xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจขานรับ CSV ไม่ใช่โลกสวย ม.ฮาวาร์ด จัดหลักสูตร MBA เฉพาะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไมเคิล อี พอร์ตเตอร์ กูรูด้านกลยุทธ์การแข่งขัน ต้นตำรับแนวคิด CSV ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการของแนวคิด CSV ที่ขยายผล

•ธุรกิจโลกตอบรับยุทธศาสตร์การสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจและสังคม หรือ CSV มากขึ้น
•“ไมเคิล อี พอร์ตเตอร์” เผย 5 องค์กรธุรกิจที่เข้าร่วมใหม่ เกิดกรณีศึกษามากกว่า 800 เรื่อง
•ที่สำคัญมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ในปีการศึกษา 2016 เตรียมเปิดหลักสูตร MBA เรื่องนี้โดยตรง
•ถือเป็น “ปรากฏการณ์ของการเปลี่ยน” ที่เกิดขึ้นจริงในธุรกิจ โดยบทสรุปที่ประชุมยังเสนอ “การทำงานแบบสร้างมุ่งสร้างผลลัพธ์ร่วมกัน” เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อแปรผลแนวคิดไปสู่การปฏิบัติที่เห็นผลได้จริง

นักบริหาร นักวิชาการ และผู้รับผิดชอบงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการเพื่อสังคมในภาคส่วนต่างๆจากทั่วโลก รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ องค์กรภาคเอกชน องค์กรประชาสังคม สื่อมวลชน และตัวแทนเครือข่ายที่ปรึกษาด้าน CSV (Shared Value Initiative Affiliate) จากทั่วโลก เข้าร่วมประชุม Shared Value Leadership Summit 2016 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9-11 พฤษภาคม ค.ศ. 2016 ที่โรงแรมคอนราด นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา โดย Foundation Strategy Group : FSG (องค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรวมนักบริหารกลยุทธ์ธุรกิจสาขาต่างทั่วโลก เพื่อเป็นเครือข่ายข้อมูล ความรู้ และการแลกเปลี่ยนทางวิชาการของ Institute for Strategy & Competitiveness ซึ่งเป็นสถาบันในสังกัดของ Havard University) และ Shared Value Initiative ทั้งสององค์กรนี้ Michael E. Porter และ Mark R. Kramer เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง

ดร.สุนทร คุณชัยมัง (ที่สองจากซ้าย) ร่วมในที่ประชุม Shared  Value Leadership Summit  2016 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9-11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณโรงแรมคอนราด นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา
Changing the world just a good business คือ หัวข้อของวาระการประชุม โดยเริ่มด้วยการนำเสนอของ Porter ซึ่งได้กล่าวย้ำว่า แต่ละครั้งที่มาพูดในเวทีของ SV Leadership Summit เขาได้เห็นพัฒนาการของการขานรับแนวคิด CSV และความคืบหน้าของการแปรผลสู่การปฏิบัติเป็นลำดับและมากกว่าที่คาดหมายไว้ นับจากการประชุมเพื่อสอบทานข้อเสนอแนะทางทฤษฎีก่อนที่จะพิมพ์บทความ ในปี ค.ศ. 2011 ครั้งนั้น มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 20 องค์กร และมีเพียงงานวิจัยของ “Nestle” เป็นโมเดล

แต่มาถึงวันนี้มีบริษัทชั้นนำที่ประกาศใช้ CSV เป็นยุทธศาสตร์ธุรกิจเพิ่มอีก 5 องค์กร คือ Enel, Discovery Health, BD, CVS Health และ Whole Foods มีกรณีศึกษามากกว่า 800 เรื่อง มีการจัดประชุม และworkshop ไม่ต่ำกว่า 1,200 ครั้ง มีบทความทางวิชาการที่ศึกษาเรื่อง shared value มากกว่า 15,000 บทความ มีสถาบันการศึกษาทั่วโลกมากกว่า 470 แห่งที่ใช้เอกสารจาก Havard Business Review ไปประกอบการสอนเรื่องเกี่ยวกับ shared value ยิ่งไปกว่านั้น ในปี ค.ศ. 2014 Havard University ได้จัดหัวข้อนี้ เป็นหลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูง และในปีการศึกษา 2016 ก็จะเปิดหลักสูตร MBA ในเรื่องนี้โดยตรง

Porter ให้ข้อคิดเพิ่มเติมว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เขาพบพัฒนาการปรับตัวของธุรกิจโดยการตัดสินใจของเจ้าของธุรกิจและนักบริหารระดับสูงมากขึ้นเป็นลำดับ ในสหรัฐอเมริกา ก็มีตัวอย่างการริเริ่มในการสร้างโอกาสที่ดีถึง 100,000 โครงการ ซึ่งเป็นความร่วมมือของเครือข่าย ภาครัฐ และเอกชน ที่จัดตั้งองค์กรร่วมกันเพื่อกระตุ้นเยาวชนให้สนใจวางแผนการเตรียมตัวที่จะเข้าสู่ระบบแรงงานและธุรกิจต่างๆ นับว่าเป็นโครงการที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถค้นหาบุคลากรที่มีความสามารถได้ตรงกับงานและความต้องการ
ขณะเดียวกันเยาวชนก็ได้เข้าถึงโอกาสต่างๆสะดวกขึ้น และที่สำคัญไปกว่านั้น ก็คือ สถาบันการศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องได้นำเอาข้อมูลเชิงพฤติกรรมที่ค้นพบไปปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกันทั้งฝ่ายผู้เรียนและผู้สอน
เผยแนวคิด CSV ไม่ใช่เรื่องโลกสวยอีกต่อไป
Porter มีข้อสรุปที่สำคัญโดยชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการของแนวคิดว่าด้วย CSV ที่ขยายผล “การทำงานที่มุ่งสร้างผลลัพธ์ร่วมกัน” (Collective Impact) ใน 3 ด้านด้วยกัน คือ
1) Social Issues มีการนำเอาแนวคิด CSV ไปปรับใช้สำหรับการจัดการปัญหาของสังคมด้านการศึกษา ที่อยู่อาศัย และการพัฒนาแรงงาน
2) Regions มีองค์กรความร่วมมือเพื่อสนับสนุนงาน CSV ขึ้น 3 แห่ง ที่ออสเตรเลีย ชิลี และอินเดีย
3) Sectors มีการทำงานร่วมกันของผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจยาและเครื่องมือแพทย์ และธนาคาร รวมทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพ (Health) การขุดเจาะ สำรวจ และเหมืองแร่ (Extractives) และการขยายกรอบความเกี่ยวข้องของสถาบันการเงิน (Financial Inclusive)

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจ ระบบเศรษฐกิจ และสังคม นั้นเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่า CSV ไม่ใช่แนวคิดเชิงทฤษฎี ไม่ใช่งานในระดับกิจกรรมประกอบการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่เรื่องของ “โลกสวย” แต่เป็น “ปรากฏการณ์ของการเปลี่ยน” ที่เกิดขึ้นแล้วจริงในธุรกิจและกำลังผลิดอกออกผลอยู่ในธุรกิจเศรษฐกิจ และสังคม หลายภาคส่วน
ที่ประชุม SV Leadership Summit 2016 ได้ร่วมเสนอประเด็นว่าด้วย “การทำงานแบบมุ่งสร้างผลลัพธ์ร่วมกัน” หรือ Collective Impact ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการแปรผลจากแนวคิดไปสู่การปฏิบัติของ CSV เป็นหัวข้อสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในห้องประชุมย่อย เพื่อทำความเข้าใจในรายละเอียดของการทำงานร่วมกันขององค์กร ที่มีหลากหลายประเภท ขณะเดียวกันก็มีพันธะกิจร่วมกัน ที่จะต้องบรรลุผลสำเร็จตามเวลาที่กำหนด จึงเท่ากับว่า Collective Impact เป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่ ทั้งสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและบริหารงานให้เกิดประสิทธิภาพไปพร้อมกัน

เครื่องมือ Collective Impact
ข้อสรุปจากการศึกษาของ Mark R. Kramer และ John Kania ชี้ให้เห็นว่า การจัดการแก้ไขปัญหาของสังคม การบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ล้วนแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกองค์กรร่วมอยู่ด้วย จะอาศัยเครื่องมือของการบริหารที่มีเพียงแค่การสำรวจข้อมูล การรับฟังความคิดเห็น หรือการปรึกษาหารือเป็นเบื้องต้นแล้วกลับมาตัดสินใจดำเนินการโดยองค์กรตามลำพัง นั้น ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาของสังคม ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน และสะสมมายาวนานได้
ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองระบุว่า จะต้องยกระดับประสิทธิภาพของความร่วมมือพร้อมๆกับการสร้างความร่วมมือข้ามภาคส่วน (Cross-Sector Collaboration) โดยมีเงื่อนไข 5 ประการ คือ 1) การกำหนดวาระสำคัญร่วมกัน 2) การสนับสนุนมาตรการการทำงานร่วมกัน 3) การสนับสนุนกิจกรรมซึ่งกันและกัน 4) การสื่อสารอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ commitment ระหว่างตัวแทนขององค์กรกับผู้บริหารองค์กร 5) การจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อสนับสนุนประสานงาน

ในปีนี้ การเสวนาในหัวข้อต่างๆ บนเวที มีทั้งความหลากหลายและน่าตื่นเต้นมากกว่าทุกปี เพราะ ผู้จัดงานได้เน้นการแปรผลสู่การปฏิบัติ การยืนยัน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการหาทางออกร่วมกันตามแนวคิด Collective Impact จึงได้พบกับตัวแทนขององค์กรต่างๆ ไม่ว่าเป็น Dr.Jim Yon Kim ประธานกลุ่มธนาคารโลก Lise Kingo ผู้อำนวยการบริหารของ UN Global Compact (ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการรณรงค์เรื่อง Sustainable Development Goals หรือ SDGs ในปัจจุบัน ซึ่งขึ้นเวทีพร้อมกับบริษัทที่ประกาศตัวขานรับ SDGs คือ Coca Cola, Novazymes, CJ Group, Mahindra Group และ Cemex) มีตัวแทนขององค์กรเครือข่ายอื่นที่เข้าร่วมอีก 2 แห่งคือ Conscious Capitalism และ Ceres มีตัวแทนของสื่อมวลชนชื่อดังจาก The Forbs และ New York Times รวมทั้งนักวิชาการด้านกิจการเพื่อสังคมหรือความยั่งยืนจากรั้วมหาวิทยาลัยทั้งจาก Havard Kenedy School และ NYU Stern school of business

Svein Tore Holsether (ซ้ายสุด)
ความคืบหน้า CSV ในเวทีเอเชีย
บนเวทีเดียวกัน จากฟากฝั่งเอเชีย นอกจากมี CJ Group จากเกาหลีใต้ ก็มี Ayala Corporation จากฟิลิปปินส์ (ทั้งสองบริษัทเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่เป็น Conglomerate Company ในลักษณะเดียวกับ CP Group หรือ TCC Group ของไทย) แล้วยังมี เรื่องเล่าของ Svein Tore Holsether ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบริษัท Yara International (ผู้จำหน่ายปุ๋ยตราเรือใบ) ที่พูดถึง การริเริ่มงานการส่งเสริมคุณภาพการใช้ปุ๋ยเพื่อปรับปรุงผลผลิตและยกระดับรายได้เกษตรกร /การแก้ไขปัญหาการใช้ปุ๋ยโดยไม่มีความรู้ ควบคู่ไปกับการสร้างยอดขาย ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการในเมืองไทย เป็นตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนทิศทางธุรกิจของบริษัทไปสู่การสร้างคุณค่าร่วม - Transforming Natural Resources Industries through Shared Vaue ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าติดตามและนำมาเป็นกรณีศึกษา

รายงานพิเศษโดย ดร.สุนทร คุณชัยมัง กรรมการเครือข่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น