังจะช่วยลดทอนไอเสียก๊าซเรือนกระจกของทั่วโลกให้ลดน้อยลงอยู่นั่นเอง และดังนั้นจึงหน่วงรั้งให้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศบังเกิดขึ้นมาล่าช้าลงไป โชคร้ายเหลือเกิน แรงขับดันอย่างสะเพร่าไร้การยั้งคิดของทรัมป์ที่มุ่งสนับสนุนการบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิ ลในต่างประเทศนั้น ยังอาจทำให้มั่นใจได้ว่าไอเสียคาร์บอนจะเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ อยู่ดี ซึ่งเป็นการตัดรอนความก้าวหน้าใดๆ ที่อาจกระทำได้ในที่อื่นๆ และทำให้มนุษยชาติเดินหน้าไปสู่อนาคตอันเลวร้ายที่ภูมิอากาศถูกทำลายเสียหายอยู่นั่นเอง

สองข้างของบัญชีนี้ –นั่นคือข้างความก้าวหน้าด้านพลังงานสีเขียว VS ข้างแรงขับดันของทรัมป์ที่จะเพิ่มพูนการส่งออกคาร์บอน— จะสามารถเกิดความสมดุลขึ้นมาในระยะหลายๆ ปีต่อจากนี้ไปได้อย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่ยังมองไม่เห็นกันในเวลานี้ อย่างไรก็ตาม ทุกๆ คราวที่ไอเสียคาร์บอนเกิดเพิ่มพรวดขึ้นมา ย่อมผลักไสให้เรายิ่งขยับเข้าใกล้ช่วงเวลาที่อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มสูงเกินขีด 2 องศาเซลเซียสจากระดับเมื่อก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมในโลก ซึ่งเป็นขีดที่พวกนักวิทยาศาสตร์มองว่าเป็นจุดสูงสุดที่พิภพดวงนี้สามารถดูดซับเอาไว้ได้โดยไม่ก่อให้เกิดผลต่อเนื่องที่เป็นความวิบัติหายนะอันสร้างความเจ็บปวดยากลำบากขึ้นมา[3] ผลพวงต่อเนื่องเหล่านี้มีดังเช่น การที่ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสามารถที่จะไหลเข้าท่วมท้นทั้งนิวยอร์ก, ไมอามี, เซี่ยงไฮ้, ลอนดอน, และนครใหญ่ริมชายฝั่งแห่งอื่นๆ จำนวนมาก [4] รวมทั้งยังจะทำให้ผลผลิตอาหารของโลกลดต่ำลงอย่างฮวบฮาบ ซึ่งจะสร้างความเสียหายอย่างหนักหน่วงให้แก่ประชากรโลกทั่วทั้งหมด [5]

เผยแพร่ลัทธิยกย่องบูชาคาร์บอน

ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังติดตามผลักดันเพื่อเพิ่มการบริโภคคาร์บอนในทั่วโลก การติดตามผลักดันเช่นนี้ปรากฏออกมาอย่างเห็นชัดเจนในลักษณะของการรณรงค์ในแนวรบ 2 แนวรบ แนวรบหนึ่ง เขากำลังทำงานในทุกๆ วิถีทางเท่าที่สามารถจินตนาการได้เพื่อเพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลต่างๆ ภายในสหรัฐฯ พร้อมๆ กับที่อีกแนวรบหนึ่ง เขาก็เข้ามีปฏิสัมพันธ์ใน “การรุกโจมตีแบบสายฟ้าแลบทางการทูต” (diplomatic blitzkreig) [6] เพื่อเปิดประตูในประเทศต่างๆ ให้แก่การส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิลอเมริกัน

ภายในสหรัฐฯนั้น เขาได้ยกเลิกเพิกถอนมาตรการข้อจำกัดหลายอย่างหลายประการในเรื่องการสำรวจขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งประกาศใช้ในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา ไปเรียบร้อยแล้ว เป็นต้นว่า มาตรการเพื่อลดทอนการขุดเจาะเปิดพื้นที่บริเวณยอดเขา ซึ่งเป็นรูปแบบในการทำเหมืองถ่านหินที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมยิ่ง[7] และมาตรการสกัดกั้นการสำรวจขุดค้นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในแถบน่านน้ำของทวีปอาร์กติกที่อยู่นอกชายฝั่งรัฐอะแลสกา [8] เขายังออกคำสั่ง [9]ให้ผู้อำนวยการ (administrator) ของสำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency หรือ EPA) –ซึ่งอันที่จริง สกอตต์ พรูอิตต์ (Scott Pruitt) บุคคลที่ทรัมป์แต่งตั้งให้นั่งอยู่ในตำแหน่งนี้ ก็ถือเป็นศัตรูสุดฉาวโฉ่ของระเบียบกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งเป็นที่คัดค้านต่อต้านของอุตสาหกรรมพลังงานอยู่แล้ว [10] — ให้รื้อถอนทำลาย “แผนการไฟฟ้าสะอาด” (Clean Power Plan) ที่เป็นโครงการของโอบามา ซึ่งมุ่งที่จะลดทอนการใช้ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้าภายในสหรัฐฯลงมาอย่างฮวบฮาบ

แผนการริเริ่มของทรัมป์เหล่านี้ตลอดจนมาตรการอื่นในทำนองเดียวกัน ได้รับความสนอกสนใจจากสื่อและนำไปรายงานเสนอข่าวกันอย่างสมน้ำสมเนื้อเรียบร้อยแล้ว ทว่าเป็นเรื่องสำคัญพอๆ กันสำหรับเรา ที่ควรต้องโฟกัสไปยังมิติสำคัญอีกด้านหนึ่งในแผนการริเริ่มของทรัมป์ อันได้แก่การมุ่งเชียร์ให้มีการใช้คาร์บอนในระดับโลก ซึ่งเวลานี้ยังไม่ค่อยได้เป็นข่าวอะไรนัก ทั้งนี้ขณะที่พวกมหาอำนาจอุตสาหกรรมรายอื่นๆ ยังคงรักษาพันธะผูกพันภายใต้ข้อตกลงภูมิอากาศกรุงปารีส ในการเข้าช่วยเหลือพวกประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถติดตั้งใช้สอยบรรดาเทคโนโลยีพลังงานที่ปลอดคาร์บอนอยู่นั้น ทรัมป์กลับเรียกร้องให้ตนเองมีอิสระเสรีที่จะขายเชื้อเพลิงฟอสซิลอเมริกันไปยังทุกหนทุกแห่งตามแต่หัวจิตหัวใจของเขาปรารถนา ตัวอย่างเช่น ณ การประชุมซัมมิตกลุ่ม จี-20 เขาบังคับกดดันให้พวกผู้นำคนอื่นๆ ต้องยินยอมบรรจุข้อความประโยคหนึ่งเข้าไปในแถลงการณ์สุดท้ายของกลุ่ม จี-20 ด้วย ข้อความดังกล่าวบอกว่า “สหรัฐอเมริกาเน้นย้ำว่าตนเองจะใช้ความพยายามในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือให้พวกเขาเข้าถึงและใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดมากขึ้นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” [11] (ไม่ต้องสงสัยเลย วลีที่ว่า “สะอาดมากขึ้นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นั้น ไม่ได้เป็นของทรัมป์หรอก หากแต่เป็นพวกผู้นำอีก 19 ชาติเรียกร้องทรัมป์ต้องยินยอมโอนอ่อนให้บ้างพอประมาณ)

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะแพร่กระจายมนตราแห่งเชื้อเพลิงฟอสซิลให้กว้างไกลออกไปเรื่อยๆ ทรัมป์ก็ได้กลายเป็นผู้บัญชาการสูงสุดแห่งการผลักดันให้ใช้คาร์บอน (carbon-pusher in chief) ของสหรัฐอเมริกา เขานำตัวเขาเองเข้าเกี่ยวข้องพัวพันโดยตรงในการทูตทางด้านพลังงานเรียบร้อยแล้ว เวลาเดียวกันเขายังกำลังเรียกร้องพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ต้องทำให้เรื่องการส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิล อันได้แก่ น้ำมัน, ก๊าซ, และถ่านหิน กลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญลำดับแรกๆ เรื่องหนึ่งขึ้นมา เป็นต้นว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ระหว่างการกล่าวปราศรัยครั้งสำคัญที่กระทรวงพลังงาน เขาก็ได้ออกคำสั่งอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน ให้กระทรวงการคลังกำจัดยกเลิก “บรรดาเครื่องกีดขวางไม่ให้มีการปล่อยเงินกู้แก่โรงไฟฟ้าพลังถ่านหินประสิทธิภาพสูงในต่างประเทศ” [12] ในคำปราศรัยคราวเดียวกันนี้ เขายังพูดถึงความปรารถนาของเขาที่จะจัดส่งถ่านหินอเมริกันไปขายให้ยูเครน จากการที่ปัจจุบันยูเครนถูกตัดขาดไม่ได้รับก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย สืบเนื่องจากการสู้รบขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งสองที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง “ยูเครนบอกกับเราแล้วว่า เวลานี้พวกเขาต้องการที่จะได้ (ถ่านหิน) จำนวนเป็นล้านๆ เป็นล้านๆ เมตริกตันจากเรา” ทรัมป์กล่าว พร้อมกับชี้ต่อไปว่ามีประเทศอื่นๆ จำนวนมากซึ่งอยู่ในสภาพคล้ายคลึงกันเช่นนี้ “และเราก็ต้องการขายให้พวกเขาเช่นเดียวกัน และขายให้แก่คนอื่นๆ ทุกๆ คนตลอดทั่วทั้งโลกซึ่งต้องการที่จะได้มัน”

เขากล่าวต่อไปว่า “เรานั้นเป็นผู้ผลิตระดับท็อปรายหนึ่งในด้านน้ำมันปิโตรเลียม และเป็นผู้ผลิตหมายเลขหนึ่งในเรื่องก๊าซธรรมชาติ เรามีอยู่มากมายเหลือเกินจนเกินกว่าที่เราเคยคิดว่ามีความเป็นไปได้ และเรากำลังจะกลายเป็นผู้ส่งออก ... เราจะส่งออกพลังงานอเมริกันไปตลอดทั่วทั้งโลก ตลอดหมดทั่งทั้งพิภพ”

ในการรบเร้าเรียกร้องเพื่อสงวนรักษายุคสมัยแห่งเชื้อเพลิงฟอสซิลให้ยืดยาวต่อไปนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ถึงกับเข้าแบกรับบทบาทในเรื่องนี้เป็นการส่วนตัวทีเดียว ทั้งในระหว่างการพบปะกับพวกเจ้าหน้าที่ต่างประเทศ และในการสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกับพวกกิจการพลังงานอเมริกันแห่งสำคัญๆ ตัวอย่างเช่นเมื่อตอนที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย เยือนทำเนียบขาวในวันที่ 26 มิถุนายน ขณะที่สื่อมวลชนรายงานข่าวว่าทรัมป์กับโมดีมีการหยิบยกหัวข้อการขายอาวุธให้อินเดียในอนาคตมาพูดคุยกันอย่างไร แต่ไม่ได้มีการเอ่ยถึงเรื่องข้อตกลงทางด้านพลังงานเอาเลย อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีพลังงานสหรัฐฯ ริค เพอร์รี (Rick Perry) เป็นผู้ออกมาเปิดเผยให้ทราบว่าหัวข้อนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการหารือกันของผู้นำทั้งสอง โดยที่เพอร์รีเล่าเอาไว้ว่า ในงานเลี้ยงอาหารค่ำซึ่งทรัมป์เป็นเจ้าภาพจัดต้อนรับเพอร์รีที่ทำเนียบขาวนั้น “พวกเราพูดจากันเกี่ยวกับเรื่อง 3 เรื่องซึ่งจะมีการร่วมมือกันแบบไปๆ มาๆ ระหว่างทั้งสองฝ่ายอย่างมากมายมหาศาล –หรือคุณอยากจะเรียกว่าเป็นการทำดีลกันก็ได้นะ หนึ่งในเรื่องเหล่านี้คือในด้านก๊าซแอลเอ็นจี (ก๊าซธรรมชาติในรูปของเหลว) อีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องถ่านหินสะอาด สำหรับเรื่องที่สามคือด้านนิวเคลียร์ ดังนั้นมันจึงมีโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับอินเดียและสำหรับสหรัฐฯ ที่จะกลายเป็นพันธมิตรซึ่งเข้มแข้งยิ่งขึ้น เป็นหุ้นส่วนซึ่งเข้มแข็งยิ่งขึ้น – พลังงานกำลังจะกลายเป็นกาวใจซึ่งยึดเหนี่ยวความเป็นหุ้นส่วนกันนี้ให้ติดแน่นเป็นระยะเวลายาวๆ นานๆ ทีเดียว” [13]

เพื่อให้เข้าใจกันได้ง่ายขึ้น จะขอเปรียบเทียบว่า การทำดีลเพื่อขายถ่านหินให้อินเดียนั้น มันก็เหมือนกับการขายสารออกซี่คอนทิน (OxyContin) ให้แก่พวกติดยาเสพติดประเภทฝิ่นหรือเฮโรอีนนั่นแหละ ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อปี 2015 แดนภารตะได้แซงหน้าสหรัฐฯขึ้นไปเป็นผู้บริโภคถ่านหินมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกแล้ว (รองจากจีนเท่านั้น) เพื่อรักษาฝีก้าวในอัตราเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของตน อินเดียมีแผนการ[14]ที่จะเพิ่มการพึ่งพาอาศัยถ่านหินให้มากขึ้นไปอีก ซึ่งย่อมหมายถึงการเพิ่มการปล่อยไอเสียคาร์บอนมากขึ้นอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง ปัจจุบันอินเดียตามหลังเพียงแค่จีนและสหรัฐฯเท่านั้นในการเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งเป็นที่คาดหมายกันว่าส่วนแบ่งของแดนภารตะกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระนั้น ในอีกด้านหนึ่ง อินเดียก็เฉกเช่นเดียวกับชาติในเอเชียจำนวนมาก ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศในสัดส่วนที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ[15] และการปล่อยไอเสียมากขึ้นของแดนภารตะมีแต่จะเป็นการเร่งสถานการณ์เช่นนั้น ในสภาพที่จะอุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรงในอนาคต ซึ่งมีความหมายต่อไปว่ามันจะกลายเป็นตัวคุกคามคอยทำลายพืชผลที่ประชากรจำนวนมากของอินเดียต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่เป็นระยะๆ เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลโมดีจึงได้เริ่มแสวงหาหนทางที่จะทำให้ประเทศลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลลงในระยะยาว ส่วนหนึ่งก็ด้วยการสร้างตัวเองให้กลายเป็นอภิมหาอำนาจด้านพลังแสงอาทิตย์[16] พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ จากการเสนอขายถ่านหินให้แก่อินเดียเช่นนี้ ทรัมป์ก็กำลังดำเนินการบ่อนทำลายการต่อสู้ดิ้นรนของอินเดียที่จะปลดปล่อยตัวเองออกมาจากความหายนะของการเสพติดคาร์บอน

ทรัมป์ยังผลักดันการส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิลอเมริกันในทำนองเดียวกันนี้ ระหว่างที่เขาพบปะเจรจาเป็นครั้งแรกกับประธานาธิบดีมุน แจอินแห่งเกาหลีใต้ผู้เพิ่งได้รับเลือกตั้งมาใหม่ๆ [17] ไม่น่าประหลาดใจอะไรเลย รายงานการเสนอข่าวของสื่อเกี่ยวกับเหตุการณ์คราวนี้ไฮไลต์อยู่ที่การหารือของพวกเขาในเรื่องภัยคุกคามทางนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ รายงานบางชิ้นตั้งข้อสังเกตอยู่เหมือนกันว่าได้มีการหยิบยกประเด็นทางการค้าขึ้นมาคุยด้วย ทว่าไม่มีเลยที่เอ่ยถึงเรื่องเกี่ยวกับพลังงาน กระนั้นก็ตาม ไม่นานก่อนที่เขาจะเป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงดินเนอร์แบบเป็นรัฐพิธีต้อนรับมุนที่ทำเนียบขาว ทรัมป์ได้ประกาศว่าบริษัทสหรัฐฯรายหนึ่งที่ชื่อ เซมพรา เอเนอจี (Sempra Energy) เพิ่งลงนามวันเดียวกันนั้นเอง ในข้อตกลงที่จะขายก๊าซธรรมชาติอเมริกันให้แก่เกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้น “และก็อย่างที่พวกคุณทราบกันแล้วนั่นแหละ” ทรัมป์กล่าวต่อ “คณะผู้นำเกาหลีใต้กำลังจะมาที่ทำเนียบขาวในวันนี้ ซึ่งเรามีเรื่องมากมายที่จะต้องหารือกัน แต่เรายังจะพูดกับพวกเขาในเรื่องการซื้อพลังงานจากสหรัฐอเมริกาด้วย และผมแน่ใจว่าพวกเขาก็ปรารถนาที่จะทำเช่นนั้น” [18] พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้นี้กำลังทำให้เป็นที่ชัดเจนแจ่มแจ๋วเหลือเกินว่า ผู้นำต่างประเทศที่ต้องการความสนับสนุนจากอเมริกันนั้น ควรต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถทำให้เขาเกิดความชื่นชอบพึงพอใจขึ้นมาได้

สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศเที่ยวแรกภายหลังขึ้นดำรงตำแหน่งของทรัมป์ ก็มีเวอร์ชั่นของการวางตัวเป็นพ่อค้าเร่เปิดท้ายรถขายเชื้อเพลิงฟอสซิลอเมริกันในทำนองนี้เหมือนกัน โดยในระหว่างการไปเยือนซาอุดีอาระเบียเมื่อเดือนพฤษภาคม มีหลักฐานชัดเจนว่าเขาแสวงหาทางส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างพวกบริษัทพลังงานของสหรัฐฯกับของซาอุดีอาระเบีย แล้วก็เช่นเคยสื่อมวลชนรายงานข่าว [19]การพบปะหารือของทรัมป์กับกษัตริย์ซัลมาน (King Salman) แห่งซาอุดีอาระเบียโดยไฮไลต์ที่หัวข้ออื่นๆ ซึ่งที่เตะตามากคือเรื่องสงครามต่อสู้การก่อการร้าย, การแบ่งแยกในภูมิภาคระหว่างพวกสุหนี่กับพวกชีอะห์, และแนวทางแข็งกร้าวต่ออิหร่าน [20] ของมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ของซาอุดีอาระเบีย เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Crown Prince Mohammed bin Salman) แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้นำทั้งสองนี้ยังได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่ง ซึ่งยืนยันถึง “ความสำคัญของการลงทุนในด้านพลังงานโดยบริษัทต่างๆ ในทั้งสองประเทศ และความสำคัญของนโยบายต่างๆ เพื่อการร่วมมือกัน ซึ่งจะเป็นการรับประกันเสถียรภาพของตลาด และการรับประกันความอุดมสมบูรณ์ของซัปพลาย” [21] การยืนยันเช่นนี้จะนำไปสู่อะไรต่อไปเป็นเรื่องที่ใครต่อใครอาจคิดเดากันเอาเอง แต่เราย่อมสามารถสันนิษฐานได้ว่านี่คือการแสดงความมุ่งมั่นผูกพันที่จะทำให้น้ำมันปิโตรเลียมยังคงมีฐานะครอบงำตลาดพลังงานของโลกต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคตนั่นเอง

ในส่วนของหัวข้อที่ทรัมป์หยิบยกขึ้นมา ระหว่างการพบปะพูดคุยถึง 2 ครั้งกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ณ การประชุมซัมมิตกลุ่ม จี-20 (โดยที่ในการพบปะครั้งที่ 2 ไม่มีแม้กระทั่งล่ามฝ่ายอเมริกันเข้าไปร่วมฟังด้วย) [22] นั้น เห็นได้ชัดเจนว่าเรายิ่งทราบข้อมูลข่าวสารน้อยเข้าไปใหญ่ อย่างไรก็ดี เป็นการสมเหตุสมผลที่จะสันนิษฐานว่าการที่ทรัมป์ให้ความสนใจที่จะปรับปรุงยกระดับสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับรัสเซียนั้น มีจุดโฟกัสอยู่ที่เรื่องพลังงาน (อย่างน้อยที่สุดก็ส่วนหนึ่งล่ะ) ในระหว่างการสนทนาพูดคุยครั้งแรกของผู้นำทั้งสอง ทรัมป์ซึ่งมีฝ่ายอเมริกันติดตามเข้าร่วมการพบปะด้วย ก็เพียงแค่ล่ามคนหนึ่งและรัฐมนตรีต่างประเทศ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน[23] ทั้งนี้ทิลเลอร์สันเมื่อตอนที่เป็นซีอีโอของบริษัทเอ็กซ์ซอนโมบิล (ExxonMobil) คือผู้ที่ลงนามในดีลด้านพลังงานหลายต่อหลายฉบับกับ รอสเนฟต์ (Rosneft) ยักษ์ใหญ่รัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันของรัสเซีย อีกทั้งยังพยายามล็อบบี้เพื่อคัดค้านการที่สหรัฐฯประกาศใช้มาตรการแซงก์ชั่นต่อภาคพลังงานของรัสเซีย [24] (เวลานี้ดีลระหว่างเอ็กซ์ซอนโมบิลกับรัสเซียเหล่านี้ กำลังถูกกระทรวงการคลังสหรัฐฯสอบสวน [25] เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะมีการละเมิดมาตรการลงโทษคว่ำบาตรซึ่งประกาศใช้โดยรัฐบาลสหรัฐฯ และในตอนนั้นก็ยังคงมีผลบังคับอยู่ ) อีก 5 วันต่อมา ขณะอยู่บน “แอร์ฟอร์ซวัน” (Air Force One) เครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกัน ทรัมป์ได้บอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่าเขาปรารถนาที่จะพบปะกับปูตินอีกคำรบหนึ่ง ในทันทีที่มีความเป็นไปได้ทางการเมือง โดยเขากล่าวเสริมว่า “ จริงๆ แล้ว ผมเพียงแค่ต้องการที่จะทำดีลเยี่ยมๆ กับฝ่ายรัสเซียน่ะ” [26]

เพื่อส่งเสริมเพิ่มพูนการส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิลของสหรัฐฯไปยังต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ทรัมป์ยังได้หันมาพึ่งพาอาศัยพวกหน่วยงานรัฐบาลต่างๆ ให้ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ความพยายามเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ระหว่างที่เขากล่าวปราศรัยกับพวกเจ้าหน้าที่บริษัทพลังงาน ณ กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ท่านประธานาธิบดีผู้นี้ได้เอ่ยปากยกย่องชมเชย [27] การที่กระทรวงได้อนุมัติโครงการระยะยาวในการส่งเสริมสนับสนุนภาคพลังงานของสหรัฐฯในต่างแดน ซึ่งได้แก่การส่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากท่าเรือขนถ่ายในเมืองเลคชาร์ลส์ (Lake Charles) มลรัฐลุยเซียนา, และแผนการสำหรับการก่อสร้างสายท่อส่งนำมันสายใหม่ไปยังเม็กซิโก –โดยที่เขาให้ความมั่นใจแก่พวกผู้ฟังว่า เขายังไม่ลืมคำมั่นสัญญาของเขาที่จะให้สร้างกำแพงยาวเหยียดกั้นตลอดแนวชายแดนระหว่างสหรัฐฯกับเม็กซิโกขึ้นมา ด้วยการกล่าวว่า "มัน“(สายท่อส่งน้ำมัน) จะมุดลงใต้กำแพง ดีไหมล่ะครับ? ... มันคล้ายๆ แบบนี้ (ทำท่าทางประกอบ) วางท่อกันตรงใต้กำแพง”

แล้วต้องระลึกเอาไว้ด้วยนะครับว่า สิ่งที่เราสามารถกระทำได้ในเวลานี้นั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเรายังไม่ได้มีข้อมูลข่าวสารมากเพียงพอที่จะมองเห็นภาพทั้งหมด ตรงกันข้าม มันเป็นเพียงแค่การเหลือบมองดูความพยายามต่างๆ ของทรัมป์ในการส่งเสริมสนับสนุนการขายน้ำมัน-ก๊าซ-ถ่านหินของอเมริกันในต่างประเทศเท่านั้น แต่จากอะไรแค่น้อยนิดที่มีการรายงานเสนอกันเอาไว้เกี่ยวกับหัวข้อนี้ ไม่ว่าในการพบปะหารือระหว่างเขากับนายกรัฐมนตรีโมดี, ประธานาธิบดีมุน, หรือกษัตริย์ซัลมาน มันก็ทำให้เราสามารถสันนิษฐานได้อย่างสมเหตุสมผลทีเดียวว่า หัวข้อนี้ได้ถูกทรัมป์หยิบยกขึ้นมาในการสนทนาแทบทุกครั้งของเขากับพวกผู้นำต่างประเทศ และกลายเป็นด้านซึ่งมีความสำคัญเอามากๆ ในการกำหนดนโยบายการต่างประเทศของเขายิ่งกว่าที่เคยตระหนักรับรู้กันโดยทั่วไป

ความฝันที่จะเห็นอเมริกาอยู่ในฐานะผู้ครอบงำด้านพลังงานของโลก

อย่างไรก็ตาม อย่าได้จินตนาการคิดฝันเพียงแค่ว่า การทำตัวเป็นเซลส์แมนเร่ขายเชื้อเพลิงฟอสซิลของทรัมป์มีแรงขับดันสำคัญที่สุดจากความปรารถนาที่จะสร้างความร่ำรวยให้แก่พวกบริษัทพลังงานอเมริกัน (ถึงแม้ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ได้จริงๆ เขาย่อมมองว่ามันเป็นเรื่องที่ดี) แท้ที่จริงแล้วเห็นได้ชัดเจนว่าสิ่งที่คอยจูงใจให้เขากระทำเช่นนี้ มาจากแรงกระตุ้นชุดหนึ่งที่เป็นเรื่องของสัญชาติญาณและฝังอยู่ลึกล้ำยิ่งกว่าแค่การดูแลรักษาผลประโยชน์ของพวกบริษัทพลังงานอเมริกันเสียอีก กล่าวคือ ทรัมป์ยังคงติดแน่นอยู่กับความทรงจำในวัยเด็กของเขาเมื่อช่วงทศวรรษ 1950 [28] ซึ่งรถยนต์อเมริกันคันโตที่กินน้ำมันยิ่งกว่าซดน้ำ ถือเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นสำคัญที่สุดแห่งความมั่งคั่งร่ำรวยของประเทศสหรัฐอเมริกาและพลังอำนาจของประเทศสหรัฐอเมริกา เขามีความเชื่ออย่างลึกซึ้งแน่นหนาในศักยภาพของเชื้อเพลิงฟอสซิสที่จะเป็นตัวขับดันหนุนส่งและประคับประคองฐานะครอบงำโลกของสหรัฐฯ เขามักย้อนระลึกถึงช่วงเวลาแห่งการก่อรูปความคิดของเขาดังกล่าวนี้ในการขบคิดใคร่ครวญรำพึงรำพันของเขา โดยบรรยายให้เห็นว่ามันคือยุคทอง [29] มันคือยุคสมัยที่อเมริกาชนะสงครามทุกๆ สงครามที่เข้าไปร่วม และสหรัฐฯก็มีฐานะเป็นผู้ครอบงำเหนือคนอื่นๆ ทั้งหมดในเวทีโลก สำหรับเขาแล้ว น้ำมันเท่ากับพลังความมีชีวิตชีวา เท่ากับฐานะการก้าวขึ้นไปเหนือใครๆ ของสหรัฐฯ และต้องไม่ยอมปล่อยให้ประเทศอื่นใดหน้าไหนทั้งสิ้น สามารถเข้ามาเพิกถอนลิดรอนการยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นในคาร์บอนของสหรัฐฯ --ยิ่งเป็นประชาคมระหว่างประเทศที่สามัคคีรวมตัวกันภายใต้ข้อตกลงภูมิอากาศกรุงปารีสด้วยแล้ว ยิ่งต้องขับไล่ให้ไปไกลๆ เลยทีเดียว

ทั้งหมดเหล่านี้ ทรัมป์บ่งบอกให้เห็นอย่างไร้ข้อสงสัยในคำปราศรัยซึ่งเขากล่าวที่กระทรวงพลังงาน (เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน) [30] โดยเป็นเสมือนการเปิดหน้าต่างให้เห็นกันจะแจ้งจริงๆ เข้าไปในความคิดของเขาเกี่ยวกับหัวข้อนี้ ทั้งนี้ข้อความสำคัญที่สุด ซึ่งเขาพูดออกมาในสไตล์ร่ายกลอนสดแบบที่เขาชอบทำเป็นปกติ ไม่ใช่การอ่านจากบทที่เตรียมไว้ มีดังนี้:

“ประเทศของเราได้รับการเจิมจากพระเจ้าให้มีพลังงานอย่างอุดมสมบูรณ์มากมายมหาศาลเป็นพิเศษ ... เรามีก๊าซธรรมชาติที่มีค่าใช้กันไปได้เกือบๆ 100 ปี และมีถ่านหินที่สะอาดสวยงามซึ่งมีค่าใช้กันไปได้มากกว่า 250 ปี ... เรามีอยู่อย่างมากมายล้นเหลือเกินกว่าที่เราเคยคาดคิดว่าเป็นไปได้ เรากำลังอยู่ในฐานะที่เป็นผู้ขับดันชี้ทิศนำทางอย่างแท้จริง แล้วคุณรู้อะไรไหม? เราก็ไม่ต้องการปล่อยให้ประเทศอื่นๆ เข้ามาหยิบฉวยอธิปไตยของเราไป เข้ามาบอกเราว่าจะต้องทำอะไรและจะต้องทำอย่างไร ด้วยทรัพยากรอันมากมายเหลือเชื่อเหล่านี้ คณะบริหารของผมจะเสาะแสวงหาหนทางที่ไม่เพียงทำให้อเมริกามีเอกราชในทางพลังงานอย่างที่เรากำลังเฝ้ามองหากันมายาวนานแล้วเท่านั้น แต่ต้องทำให้อเมริกาอยู่ในฐานะผู้ครอบงำด้านพลังงานของโลกอีกด้วย”

บุคลิกส่วนตัวของทรัมป์นั้น เป็นผู้ที่หลงใหลตรึงใจกับพวกสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความล้นเหลือฟุ่มเฟือย –ลองคิดถึงพวกตัวอักษรสีทองขนาดใหญ่ยักษ์ที่ประดับอยู่เหนือทรัพย์สินด้านอสังหาริมทรัพย์ของเขาดูซิครับ— และในการพูดคนเดียวที่กระทรวงพลังงานคราวนี้ก็เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นเรื่องนี้อีก เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเขามีความรู้สึกปลาบปลื้มยินดีเป็นพิเศษกับวิธีการผ่าทางตันต่างๆ ซึ่งช่วยเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ล้นเหลือของพลังงานอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำเร็จของการขุดเจาะก๊าซและน้ำมันจากหินดินดาน ด้วยเทคโนโลยี hydraulic fracturing หรือ fracking (การฉีดน้ำผสมสารเคมีและทรายปริมาณมหาศาลลงใต้ดิน เพื่อทำให้เกิดรอยแตกขึ้นในชั้นหินดินดาน ทำให้สามารถสูบเอาก๊าซและน้ำมันที่ถูกกักอยู่ระหว่างชั้นหินออกมาได้ -ผู้แปล) กระบวนการเช่นนี้เป็นการปลดปล่อยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติปริมาณมากมายมหาศาล ซึ่งเมื่อก่อนนำมาออกมาใช้ไม่ได้เนื่องจากติดอยู่ในระหว่างชั้นหินดินดาน ทั้งนี้ก่อนหน้าที่จะมีการนำเอาวิธีการแฟรกกิ้งมาใช้ การผลิตน้ำมันและก๊าซในสหรัฐฯอยู่ในสภาพที่กำลังลดต่ำลงไปเรื่อยๆ แต่ต้องขอบคุณสิ่งที่เรียกขานกันว่า “การปฏิวัติหินดินดาน” (shale revolution) [31] เช่นนี้ การผลิตจึงได้กลับพุ่งพรวดขึ้นมา ในเดือนกรกฎาคม 2017 ด้วยระดับการผลิตวันละ 9.4 ล้านบาร์เรล เท่ากับว่าผลผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯสูงขึ้นถึง 68% จากเมื่อ 6 ปีก่อนหน้านั้น ซึ่งการผลิตอยู่ในระดับเพียงแค่วันละ 5.6 ล้านบาร์เรลเท่านั้น ก๊าซธรรมชาติก็มีผลงานแบบก้าวกระโดดทำนองเดียวกัน ในทางกลับกัน สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเหล่านี้ก็กำลังก่อให้เกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้มสุขใจในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ --อย่างน้อยที่สุดก็เกิดความรู้สึกเช่นนี้ขึ้นมาอยู่ระยะหนึ่ง— โดยที่มีบัณฑิตผู้รู้บางคนถึงขั้นตั้งฉายาสหรัฐฯว่า “ซาอุดีอเมริกา” (Saudi America) และวาดภาพประเทศนี้ว่าเป็น “ขุมทองด้านพลังงานแห่งใหม่” (new energy El Dorado) [32]

ขณะที่อารมณ์ความรู้สึกเคลิบเคลิ้มสุขใจนี้แสดงบทบาทครอบงำ พวกนักวิเคราะห์ภาคพลังงานอเมริกันก็เริ่มต้นแสดงความคิดเห็นว่าการที่ผลผลิตไฮโดรคาร์บอนภายในประเทศพุ่งพรวดขึ้นมาเช่นนี้ คือแหล่งที่มาอันสำคัญยิ่งของอิทธิพลบารมีทางภูมิรัฐศาสตร์ การไหลทะลักท่วมท้นของก๊าซธรรมชาติราคาถูก “ทำให้ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯทะยานสูงขึ้น” โรเบิร์ต แมนนิ่ง (Robert Manning) แห่งสภาแอตแลนติก (Atlantic Council) กล่าวตามแบบฉบับ “และสิ่งที่ติดตามมาก็คือ พลังอำนาจแห่งชาติอันครอบคลุมทั่วด้านของสหรัฐฯ และศักยภาพที่จะเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ” [33] ลองคิดดูว่ามันก็เหมือนกับเป็นยาไวอะกร้าสำหรับพวกผู้วางนโยบายในวอชิงตันนั่นแหละ

อย่างไรก็ดี ในระยะหลังๆ มานี้ ความเคลิบเคลิ้มสุขใจเช่นนี้ได้ค่อยๆ สร่างซาลงไปเป็นบางส่วนแล้ว เนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซอยู่ในสภาพตกต่ำดันไม่ขึ้น อันเป็นผลพวงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของภาวการณ์ผลิตล้นเกิน จนกระทั่งกำลังกลืนกินผลกำไรของภาคบริษัท และบังคับให้บริษัทพลังงานที่กู้หนี้ยืมสินเกินตัวต้องประกาศขอล้มละลาย อย่างไรก็ตาม ความเชื่อของทรัมป์ในเรื่องความสามารถของน้ำมันปิโตรเลียมที่จะเพิ่มพูนส่งเสริมอิทธิพลบารมีทั่วโลกของอเมริกานั้น เห็นได้ชัดว่ายังคงไม่ได้สั่นคลอนโยกเยกอย่างไรทั้งสิ้น “เรามีน้ำมันอยู่ข้างใต้เรามากมายมหาศาลยิ่งกว่าใครๆ ทั้งนั้น” เขาประกาศเช่นนี้ในการสนทนากับพวกนักหนังสือพิมพ์บนเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวัน เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม “และผมต้องการนำขึ้นมาใช้” [34]

ไม่ว่าต้นตอแหล่งกำเนิดแห่งความหลงใหลได้ปลื้มต่อเชื้อเพลิงฟอสซิลของเขาจะมาจากไหนก็ตามที หกเดือนแห่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ มีสิ่งหนึ่งซึ่งชัดเจนมากๆ นั่นคือ เขามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเผยแพร่ลัทธิยกย่องบูชาคาร์บอนอเมริกันให้กระจายออกไปสู่นานาชาติ และแรงกระตุ้นนี้ก็ได้กลายเป็นแนวคิดหลักอันชัดเจนประการหนึ่งแห่งนโยบายการต่างประเทศของเขาไปเรียบร้อยแล้ว ถึงแม้พวกสื่อมวลชนกระแสหลัก ซึ่งทั้งๆ ที่เต็มท่วมท้นไปด้วยพวกรายงานข่าวที่ถือทรัมป์เป็นศูนย์กลาง กลับแทบไม่ค่อยได้สังเกตเห็นก็ตามที

มรดกอย่างใหม่แด่อเมริกา

ประธานาธิบดีคนอเมริกันคนก่อนๆ นิยมเสาะแสวงหาชื่อเสียงด้วยการส่งเสริมสนับสนุนเรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ อันที่จริงแล้ว ทุกๆ การแสดงออกทางด้านนโยบายการต่างประเทศของอดีตประธานาธิบดีทั้งหลายในยุคภายหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา ต่างจะต้องระบุผูกพันกับค่านิยมเหล่านี้ในทางพิธีกรรม ในฐานะที่เป็นสินค้าส่งออกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอเมริกา (ไม่ว่าแท้ที่จริงแล้ววอชิงตันกำลังส่งออกค่านิยมอะไรกันแน่ๆ ก็ตามที) อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่สำหรับโดนัลด์ ทรัมป์ สิ่งที่เขามุ่งเสาะแสวงหาที่จะส่งออก คือ ไฮโดรคาร์บอนที่จะเป็นตัวสร้างความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ โดยมุ่งที่จะปลูกฝังสร้างนิสัยความเคยชินในการใช้ไฮโดรคาร์บอนขึ้นมาให้มั่นคงเหนียวแน่นอีกด้วย

ยังต้องคอยติดตามกันต่อไปว่าแรงขับดันของเขาที่จะแพร่ขยายลัทธิยกย่องบูชาคาร์บอนนี้จะประสบความสำเร็จสักแค่ไหน เนื่องจากในขณะที่เวลาผันผ่านไปเรื่อยๆ และผลของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศก็เข้มข้นดุเดือดขึ้นทุกทีในโลกที่อุณหภูมิกำลังร้อนขึ้นนี้ [35] ไม่ต้องสงสัยเลยว่าประเทศต่างๆ จำนวนมากขึ้นจะเริ่มโฟกัสที่เรื่องการลดทอนหรือกระทั่งการยุติการพึ่งพิงอาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิลของพวกเขา และหันไปส่งเสริมสนับสนุนทางเลือกแบบใช้เชื้อเพลิงที่ปลอดคาร์บอน [36] พลังของตลาดจะแสดงบทบาทอันสำคัญยิ่งยวดในกระบวนการนี้ เนื่องจากราคาของพลังงานหมุนเวียน –โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังแสงอาทิตย์— กำลังลดต่ำลงมาอย่างรวดเร็ว และ (ในภาวะเงื่อนไขในหลายๆ แห่งหลายๆ ที่) ก็อยู่ในสภาพพรักพร้อมที่จะเป็นวิถีทางซึ่งมีราคาถูกกว่าการใช้ถ่านหินมาผลิตกระแสไฟฟ้า [37]

แต่กระทั่งว่าแผนกลอุบายในเรื่องเชื้อเพลิงฟอสซิลของทรัมป์จะไม่สามารถประสบความสำเร็จในระยะยาวก็ตามที สิ่งที่มั่นใจได้อย่างไร้ข้อสงสัยเลยก็คือถึงอย่างไรเขาก็ยังคงทำให้มีก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่บรรยากาศของพิภพใบนี้เพิ่มมากขึ้นอยู่ดี ซึ่งหมายถึงการที่อุณหภูมิจะยังคงไต่สูงขึ้นต่อไป และบทลงโทษในรูปของภัยแล้งและคลื่นความร้อนก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

มันถึงเวลาแล้วที่การทำตัวเป็นเซลส์แมนโฆษณาชวนเชื่อขายพลังงานในสไตล์พวกฉายหนังขายยาของเขา และอนาคตแห่งความวิบัติหายนะของสิ่งแวดล้อมซึ่งจะเกิดขึ้นตามมา พึงต้องได้รับความใส่ใจอย่างที่มันสมควรจะได้รับ ถ้าหากมนุษยชาติจะมีโอกาสใดๆ ที่จะอยู่รอดผ่านพ้นภาวะโลกร้อนทั่วพิภพไปได้โดยยังคงลักษณะรูปโฉมที่สมเหตุสมผลแล้ว พวกคาร์บอนอเมริกันทั้งหลายทั้งปวงซึ่งทรัมป์วาดหวังที่จะสำรวจขุดค้นและนำขึ้นขายให้แก่ชาวต่างประเทศ จักต้องยังคงอยู่ใต้พื้นดินต่อไป

ไมเคิล ที. แคลร์ เป็นอาจารย์ทางด้านการศึกษาสันติภาพและความมั่นคงของโลก (peace and world security studies) อยู่ที่ วิทยาลัยแฮมป์เชียร์ (Hampshire College) เป็นผู้เขียนบทความให้เว็บไซต์ ทอมดิสแพตช์ (www.tomdispatch.com) อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเป็นผู้เขียนหนังสือหลายเล่ม โดยเล่มล่าสุดคือเรื่อง The Race for What's Left นอกจากนั้นภาพยนตร์สารคดีที่สร้างขึ้นโดยอิงอาศัยหนังสือเรื่อง Blood and Oil ของเขา สามารถหาได้ที่มูลนิธิ มีเดีย เอยูเคชั่น ฟาวน์เดชั่น (Media Education Foundation) สามารถติดตามเขาทางทวิตเตอร์ได้ที่ Twitter at @mklare1.

(ข้อเขียนนี้เก็บความจากต้นฉบับภาษาอังกฤษใน ทอมดิสแพตช์ http://www.tomdispatch.com/)

หมายเหตุ

[1] https://www.washingtonpost.com/opinions/trumps-incoherent-inconsistent-incomprehensible-foreign-policy/2016/04/28/9fb33006-0caa-11e6-8ab8-9ad050f76d7d_story.html
[2] https://www.g20.org/gipfeldokumente/G20-leaders-declaration.pdf
[3] http://www.pbs.org/newshour/bb/why-2-degrees-celsius-is-climate-changes-magic-number/
[4] https://www.theguardian.com/science/2016/mar/22/sea-level-rise-james-hansen-climate-change-scientist
[5]https://www.theguardian.com/environment/2013/apr/13/climate-change-threat-food-supplies
[6] http://www.cnbc.com/2017/06/28/trump-america-energy-dominant-policy.html
[7] http://earthjustice.org/news/press/2017/trump-signs-attack-on-clean-water-into-law
[8] https://www.washingtonpost.com/news/energy-environment/wp/2017/04/28/trump-signs-executive-order-to-expand-offshore-drilling-and-analyze-marine-sanctuaries-oil-and-gas-potential/
[9] http://www.pbs.org/newshour/rundown/trump-executive-order-seeks-reverse-obamas-clean-energy-regulations/
[10]https://www.theguardian.com/environment/2017/feb/22/scott-pruitt-emails-oklahoma-fossil-fuels-koch-brothers
[11] https://www.g20.org/gipfeldokumente/G20-leaders-declaration.pdf
[12] https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2017/06/29/remarks-president-trump-unleashing-american-energy-event
[13] https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2017/06/27/press-briefing-secretary-energy-rick-perry-and-principal-deputy-press
[14]https://www.eia.gov/beta/international/analysis.cfm?iso=IND
[15] https://www.bloomberg.com/news/articles/2017-07-14/asia-at-risk-of-deeper-poverty-due-to-climate-change-adb-says
[16]https://www.theguardian.com/environment/2014/oct/01/india-will-be-renewables-superpower-says-energy-minister
[17] http://www.businessinsider.com/trump-south-korea-moon-jae-in-meeting-dinner-white-house-2017-6
[18] https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2017/06/29/remarks-president-trump-unleashing-american-energy-event
[19]https://www.nytimes.com/2017/05/20/world/middleeast/donald-trump-saudi-arabia.html
[20]https://www.nytimes.com/2017/06/21/world/middleeast/saudi-arabia-crown-prince-mohammed-bin-salman.html
[21] https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2017/05/23/joint-statement-between-kingdom-saudi-arabia-and-united-states-america
[22] http://www.independent.co.uk/news/world-0/us-politics/trump-putin-meeting-russia-us-g20-undisclosed-white-house-confirms-a7848061.html
[23]https://www.usatoday.com/story/news/politics/2017/07/07/trump-putin-g-20/458210001/
[24] http://money.cnn.com/2017/01/11/investing/tillerson-exxon-sanctions-russia-iran/index.html
[25] https://www.nytimes.com/2017/07/21/business/energy-environment/exxon-mobil-treasury-russia-sanctions.html
[26] http://www.cnn.com/2017/07/13/politics/trump-transcript-air-force-one/index.html
[27] https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2017/06/29/remarks-president-trump-unleashing-american-energy-event
[28] http://www.tomdispatch.com/post/176222/
[29] http://www.tomdispatch.com/blog/176254/
[30] https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2017/06/29/remarks-president-trump-unleashing-american-energy-event
[31] http://ig-legacy.ft.com/content/e178031e-2cf4-11e4-8105-00144feabdc0#axzz4ng88eJBi
[32]https://www.wsj.com/articles/SB10001424127887323894704578114591174453074
[33]http://www.atlanticcouncil.org/images/publications/Shale_Revolution_and_the_New_Geopolitics_of_Energy.pdf
[34] http://www.cnn.com/2017/07/13/politics/trump-transcript-air-force-one/index.html
[35] http://www.climatecentral.org/news/heat-is-on-for-2017-21011
[36]https://www.theguardian.com/politics/2017/jul/25/britain-to-ban-sale-of-all-diesel-and-petrol-cars-and-vans-from-2040
[37] https://www.bloomberg.com/news/articles/2017-01-03/for-cheapest-power-on-earth-look-skyward-as-coal-falls-to-solar


กำลังโหลดความคิดเห็น