เชียงใหม่ - พบพ่อค้าขายของชำชาวเชียงใหม่ เป็นคุณพ่อยอดนักประดิษฐ์ นำวัสดุเหลือใช้ทำหุ่นยอดมนุษย์ให้ลูก พอลูกไม่เล่นก็เอามาตั้งขายมากกว่า 100 ตัว ทั้งฝรั่งนักท่องเที่ยว วัยรุ่นคนผ่านทางติดต่อขอซื้อเป็นประจำ แถมทำหุ่น “ในหลวง-พระราชินี-ร.5-พระองค์ดำทรงช้าง” ตั้งไว้บนหิ้งด้วย
วันนี้ (3 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักท่องเที่ยวรวมถึงผู้คนที่เคยเดินทางผ่านเข้าออกซอยหลังวัดอุโมงค์ ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ จะพบว่า ที่ร้านขายของชำเล็กๆ แห่งหนึ่งมีหุ่นที่ประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้หลากรูปลักษณ์ ขนาด ตั้งเรียงรายในร้านกว่า 100 ตัว และมีหุ่นตัวใหญ่ขนาดเท่าคนจริง สูงราว 160 ซม.ตั้งไว้ในและหน้าร้าน จนหลายคนอดแวะถามไถ่ขอซื้อไม่ได้
นายสมศักดิ์ นนทการกิจ ชาวบ้านซอยหลังวัดอุโมงค์วัย 59 ปี เจ้าของร้านขายของชำ และหุ่นยนต์วัสดุเหลือใช้ดังกล่าว บอกว่า เมื่อปี 2544 ลูกชายอยากเล่นหุ่นยนต์ แต่มีราคาแพงถึงตัวละ 800 บาท จนเกิดแรงบันดาลใจอยากทำหุ่นยนต์ให้ลูกชายเล่น ซึ่งตนเองสมัยเด็กชอบดู และเล่นหุ่นยนต์อยู่แล้วจึงเริ่มทำเป็นตัวแรกโดยนำวัสดุเหลือใช้ทั้งแกลลอนน้ำมันเครื่อง ขวดนม ฝาน้ำอัดลม กล่องขนม ขวดน้ำดื่ม และสิ่งของที่เป็นพลาสติกที่ใช้แล้วนำมาประดิษฐ์เป็นหุ่นยนต์ของเล่นสำหรับเด็กๆ
แต่แม้จะทำออกมาสวย และใกล้เคียงของจริงลูกไม่เล่นจึงนำมาโชว์ไว้ จากนั้นก็เริ่มทำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นหุ่นยอดมนุษย์ หรือจินตนาการขึ้นมาเอง จึงเก็บสะสมไว้ในร้าน จนมีกลุ่มวัยรุ่น และนักท่องเที่ยวผ่านมาเห็นก็ขอซื้อ แรกๆ ก็ไม่ขาย แต่พอมีจำนวนมากขึ้นไม่มีที่เก็บจึงทยอยขายไปมากแล้ว ราคามีตั้งแต่ 200 บาท ไปจนถึงเกือบ 1,000 บาท แต่หุ่นตัวใหญ่ที่ตั้งไว้หน้าร้านมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาขอซื้อตัวละ 7,000 บาท แต่ยังไม่ขาย ต้องการเอาไว้โชว์ที่หน้าร้าน
นายสมศักดิ์ บอกว่า แต่ที่ภูมิใจที่สุดเป็นหุ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และหุ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะเสด็จทรงงาน มีกล้องถ่ายรูป-สมุดทรงงาน ซึ่งทำตั้งแต่เกือบ 10 ปีก่อน ช่วงที่ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เพื่อแสดงความจงรักภักดี โดยใช้เวลาทำนานกว่า 1 สัปดาห์ ทำออกมา 2 ชุด พอทำเสร็จแล้วก็เก็บรักษาไว้บนหิ้งในตู้กระจกอย่างดี 1 ชุด อีกชุดได้มอบให้เพื่อนไป นอกจากนี้ ยังมียังมีหุ่นรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงช้างด้วย
“เวลาทำต้องใช้สมาธิ และอารมณ์ หากอากาศร้อนก็ทำไม่ได้ ไม่มีสมาธิ และต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ ประดิดประดอย และออกแบบไป ปัจจุบัน ก็ยังทำอยู่ หากว่างๆ ก็จะหยิบวัสดุขึ้นมาทำ เป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ชิ้นงาน และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์”