xs
xsm
sm
md
lg

ยังจะมีใครนอกจาก ‘ทรัมป์’ ที่พยายามฟื้นฟูอุตสาหกรรม ‘ซอมบี้’ อย่างถ่านหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ออสการ์ เรเยส

While Trump Tries to Bring Back Zombie Coal, the UK Goes Coal-Free
By Oscar Reyes
10/05/2017

ขณะที่จีน,ยุโรป, และหลายๆ มลรัฐในสหรัฐฯต่างกำลังเก็บดอกเก็บผลอันน่าชื่นใจจากการปรับเปลี่ยนหันไปพึ่งพาอาศัยพวกพลังงานหมุนเวียน คณะบริหารประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับดูเหมือนยังคงปักใจหัวชนฝาอยู่กับความพยายามที่จะฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษและกำลังจะตายอย่างอุตสาหกรรมถ่านหิน

เมื่อคุณกำลังตกลงไปในรู ปกติแล้ววิธีดีที่สุดคือการหยุดขุดทำให้ตนเองถลำลึกลงอีก ทว่าตอนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวปราศรัยกับที่ชุมนุมของพวกผู้สนับสนุนเขาในมลรัฐเพนซิลวาเนีย ในวาระครบรอบ 100 วันแห่งการขึ้นครองอำนาจของเขานั้น เขาประกาศว่า “เรากำลังนำเอาคนงานเหมืองถ่านหินกลับมาทำงานกันอีกครั้ง” เขาก็เหมือนกับชอนไชซุกซ่อนลึกลงไปอีกในการโกหกหลอกลวงคำโตของคณะบริหารของเขาเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอยู่ว่า กฎหมายระเบียบหลักเกณฑ์ทั้งหลายเกี่ยวกับภูมิอากาศของโลกนั้น ไม่ได้เป็น “การทำสงครามกับถ่านหิน” และไม่ว่าท่านประธานาธิบดีจะออกข่าวป่าวร้องให้เอิกเกริกขนาดไหนก็จะไม่สามารถทำให้คนงานเหมืองถ่านหินกลับมามีงานทำกันอีก รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ของศูนย์กลางเพื่อพลังงานของโลก (Center for Global Energy) ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น (ดูรายละเอียดรายงานชิ้นนี้ได้ที่ http://energypolicy.columbia.edu/publications/report/can-coal-make-comeback)

รายงานฉบับนี้อธิบายว่า ดีมานด์ความต้องการในถ่านหินสหรัฐฯนั้นได้ลดฮวบพังครืนลงในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ภายหลังจากมีการปรับปรุงยกระดับในเรื่องประสิทธิภาพในการใช้พลังงานขึ้นมาอย่างมโหฬาร (อย่างเช่นการใช้อุปกรณ์แสงสว่างและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่ประหยัดกระแสไฟฟ้า) , ราคาน้ำมันและพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ที่ถูกลง, และการส่งออกถ่านหินที่ตกต่ำลดวูบ เนื่องจากประเทศอื่นๆ ต่างมองหาแหล่งพลังงานที่มีความสะอาดมากกว่า)

บริษัทเหมืองถ่านหินใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ 4 แห่ง มีถึง 3 แห่งได้ยื่นขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลาย ขณะเดียวกัน บ็อบ เมอร์เรย์ (Bob Murray) ซีอีโอของบริษัทใหญ่ที่สุดแห่งที่ยังเหลืออยู่ ได้ออกมาเตือนทรัมป์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมถ่านหินไม่น่าที่จะฟื้นคืนกลับมาได้ (ดูรายละเอียดไดที่ http://www.newsweek.com/trump-cant-bring-back-mining-jobs-574766) ซีอีโอผู้นี้น่าจะเป็นผู้ที่ทราบเรื่องดี เนื่องจากสูตรที่บริษัทเมอร์เรีย์ เอนเนอจี (Murray Energy) ของเขาใช้อยู่เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ต้องล้มละลายนั้น ที่สำคัญแล้วเป็นมาตรการเกี่ยวกับการลดตำแหน่งงาน, การผ่อนผันหลบเลี่ยงเรื่องการรักษาความปลอดภัย(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ibtimes.com/fed-regulators-accuse-murray-energy-trying-silence-whistleblowers-creating-atmosphere-2166813), และเงื่อนไขการทำงานของแรงงานที่เลวร้ายลงกว่าเดิม (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.argusmedia.com/pages/NewsBody.aspx?id=1266526&menu=yes)

พวกคู่แข่งรายหลักๆ ของอเมริกาต่างตระหนักถึงสถานการณ์เช่นนี้กันดี และได้วางแผนการกันเป็นขั้นๆ เพื่อหลุดออกมาจากการพึ่งพาอาศัยถ่านหิน เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรสามารถตอบสนองความต้องการใช้พลังงานของประเทศตนได้โดยที่ไม่ต้องเผาถ่านหินใดๆ เลย –ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา และโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ได้พลังงานจากการเผาถ่านหินแห่งสุดท้ายของสหราชอาณาจักร ก็จะปิดตัวลงภายในช่วงทศวรรษหน้า

ขณะเดียวกัน พวกบริษัทพลังงานในสหภาพยุโรปเกินกว่าครึ่งหนึ่งให้คำมั่นสัญญาว่า จะหยุดการลงทุนในโรงงานด้านถ่านหินแห่งใหม่ๆ ภายในปี 2020 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/environment/2017/apr/05/the-end-of-coal-eu-energy-companies-pledge-no-new-plants-from-2020)

ทางด้านประเทศจีนก็กำลังลดการพึ่งพาอาศัยถ่านหินลงมาอย่างรวดเร็ว เมื่อเร็วๆ นี้แดนมังกรได้สั่งระงับแผนการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ๆ ซึ่งใช้ถ่านหินเป็นตัวผลิตเป็นจำนวนกว่า 100 แห่ง ขณะเดียวกับที่กำลังตัดลดการผลิตของพวกเหมืองถ่านหินที่รัฐควบคุมอยู่ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nytimes.com/2017/01/18/world/asia/china-coal-power-plants-pollution.html?_r=0) ทั้งนี้จีนได้ให้สัญญาที่จะลดการผลิตถ่านหินลงมา 800 ล้านตันต่อปีภายในปี 2020 ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าผลผลิตต่อปีของเหมืองถ่านหินสหรัฐฯทุกๆ แห่งรวมกัน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.eia.gov/coal/production/quarterly/pdf/t1p01p1.pdf)

กล่าวโดยสรุปแล้ว แทนที่จะพยายามฟื้นฟูชุบชีวิตอุตสาหกรรมถ่านหิน มันจะเป็นการถูกต้องเหมาะสมกว่ามากถ้าสหรัฐฯหันมาวางแผนการเพื่อการทดแทนการใช้ถ่านหิน

แผนการริเริ่มต่างๆ อย่างเช่นโครงการเอ็มพาวเวอร์ เคนทักกี (Empower Kentucky ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.empowerkentucky.org/) กำลังพยายามที่จะทำอย่างที่ว่านี้แหละ ความริเริ่มเหล่านี้กำลังกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดตำแหน่งงานในด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และด้านพลังงานหมุนเวียน ขณะเดียวกันนั้นการช่วยเหลือพวกคนงานเหมืองถ่านหินที่กำลังถูกทอดทิ้งให้ตายซาก ก็ไม่ได้เป็นหน้าที่ของสำนักงานพิทักษ์คุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency หรือ EPA) หากแต่เป็นพวกบริษัทถ่านหินที่ยื่นขอล้มละลาย ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะพิทักษ์คุ้มครองผลประโยชน์ต่างๆ ของพวกเจ้านายของคนงานเหมืองเหล่านี้

อันที่จริงแล้วมลรัฐต่างๆ ในสหรัฐฯกำลังเพิ่มทวีการเร่งรัดยกระดับแผนการสำหรับการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ ในเวลาเดียวกับที่ทางรัฐบาลกลางสหรัฐฯยังคงพยายามที่จะปักใจด้วยความใหลหลงอยู่กับมายาภาพของถ่านหิน ดังที่งานการศึกษาชิ้นใหม่ของสถาบันเพื่อนโยบายศึกษา (Institute for Policy Studies หรือ IPS) ชี้เอาไว้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ips-dc.org/report-how-states-can-boost-renewables-with-benefits-for-all/) ตัวอย่างเช่น รัฐออริกอน วางแผนการที่จะทยอยลดการใช้ถ่านหินเป็นขั้นๆ จนกระทั่งเลิกหมดภายในปี 2030 และคาดหมายว่าราวครึ่งหนึ่งของกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในมลรัฐจะมาจากพวกพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2040

การขยายการใช้พลังงานหมุนเวียน ยังเป็นวิธีการที่ดีในการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ พวก “ตำแหน่งงานสีเขียว” (Green jobs) ในด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ, การขนส่งมวลชน, และพลังงานหมุนเวียน เวลานี้มีจำนวนมากกว่าพวกตำแหน่งงานที่ถูกว่าจ้างโดยบรรดาบริษัทนำมัน, ก๊าซ, และถ่านหินแล้ว ทั้งนี้ตามตัวเลขข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน (Department of Energy) ของสหรัฐฯ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.eesi.org/papers/view/fact-sheet-jobs-in-renewable-energy-and-energy-efficiency-2017)

ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกันระหว่างถ่านหินกับพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเห็นความตัดแย้งไปในทิศทางตรงกันข้ามเช่นนี้ได้ชัดจัดขึ้นมาก โดยเวลานี้ถ่านหินว่าจ้างชาวอเมริกันทำงานเพียงแค่ 160,000 คน ในจำนวนนี้ราวหนึ่งในสามเป็นคนงานเหมือง ทว่าพลังงานแสงอาทิตย์ปัจจุบันว่าจ้างคนทำงานกว่า 370,000 คน และถือเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่เติบโตรวดเร็วที่สุดของเศรษฐกิจอเมริกัน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nytimes.com/interactive/2017/04/25/climate/todays-energy-jobs-are-in-solar-not-coal.html)

แน่นอนล่ะตัวเลขเหล่านี้ยังไม่สามารถเล่าเรื่องราวทั้งหมดหรอก เป็นต้นว่าตำแหน่งงานใหม่ๆ ด้านพลังงานแสงอาทิตย์นั้นแทบทั้งหมดเป็นงานในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ขณะที่พวกรัฐถ่านหินบางมลรัฐยังคงถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลังไกลลิบ กระนั้นก็ตาม บทเรียนสำคัญที่สุดในที่นี้ก็คือสภานิติบัญญัติของรัฐไหนก็ตามซึ่งกำลังกระตุ้นส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนกันอย่างคึกคักหนักหน่วงที่สุด คือมลรัฐซึ่งกำลังเก็บเกี่ยวดอกผลไปได้เป็นกอบเป็นกำมากที่สุดในขณะนี้

แทนที่จะเสแสร้างแกล้งทำเป็นว่าตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมถ่านหินสามารถที่จะฟื้นฟูนำกลับคืนมาได้ เหล่านักการเมืองทั้งหลายควรที่จะส่งเสริมสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนในฐานะเป็นวิถีทางแห่งการสร้างงาน ซึ่งพวกอดีตลูกจ้างอุตสาหกรรมถ่านหินสามารถที่จะภาคภูมิใจ ขณะเดียวกันกับที่ปกป้องคุ้มครองอากาศและภูมิอากาศของพวกเรา

แทบมองไม่เห็นโอกาสอะไรเลยที่คณะบริหารทรัมป์จะหันมาพาตัวเองออกจากรูลึกของถ่านหิน ทว่ามีความสมเหตุสมผลกว่ากันเยอะที่จะคาดหวังว่าพวกผู้นำระดับท้องถิ่นจะเร่งฝีก้าวพาตัวเองขึ้นมาสู่ผิวพื้น

ออสการ์ เรเยส เป็นนักวิจัยสมทบ (associate fellow) ของโปรแกรมนโยบายภูมิอากาศ (Climate Policy Program) ณ สถาบันเพื่อนโยบายศึกษา (Institute for Policy Studies)

ข้อเขียนชิ้นนี้ (ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ http://fpif.org/while-trump-tries-to-bring-back-zombie-coal-the-uk-goes-coal-free/) มาจาก “ฟอเรนจ์ โพลิซี อิน โฟกัส” (Foreign Policy in Focus หรือ FPIF) ซึ่งมุ่งเสนอบทวิเคราะห์อันทันการณ์ในด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯและด้านกิจการระหว่างประเทศ ตลอดจนเสนอแนะทางเลือกต่างๆ ทางด้านนโยบาย ทั้งนี้ FPIF เป็นโครงการหนึ่งของสถาบันเพื่อนโยบายศึกษา กลุ่มคลังสมองที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งมีแนวทางความคิดแบบก้าวหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น