คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
------------------------------------------------------------------------------------
ปัญหาหนึ่งในวงการวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการวิทยาศาสตร์ก็คือ ปัญหาการสื่อสารเรื่องราวที่ตนเองศึกษาให้สาธารณะได้เข้าใจ นอกจากความยากในเนื้อหาแล้ว ยังมีศัพท์เฉพาะที่คนนอกวงการไม่ค่อยจะคุ้นเคยด้วยบทความที่ผมเขียนเองก็ถูกวิจารณ์ว่าเข้าใจยาก เพราะมีตัวเลข และกราฟมากเกินไป ผมขอน้อมรับ และได้พยายามเตือนตัวเองอยู่เสมอ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำไปปฏิบัตินะครับ
ผมยังจำคำพูดของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ว่า “ทุกอย่างควรจะทำออกมาในรูปที่ง่ายๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ต้องไม่ง่ายไปกว่านี้(Everything should be made as simple as possible, but not simpler.)”
ผมว่าในส่วนแรกของคำพูดนี้ก็พอจะเข้าใจกันดีหรอก แต่ในส่วนหลังที่ว่า “แต่ต้องไม่ง่ายไปกว่านี้” นี่สิครับผมว่าเป็นคำเตือนที่นำไปใช้ปฏิบัติจริงได้ไม่ง่ายเลย เพราะถ้ามันง่ายไปกว่านี้มันจะสูญเสียสาระสำคัญหรืออาจจะกลายเป็นคนละเรื่องกันเลยก็ได้
งานการสื่อสารจึงเป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์ ซึ่งผมจะไม่ขอลงรายละเอียดในที่นี้ แต่จะขอยกตัวอย่างจากการสื่อสารเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของนักวิทยาศาสตร์ระดับรองศาสตราจารย์ท่านหนึ่ง คือ Dr.Kimberly Nicholas แห่งมหาวิทยาลัย Lund ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ร่วม 400 ปีของประเทศสวีเดน
ผมพบเอกสารนี้โดยบังเอิญ เธออธิบายเรื่องที่คนทั่วไปยังสับสน และเข้าใจยากโดยการใช้ภาษาอังกฤษแบบพื้นๆ ง่ายๆ แต่สามารถเข้าใจได้ และมีพลังมาก เธอตั้งชื่อว่า “พื้นฐานวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ (Climate Science Basics)” มี 5 ประการดังนี้ คือ
1.มันกำลังร้อนขึ้น (It’s warming.)
2.มันเกี่ยวกับเรา (It’s us.)
3.เรามั่นใจ (We’re sure.)
4.มันเป็นสิ่งที่เลว (It’s bad.)
5.เราสามารถแก้ไขได้ (We can fix it.)
ผมไม่แน่ใจว่า พื้นฐานวิทยาศาสตร์ 5 ประการดังกล่าวนี้ ได้ออกมาก่อน หรือหลังที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศจะถอนตัวจากข้อตกลงปารีส (หมายเหตุ ตามระเบียบของข้อตกลงปารีส ประเทศใดจะถอนตัวจะต้องแจ้งล่วงหน้า 1 ปี และต้องรอการพิจารณาอีก 3 ปี จึงจะทำให้คำประกาศถอนตัวนั้นมีผล ดังนั้น สหรัฐอเมริกาจะถอนตัวได้จริงก็หลังสมัยประธานาธิบดีท่านนี้เท่านั้น)
ขอเริ่มต้นที่ข้อที่ 3 ที่ว่า “เรามั่นใจ” พบว่า หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ที่ชื่อ IPCC ได้ทำรายงานครั้งแรกเมื่อปี 1990 หรือเมื่อ 27 ปีมาแล้ว มีสาระสำคัญว่า “อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้สูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 0.3-0.6 องศาเซลเซียส ด้วยสาเหตุที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของมนุษย์”
ไหนๆ ก็พูดถึงผลงานของ IPCC ที่ได้ทำให้เราได้รับรู้ “สิ่งที่เลวต่อชาวโลก” กันแล้ว ยังมีสิ่งที่แย่กว่านั้นอีกคือ วารสาร “Scientific American” ได้เปิดเผยว่า “บริษัท Exxon Mobil ได้รับรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเกือบ 40 ปี คือ ก่อนที่สาธารณะจะรับรู้ถึง 11 ปี” (เขียนโดย Shannon Hall, https://www.scientificamerican.com/article/exxon-knew-about-climate-change-almost-40-years-ago/) แต่บริษัท Exxon Mobil ได้ปิดเรื่องนี้ไว้เป็นความลับไม่ให้สาธารณะได้รับรู้
นอกจากนี้ บริษัท Exxon Mobil ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ยังให้ทุนแก่ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวว่า เรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องไม่จริงตลอดมา
ต่อมา ในปี 1995 IPCC ได้ออกรายงานฉบับที่ 2 แล้วได้เสนอแนะต่อองค์การสหประชาชาติ ว่า “โลกร้อนเป็นภัยคุกคามที่มองเห็นได้ ซึ่งมนุษย์จะต้องรับผิดชอบ” แต่เชื่อไหมครับ อีก 5 ปีต่อมา คือ ในปี 2000 องค์การสหประชาชาติ ได้เสนอเป้าหมายการพัฒนาให้ชาวโลกนำไปเป็นกรอบในการพัฒนาประเทศในช่วงปี 2000-2015 ที่ชื่อ “Millennium Development Goals (เป้าหมายการพัฒนาในสหัสวรรษ)” โดยไม่มีการเอ่ยถึงปัญหาโลกร้อนแม้แต่นิดเดียว ไม่มีเลยครับ
นี่คือปัญหาที่ชาวโลกเราไม่ค่อยได้รับรู้กัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าประเทศมหาอำนาจที่กุมสภาพองค์การสหประชาชาติตลอดมาก็อยู่ภายใต้อาณัติของบริษัทพลังงานฟอสซิลเกือบทั้งหมด
นอกจากนี้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ที่เพิ่งกำหนดออกมาใหม่ และใช้เป็นแนวปฏิบัติในช่วง 2015-2030 ก็ยังมีสิ่งที่ไม่ค่อยจะชอบมาพากลอยู่ โอกาสดีๆ ผมจะวิเคราะห์ให้ฟัง ตอนนี้ขอกลับมาที่ “พื้นฐานวิทยาศาสตร์ 5 ประการ (ฉบับแหวกแนว) เรื่องโลกร้อน”
ผมได้กล่าวถึง ข้อที่ 3 คือ “เรามั่นใจ” พร้อมกับได้แถมเรื่องความไม่ตรงไปตรงมาของบริษัท Exxon และองค์การสหประชาชาติต่อไปจะกล่าวถึงข้อที่ 1 และ 5 ครับ
ในข้อที่ 1 ที่ว่า “มันกำลังร้อนขึ้น” จากรายงานของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่มีชื่อย่อว่า NOAA ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า“ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2017 อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศบนบก และมหาสมุทรสูงขึ้นอย่างที่ไม่ได้คาดหมาย ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องตกใจ” (ดูกราฟประกอบอีกแล้ว!)
โดยสรุปก็คือ ในปี 2017 โลกร้อนขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา ยกเว้นปี 2016 ที่มีปรากฏการณ์เอลนีโญชนิดรุนแรงเข้าร่วมด้วย และร้อนขึ้นกว่าอย่างต่อเนื่องมา 40 ปี เมื่อเทียบในยุคก่อนอุตสาหกรรม
อ้อ ผมมีข้อมูลมาแถมนิดหนึ่งว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของชาวโลกมีจำนวนคงที่ (ย้ำว่า แค่คงที่ แต่ไม่ได้ลดลง) ดังนั้น ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี อุณหภูมิของโลกจึงต้องสูงขึ้นตาม
ข้อที่ 5 “เราสามารถแก้ไขได้” เรื่องนี้มีความสำคัญมากครับ เพราะถ้าสังคมไม่มีความเชื่อมั่นว่าเราสามารถแก้ไขได้แล้ว จิตใจของสังคมก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นความเชื่อว่าปัญหานี้แก้ไขไม่ได้หรอก ไม่มีอนาคต จนเกิดความเฉื่อยชาต่อปัญหาร่วมที่อันตรายยิ่งของโลก ดังนั้น สังคมส่วนใหญ่จึงใช้ชีวิตไปวันๆ หนึ่งเท่านั้น ในทางกลับกัน ถ้าสังคมสามารถเข้าใจภาพรวมที่ถูกต้องได้ สังคมก็จะสร้างพลังของตนออกมาเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่สำคัญของพวกเขา
ดร.เฮอร์มานน์ เชียร์ อดีตประธานสมาคมพลังงานแสงอาทิตย์ของยุโรป ได้กล่าวเมื่อ 8 ปีก่อนที่จะเสียชีวิตว่า “อย่าปล่อยให้สังคมอยู่ตามลำพังกับสถานการณ์ที่อันตราย มีความจำเป็นที่จะต้องทำให้สังคมมีทัศนคติที่ถูกต้อง และรอบด้าน นั่นคือ มีความจำเป็นที่จะต้องแสดงให้สังคมเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่จะแทนที่พลังงานฟอสซิลด้วยพลังงานหมุนเวียนนี่คือความท้าทาย”
มาถึงวันนี้ ครึ่งแรกของปี 2560 ผ่านไป เราได้เห็นภาพ 2 ด้านที่ชัดเจน และมีหลักฐานอ้างอิง
ด้านหนึ่ง อุณหภูมิของโลกยังคงสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ต้องตกใจ แม้ชาวโลกจะร่วมกันยึด และปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสคือร่วมกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ต้องลดมากกว่านี้ จนต้องหยุดการปล่อยอย่างถาวรตลอดไปภายในประมาณปี 2070 ถ้าเดินตามหนทางนี้อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นประมาณ 2 องศาเซลเซียสในปี 2100 (เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม)
ด้านที่สอง พลังงานหมุนเวียน เช่น แสงแดด ลม รวมทั้งแบตเตอรี่เพื่อเก็บไฟฟ้าไว้ใช้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง กำลังมีราคาลดลงแต่ประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างมาก และรวดเร็ว จนทำให้ต้นทุนต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตเองต่ำกว่าค่าซื้อไฟฟ้าจากสายส่งในพื้นที่ส่วนมากของโลกแล้ว นอกจากนี้ ยังสามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็วนับเป็นวัน ไม่ใช่ 7 ปีเหมือนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ต้องใช้น้ำหล่อเย็น และไม่ปล่อยมลพิษ
ล่าสุด ผลงานวิจัยของกรมพลังงาน ของสหรัฐอเมริกา ออกมาว่า ไฟฟ้าที่ผลิตจากลมและแสงแดดไม่ทำให้คุณภาพของไฟฟ้าในระบบสายส่งต้องด้อยลง หรือไม่ก่อปัญหาใดๆ นอกจากนี้ ยังพบว่าการใช้ถ่านหิน และนิวเคลียร์เป็นโรงไฟฟ้าหลัก หรือ baseload ก็ไม่มีความจำเป็นเหมือนในอดีต (เรื่องนี้ผมเคยเขียนถึงหลายครั้งแล้ว)
เมื่อสังคมได้ทำความเข้าใจต่อสองภาพนี้อย่างจริงจังแล้ว ผมเชื่อว่าสังคมจะมีความเชื่อมั่น มีพลัง และขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมที่อันตรายของโลกเราได้อย่างแน่นอน
วาทกรรมที่ “ถ่านหินสะอาด พลังงานแสงแดด ลม มีน้อย ไม่เสถียร แพง และเป็นไฟฟ้าหลักไม่ได้” มิอาจปิดกั้นความจริงที่ธรรมชาติได้จัดสรรมาให้แล้ว ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร และเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนได้มาบรรจบกัน และเสริมพลังกันแล้ว
ถ้าพูดตามแบบฉากสุดท้ายของหนังไทยในอดีตก็น่าจะได้ว่า “วางอาวุธ ตำรวจได้ล้อมไว้หมดแล้ว” แต่ถ้าพูดให้ทันยุคสมัยก็น่าจะได้ว่า “ทางรอดของมนุษย์ คือการปรองดองกับธรรมชาติด้วยการใช้พลังงานชนิดเดียวกับที่ธรรมชาติใช้ นั่นคือ พลังงานจากแสงอาทิตย์”
ภาพข้างล่างนี้เป็นของแถมเพื่อตอกย้ำความมั่นใจครับ ขอบคุณเพื่อนในเฟซบุ๊กจากเยอรมนีครับ