xs
xsm
sm
md
lg

“โลกร้อน..ดอกแดฟโฟดิล (ดอกดารารัตน์) บานสะพรั่งทั่วฟ้าเมืองไทย”

เผยแพร่:   โดย: ภณิดา มิลเลอร์

ดอกแดฟโฟดิล (ดอกดารารัตน์)
เวลาฝนตก บางคนพอใจ บางคนไม่พอใจ แต่ทุกคนมีเหตุผล ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้น ถ้าฝนตกกลางคืน อากาศเย็นๆ ใครๆ ก็ชอบ นอนหลับสบาย ถ้าฝนตกตอนเช้า ต่างก็อยากจะตะโกนร้องด่า เพราะทุกครั้งที่ฝนตก รถก็จะติด และถ้าฝนตกหนักมากในกรุงเทพฯ เนี่ย น้ำท่วมเลยนะ ความปรานีไม่มีให้กัน ซึ่งปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นในทุกภาคของประเทศไทย ทำให้บางคนอยากจะสร้างเขื่อน ซึ่งหมายถึงการตัดต้นไม้ ทำลายแหล่งธรรมชาติของสัตว์ป่า ทำลายความสมดุลในธรรมชาติหรือระบบนิเวศเป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบไปตายเอาดาบหน้า แบบสมัยโบราณที่ยังไม่มีความรู้เรื่องภาวะโลกร้อน คือพวกเรา-ประชากรโลกต้องช่วยกันดูแลโลกใบนี้ที่อยู่ร่วมอาศัยด้วยกันต้นไม้นั้นมีประโยชน์มากกว่าเขื่อนหลายร้อยพันเท่า ไม่มีต้นไม้ก็ไม่มีฝน ไม่มีฝนก็ไม่น้ำ ไม่มีน้ำก็จะเดือดร้อนกันโดยถ้วนหน้าทั้งมนุษย์และสัตว์เรื่องภาวะโลกร้อน ขออนุญาตอัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในหลวงอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเรา

ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2532

“....พูดถึงถังน้ำที่เติมน้ำเต็มขึ้นทุกที ถ้าเก็บน้ำไว้ได้ก็ดี คือหมายความว่าได้มีประสบการณ์ ได้เห็นอะไรต่ออะไรมามากทําให้มีความสามารถเพิ่มขึ้น แต่เมื่อถังน้ำนั้นเก่าแก่บางทีก็รั่วบ้าง บางทีก็เก็บน้ำไม่ได้ หรือบางทีก็ล้นไปบ้างคนเราก็เหมือนกัน เวลาอายุมากขึ้นก็เหมือนถังน้ำที่เก่าแก่ บางทีอะไรต่ออะไรเข้ามา มันก็เก็บไม่อยู่ เห็นอะไรมาก็ลืม มีอะไรที่ควรจะจําไว้ก็จําไม่ได้ นานๆ ไปถังน้ำ มันก็จะรั่วยิ่งขึ้น ฉะนั้นก็จะต้องระวัง ในการซ่อมแซมและปะให้ถังน้ำนั้นอยู่ดีไม่รั่วมากเกินไป....เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดคิดขึ้นหรือควรพูดว่าได้ข้อมูลมาเกี่ยวกับเรื่องเรื่องหนึ่งซึ่งเขาเดือดร้อนกันทั่วโลกคือ ความเดือดร้อนที่ทุกคนจะต้องประสบแต่ไม่ใช่ทุกคนจะรู้ แล้วคนที่รู้ บางทีก็โวยวาย ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นมากปัญหานี้เคยได้พูดถึงที่อื่นมาแล้วเกี่ยวข้องกับสภาพสิ่งแวดล้อมของโลกซึ่งกำลังวุ่นวายกันมาก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งผู้น้อย ทั้งผู้ที่อยู่ในทวีปยุโรป อเมริกา เอเชียก็พูดกันทั้งนั้น คือปัญหาว่าสิ่งแวดล้อมจะทำให้โลกนี้เปลี่ยนแปลงไป

....บางคนเขาบอกว่า ฝรั่งมาชี้หน้าและพูดว่า “นี่ บางกอกนี่ก็จะอยู่ใต้ทะเลภายในไม่กี่ปีน้ำก็ท่วม” ความจริงเราก็รู้อยู่แล้วว่ากรุงเทพฯ น้ำท่วม แต่เขาบอกว่า น้ำจะท่วมจากทะเลเพราะว่าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเขาบอกว่าเพราะว่ามีสารคาร์บอนขึ้นไปในอากาศมาก จะทำให้เหมือนเป็นตู้กระจกครอบ แล้วโลกนี้ก็จะร้อนขึ้นเมื่อโลกนี้ร้อนขึ้นมีหวังว่าน้ำแข็งจะละลายลงทะเล และรวมทั้งน้ำในทะเลก็จะพองขึ้นเพราะสิ่งของที่ร้อนขึ้นย่อมมีการพองขึ้น ปริมาตรก็มากขึ้น เมื่อน้ำพองขึ้นก็จะทำให้ที่ที่ต่ำ เช่นกรุงเทพฯ ถูกน้ำทะเลท่วม อันนี้ก็เป็นเรื่องเขาว่า ก็เลยสนใจว่าเรื่องเป็นอย่างไร จึงได้ข้อมูลว่าสิ่งที่ทำให้คาร์บอน (ในรูปคาร์บอนไดอ๊อกไซด์) ในอากาศเพิ่มมากขึ้น มาจากการเผาเชื้อเพลิงซึ่งอยู่ในดินและจากการเผาไม้....”

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบที่สำคัญต่อระบบนิเวศ (Ecosystem) ความหมายของระบบนิเวศคือความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในแหล่งที่อยู่อาศัย ณ ที่ใดที่หนึ่ง ความสัมพันธ์มี 2 ลักษณะ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิต และระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งมีชีวิตด้วยกันเอง โดยมีการถ่ายทอดพลังงานและสารอาหารในบริเวณนั้นๆ สู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อเกิดผลกระทบแล้วจะส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ต่อเศรษฐกิจและชุมชนวิกฤตโลกร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดคือกระทบต่อทรัพยากรน้ำทั่วโลกเพราะจะทำให้ฤดูกาลของฝนเปลี่ยนแปลงไป กระบวนการระเหยและการกลั่นตัวจะเร็วขึ้น หมายถึงว่า ฝนอาจจะตกบ่อยขึ้น แต่น้ำจะระเหยเร็วขึ้นด้วย ทำให้ดินแห้งเร็วกว่าปกติในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เป็นคนยากจนในแถบแอฟริกา ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ประเทศอุตสาหกรรม

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกทยอยกันประกาศยกเลิกและปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะนอกจากสร้างมลพิษแล้ว ยังส่งผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil) คือซากจากสมัยดึกดำบรรพ์ เป็นหมื่น เป็นแสนปี ซากสัตว์ ซากพืช ทับถมกัน กลายสภาพเป็นก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และถ่านหินประมาณ 2 ปีที่แล้วมีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558, COP 21 หรือ CMP 11 จัดในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน - 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เป็นสมัยประชุมประจำปีที่ 21 ของการประชุมภาคี (Conference of the Parties) กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะเข้าร่วมการประชุมระดับสูงในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เพื่อแสดงเจตนารมณ์อันแนวแน่ของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยจากการประชุมครั้งนั้นเรียกว่า“ข้อตกลง ณ กรุงปารีส/Paris Agreement” ผู้นำทั่วโลกมีข้อตกลงและเป้าหมายว่าจะรักษาระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากงานวิจัยใหม่ที่เพิ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำ วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ปัจจุบันนะจ๊ะhttp://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/2017GL073480/full ชี้ให้เห็นว่าจะเป็นเวลา 8 ปี หลังจากรายงานวิจัยนี้ถูกตีพิมพ์ อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกจะถึงระดับ 1.5องศาเซลเซียสตามเป้าหมาย แต่นักวิทยาศาสตร์อาวุโสบางท่านไม่เห็นด้วยกับงานวิจัยนี้ เพราะมีปัจจัยสำคัญที่ต้องพึงระวังปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาวะโลกร้อนเกิดจากมนุษย์ นับตั้งแต่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระบบและวิธีการผลิต คือ เปลี่ยนจากการใช้แรงงานคนและสัตว์มาเป็นเครื่องจักรกลที่สลับซับซ้อนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มนุษย์เป็นตัวการสร้าง และทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าธรรมชาติ ความสำคัญของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มหาตมะ คานธี ได้กล่าวไว้ว่า “โลกมีทรัพยากรเพียงพอสำหรับความจำเป็นของมนุษย์แต่ไม่เพียงพอสำหรับบางคนที่มีความโลภ” “Earth provides enough to satisfy every man's needs, but not every man's greed.” อย่างไรก็ตามมนุษย์มีความมหัศจรรย์พันลึก ต่างมี “ศาสนา” เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ทุกศาสนาสอนให้คิดดี ทำดี สอนให้มนุษย์ละเว้นจากความชั่วทั้งปวง แต่เมื่อ “ความโลภ” เข้ามาครอบงำจิตใจแล้ว การคิดดี ทำดี พากันกระเจิดกระเจิงกันไปหมด ศักยภาพในการตัดสินใจและการกระทำลดน้อยลง บางคนถูกสังคมว่าตราหน้าว่าโง่ บางคนถูกด่าว่าเห็นแก่ตัวและใจดำ และบางคนถูกด่าว่าบ้าเงิน แต่มนุษย์พวกนี้เมื่อถูกสังคมจับได้ ก็จะหาเหตุผลมาลบล้างความผิดของตัวเอง บ้างโกหก บ้างกล่าวหาผู้อื่น โดยที่ไม่คำนึงถึงการกระทำของตัวเอง ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุปัจจัยทั้งนั้น หรือ “กฎปฏิจจสมุปบาท” ซึ่งมีสาระโดยย่อดังนี้ “เมื่ออันนี้มี อันนี้จึงมี เมื่ออันนี้ไม่มี อันนี้ก็ไม่มี เพราะอันนี้เกิด อันนี้จึงเกิด เพราะอันนี้ดับ อันนี้จึงดับ” ตรงกับความเชื่อของฝรั่งที่ว่า “Everything happens for a reason./ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุผล” ทำลายธรรมชาติมนุษย์ด้วยกันและสัตว์เดือดร้อน, ตัดไม้เผาป่า ต้นไม้หมดไปและมลพิษในอากาศเพิ่มขึ้น, ไม่มีถ่านหินสะอาดเพราะถ่านหินเป็นฟอสซิล (Fossil) ซึ่งรวมทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเป็นฟอสซิล เมื่อมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงเหล่านี้จะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide) และเพิ่มปริมาณของก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ชั้นบรรยากาศมีความสามารถในการกักเก็บรังสีความร้อนได้มากขึ้น ผลที่ตามมาคือ อุณหภูมิเฉลี่ยของชั้นบรรยากาศที่เพิ่มขึ้นด้วย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นทุกวัน ทุกเดือน และทุกปี เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว หิมะตกในทะเลทรายของซาอุดีอาระเบีย ที่ประเทศแคนาดา ฤดูหนาวที่เพิ่งผ่านมา หิมะตกหนักสุดในเมืองแวนคูเวอร์ในรอบ 30 ปี โดยทั่วไปเดือนมกราคมที่เมืองนี้ เป็นเดือนฝนตก นอกจากเมืองแวนคูเวอร์แล้ว เมืองอื่นในภูมิภาคเดียวกันก็อยู่ในสถานการณ์คล้ายกัน ดอกแดฟโฟดิล (ดอกดารารัตน์) ปกติแล้วบานในเมษายน แต่ปีนี้บานปลายเดือน 1 ดอก เริ่มพฤษภาบานเพิ่มมาอีก 2 ดอก เพื่อนเพจเฟซบุ๊กท่านหนึ่ง อาศัยในวอชิงตัน ดี.ซี. เพิ่งส่งภาพดอกแดฟโฟดิล (ดอกดารารัตน์) หลงฤดูมาให้ชม อากาศแปรปรวนทำให้ดอกไม้งงงวย..แถวบ้าน นกที่มาอาศัยพึ่งพาอาหารตอนช่วงฤดูหนาว ทุกปีพวกเขาอยู่ถึงประมาณกลางเดือนมีนาคม แต่ปีนี้เดือนพฤษภาคมเขายังคงแวะมากินอาหารฟรีที่ห้อยไว้ใต้ต้นไม้ แสดงว่าแม้แต่นกก็งงงวยกับอากาศเช่นกัน น้ำในคลองระบายเต็มตลิ่ง น้ำจากบนภูเขาหลังจากหิมะละลาย กลางเดือนพฤษภาคมแล้วดอกแดฟโฟดิล (ดอกดารารัตน์) บานสะพรั่งกันทุกต้นแล้ว ผิดกับดอกทิวลิป บางบ้านไม่มีโอกาสที่จะเบ่งบานกับเขา เพราะถูกพวกกวางกินดอกทิวลิป รวมทั้งใบอ่อนด้วย อาจจะสงสัยกัน ดอกไม้สีเหลืองสุดสวย กลีบดอกตรงกลางเป็นรูปกระดิ่งน่ารัก ทำไมกวางจึงไม่กินดอกแดฟโฟดิล (ดอกดารารัตน์) ทำไมกวางจึงเมินเพราะว่าต้นแดฟโฟดิลทั้งหมดรวมทั้งดอกมีพิษต่อทั้งคนและสัตว์ กินแล้วท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย แต่ไม่ทำให้เสียชีวิต สัตว์ทั้งหลายเขารู้ดีกันเชียวเกี่ยวกับต้นไม้ใบหญ้า แบบไหนกินได้และกินไม่ได้ จึงคิดว่าใครก็ตามที่ออกแบบโลกใบนี้ ออกแบบชีวิต ออกแบบธรรมชาติ เขาทำด้วยความรักและความเมตตา

ต้นแดฟโฟดิล (ดารารัตน์) เป็นไม้หัว (bulb) ถูกจัดเป็นไม้ยืนต้น (Perennial plant) ถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปยุโรปตอนใต้และทวีปแอฟริกาตอนเหนือมีมากหลากหลายพันธุ์ ในประเทศสเปนและประเทศโปรตุเกสเป็นดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ดอกแดฟโฟดิลมีชื่อพฤษศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ว่า Narcissus/นาร์ซิสซัส เป็นภาษาละตินใช้เป็นชื่อสกุล (Generic name) สำหรับต้นแดฟโฟดิลทุกพันธุ์คำที่สองเป็นชื่อระบุพันธุ์ (Specific Epithet) เช่น Narcissus pseudonarcissus คือดอกแดฟโฟดิลป่าและอีกชื่อ Lent lily (แปลเข้าใจง่ายว่าดอกลิลลี่ถือศีล) กลีบรอบนอกสีเหลืองอ่อนจนเกือบขาว ดอกรูปแตรตรงกลางสีเหลืองเข้ม ดอกแดฟโฟดิลสีเหลืองทั้งดอกที่รู้จักกันทั่วไปและมีกลิ่นหอมชื่อ Narcissus jonquilla 'quail'

ดอกแดฟโฟดิล (ดอกดารารัตน์) เป็นดอกไม้ทรงโปรดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระราชทานให้กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถอยู่เสมอ เมื่อครั้งยังทรงศึกษาและประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตอนนี้หน่วยงานต่างๆ และเอกชน สอนทำดอกไม้จันทน์ (ดอกดารารัตน์/ดอกแดฟโฟดิล) ในสถานที่ต่างๆ เช่น อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้สถาบัน/สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดฝึกอบรมการทำดอกไม้จันทน์ (ดอกดารารัตน์/ดอกแดฟโฟดิล) ในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ พร้อมกันทั่วประเทศ จำนวน 109 รุ่น เพื่อถวายในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชระหว่างวันที่ 25 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ผู้ที่สนใจฝึกอบรมการทำดอกดารารัตน์ สามารถติดต่อได้ที่สถานที่ฝึกของศูนย์ช่างประจำชุมชนเทิดไท้องค์ราชัน ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ รวม 85 แห่ง
http://bit.ly/2pdOYg3พระราชดํารัส
http://unfccc.int/paris_agreement/items/9485.php
http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/2017GL073480/full
กำลังโหลดความคิดเห็น