xs
xsm
sm
md
lg

5 สิ่งจำเป็นที่ต้องรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

วันนี้ผมจะเขียนให้สั้นประมาณครึ่งหนึ่งของปกติครับ ท่านที่เป็น “โรคกลัวกราฟ” ก็สามารถอ่านข้ามไปได้เลยโดยไม่สูญเสียสาระสำคัญ ผมนำมาใส่ไว้ก็เพื่อเป็นหลักฐานและการค้นคว้าเพิ่มเติมสำหรับบางท่านเท่านั้น เรื่องที่นำมาเขียนก็กำลังอยู่ในกระแสและเป็นเรื่องใกล้ตัวครับ

หนึ่ง ความรับผิดชอบต่อโลก ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำรัสเรื่องสิ่งแวดล้อมโลกตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2532 โดยพระองค์ท่านได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างละเอียดยิบ พร้อมกับทรงสอนว่า “เราจึงต้องมีความรับผิดชอบในโลกมากขึ้น ทั้งนี้ก็เชื่อว่า เป็นความดีของประเทศไทยถ้ามีความดีแล้วต้องรักษาความดี”

ในปีถัดมารัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันสิ่งแวดล้อมไทย” แต่จะถือว่ารัฐบาลไทยมีความรับผิดชอบต่อโลกตามพระราชดำรัสหรือไม่ ยังตอบไม่ได้จนกว่าจะเห็นภาคการปฏิบัติจริงของรัฐบาล ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องร่วมกันติดตามตรวจสอบครับ

สอง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นในอัตราเร่งคือไม่ได้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น เพิ่มจาก 2 เป็น 3 ,4, 5 แต่เกิดขึ้นใน “อัตราเร่ง” เช่น จาก 2 เป็น 4, 8, 16 ทั้งในส่วนที่เป็นสาเหตุ และผลกระทบที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ครับ ถ้าเราไม่เข้าใจปรากฏการณ์ให้ถูกต้องตามที่ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว เราก็จะไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ถูกต้อง ไม่มีมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาให้ทันหรือแก้ไม่ได้เลย

สาม ชั้นบรรยากาศโลกไม่ได้ใหญ่พอที่จะซับอากาศเสีย จักรวาลมีความกว้างใหญ่ไพศาลก็จริง แต่ชั้นบรรยากาศของโลกเราบางนิดเดียว คือสูงแค่ประมาณ 100 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเลเท่านั้น อากาศที่มนุษย์ 7,500 ล้านคนใช้หายใจเข้า-ออกและเผาไหม้พลังงานก็จะถูกขังอยู่ในชั้นบรรยากาศนี้ ความร้อนที่มาจากดวงอาทิตย์ก็ถูกขังอยู่ในนี้เช่นกันคุณแอลกอร์บอกว่า แต่ละวันปริมาณความร้อนที่เพิ่มขึ้น เท่ากับปริมาณความร้อนจากระเบิดนิวเคลียร์ที่ลงเมืองฮิโรชิมาถึง 1 แสน 4 หมื่นลูกทุกวัน

ศาสตราจารย์สตีเฟน ฮอว์คิง นักวิทยาศาสตร์ที่ชาวโลกยกย่องว่าเก่งที่สุดในปัจจุบัน กล่าวว่า “เรามีเทคโนโลยีที่จะทำลายโลกที่เราอาศัยอยู่ แต่เรายังไม่ได้พัฒนาความสามารถที่จะหนีออกไปจากโลกใบนี้ บางทีในอีกสักสองสามร้อยปีข้างหน้า เราอาจจะมีดาวดวงอื่นสักดวงเป็นเมืองขึ้นของโลก แต่ในปัจจุบันนี้เรามีแค่โลกใบเดียว ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องร่วมมือกัน ทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องโลกใบเดียวของเรา”

สี่ พลังงานฟอสซิลแพงกว่าพลังงานหมุนเวียนแล้ว แนวความคิดที่ว่า “การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเกิดจากการใช้พลังงานฟอสซิลด้วยการหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศยากจน จะทำให้ค่าพลังงานแพงขึ้น”
เป็นแนวความคิดที่ได้ตกยุคไปแล้วครับไม่เป็นความจริงแล้ว เพราะด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้ทำให้ต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนถูกกว่าพลังงานฟอสซิลแล้ว โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาถูกกว่าพลังงานจากถ่านหินอย่างน้อยก็ใน 30 ประเทศทั่วโลกแล้ว

นอกจากนี้ พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เพราะทุกคนได้รับเกือบเท่ากัน สามารถลดความเหลื่อมล้ำ และลดการสูญเสียพลังงานได้ดีที่สุด พลังงานที่สูญเสียในระบบไม่ถึง 10% ในขณะที่การใช้ถ่านหินซึ่งเป็นพลังงานที่รวมศูนย์และผูกขาดจะสูญเสียจากการต้มน้ำอย่างเดียวถึง 60% นอกจากนี้ยังสามารถจ้างงานได้มากที่สุดด้วย

ภาพข้างล่างนี้ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงานในภาคพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐอเมริกาว่า เมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมามีมากกว่าในภาคเหมืองถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ

ในปี 2559 ประเทศเยอรมนีสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และชีวมวลรวมกันถึง 89,000 ล้านหน่วย (http://www.volker-quaschning.de/datserv/ren-Strom-D/index_e.php) ใกล้เคียงกับที่ประเทศไทยต้องซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ ประเทศลาว

ทั้งๆ ที่ประเทศเยอรมนีมีพลังงานแสงอาทิตย์และชีวมวลน้อยกว่าประเทศไทยเสียอีก ทั้งราคาที่รัฐบาลเยอรมนีรับซื้อจากบริษัทผู้ผลิตก็ยังต่ำกว่าที่ประเทศไทยรับซื้อไม่เชื่อก็ดูหลักฐานครับ

ห้า สาเหตุหลักของปัญหาคือพลังงานฟอสซิล

จากแผ่นภาพข้างล่างนี้ เราจะพบว่า การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นปัจจัยที่มากที่สุด คือเฉลี่ยปีละ 34,100 ล้านตัน (ในปี 2015 ปล่อย 35,700 ล้านตัน) ในขณะที่การใช้ประโยชน์จากที่ดินมีเพียงประมาณ 1 ใน 10 ของปัจจัยแรกเท่านั้น นอกจากนี้ ความสามารถในการดูดซับของพืชบนบกทั้งหมดได้เพียงประมาณ 1 ใน 3 ของปัจจัยแรกเท่านั้น

ดังนั้น ยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาที่ถูกต้องจึงอยู่ที่การลดปัจจัยหลักซึ่งใหญ่ที่สุด และการเพิ่มพืชบนบกไปพร้อมกัน

แต่ถ้าไม่มีการลดการปล่อยก๊าซลงเลย ก็ต้องให้มีการเพิ่มพืชบนบกขึ้นมาเป็น 3 เท่าตัวจึงจะสามารถทำให้ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เพิ่มขึ้นได้ ถ้าเป็นเช่นนี้จริง อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจึงจะหยุดอยู่กับที่ ไม่สูงขึ้นอีก ซึ่งในปัจจุบันสูงกว่าประมาณ 0.9 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม

การแก้ปัญหาโดยการเพิ่มพืชบนบกมาเป็น 3 เท่าตัว ทำไม่ได้แน่นอนทางเดียวคือการลดการปล่อยก๊าซ และการหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งนอกจากจะเป็นการลดโลกร้อน ลดมลพิษ และราคาถูกกว่าแล้ว ยังเป็นการเพิ่มตำแหน่งงาน เป็นการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำด้วย

กล่าวเฉพาะประเทศไทย นโยบายรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่จะ “ทวงคืนผืนป่า” ถ้าอ้างว่าต้องการทำเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็เป็นเรื่องเกาไม่ถูกที่คัน เพราะต่อให้เพิ่มพื้นที่ป่าขึ้นอีกสองเท่าตัวก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ความพยายามในการลดปัญหาโลกร้อนได้เกิดขึ้นมานานกว่า 30 ปีแล้ว แต่ก็ล้มเหลวมาตลอด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเราไม่มีเทคโนโลยีอื่นมาแทนพลังงานฟอสซิล แต่วันนี้เรามีแล้ว แม้กระนั้นก็ตาม ยังมีความพยายามจากผู้นำโลกบางส่วนที่ไม่ยอมทำความจริงให้กระจ่าง หยิบปัญหาเล็กๆ มาแก้ เช่น ให้คนถือถุงผ้า เพิ่มพื้นที่ปลูกป่า ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าไม่สามารถทำได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ละเลยปัญหาต่อปัญหาใหญ่ๆ จึงถือเป็นการทำให้พร่ามัว ให้คนสับสน แบบเดียวกับทหารทิ้งระเบิดควันเพื่อหลบหนีในสนามรบ

เมื่อพูดถึงการจ้างงาน เมื่อเร็วๆ นี้ ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดพบว่า ภายใน 25 ปี ตำแหน่งงานสำหรับคนจะหายไปถึง 47% ที่น่าเสียใจมากกว่านี้ก็คือ ยังไม่มีรัฐบาลของประเทศใดเตรียมรับมือกับเรื่องสำคัญนี้เลย

ผมขอฝาก 5 เรื่องสำคัญนี้ให้ภาคประชาสังคมช่วยกันขบคิดครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น