xs
xsm
sm
md
lg

มาเลเซียจ่อขึ้นแท่น Green Technology Hub

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บรรดาชาติในอาเซียนที่ได้รับการยกย่องให้มีความก้าวหน้า และเป็นต้นแบบของประเทศที่พัฒนางานด้านกรีนมากมาย หลายคนอาจจะนึกถึงสิงคโปร์ เพราะเป็นประเทศที่ประกาศตนเองเป็น Green Country
แต่ในตอนนี้ที่มาแรง และกำลังขึ้นแท่นกรีนอีกประเทศหนึ่ง คือ มาเลเซีย ซึ่งเพิ่งประกาศตัวจะขึ้นแท่น Green Technology Hub แห่งภูมิภาคนี้ด้วย
หลังจากที่มาเลเซียประสบความสำเร็จไปแล้วจากการจัดงาน the International Greentech and Eco Product Exhibition and Conference ครั้งที่ 5 เมื่อกลางปีนี้
การตอบรับการจัด Conference ตั้งแต่ปี 2010 เป็นไปด้วยดีมาตลอด เพราะมีกิจการประเภทกรีนเทคโนโลยีเข้ามาร่วมในการดำเนินกิจการในมาเลเซียคิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 6 พันล้านดอลลาร์มาเลเซีย
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้เกิดการเติบโตของภาคธุรกิจกรีนเทคโนโลยีในมาเลเซียอย่างก้าวกระโดด จนมาเลเซียคิดจะทำการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมนี้ในระดับข้ามประเทศแล้ว โดยจัดให้มีการประชุม Conference ครั้งที่ 6 ในระหว่างวันที่ 9-12 กันยายนที่ผ่านมาซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกว่า 50,000 คน และ 400 ผู้ประกอบการจากกว่า 20 ประเทศ รวมทั้งผู้ประกอบการกรีน เทคโนโลยีชั้นนำจากหลายประเทศก็เข้าร่วม เช่น เยอรมนี สเปน เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสิงคโปร์ จึงถือว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการจัดประชุมครั้งใหญ่ที่สุดในอาเซียน
การประชุมครั้งที่ 6 นี้ รัฐบาลมาเลเซียได้วางธีมของงานไว้ว่าเป็น “Powering the Green Economy” โดยภาคธุรกิจที่เป็นเป้าหมายของการประชุมครั้งนี้คือ ผู้ประกอบการด้านพลังงาน การขนส่ง เทคโนโลยีด้านอาคาร การบำบัดและจัดการน้ำเสีย เป็นสำคัญ
กรีน เทคโนโลยีเป็นกลุ่มธุรกิจที่เน้นการพัฒนาเทคนิค วิธีการและวัตถุดิบ ที่เน้นการประหยัดพลังงานและผลิตภัณฑ์สะอาด ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันโลกมีความหวังว่ากรีน เทคโนโลยีจะสร้างความเปลี่ยนแปลงและเป็นนวัตกรรมที่ปรับวิถีการดำเนินชีวิตได้ไม่แตกต่างไปจากเทคโนโลยีสารสนเทศที่เปลี่ยนโฉมหน้าของโลกธุรกิจได้มากใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม กรีน เทคโนโลยียังถือว่าอยู่ในระยะบุกเบิกและเริ่มต้นของการพัฒนา ที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาไปสู่ศตวรรษใหม่ทางธุรกิจ และเกิดความยั่งยืนได้จริง

ดังนั้น การปรับเปลี่ยนภาคธุรกิจด้านกรีน เทคโนโลยี ที่ต้องการการพัฒนาอย่างต่อเนื่องนี้ได้วางเป้าหมายความสำเร็จของการดำเนินการไว้ใน 4 ประการได้แก่
ประการที่ 1 เป้าหมายในด้านความยั่งยืนต่อเนื่องในระยะยาว ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น และต้องทำให้การปรับตัวของธุรกิจกรีน เทคโนโลยี สอดรับ สนองตอบต่อความต้องการของสังคมและภาคธุรกิจด้วยการไม่กลับไปใช้เทคโนโลยีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป และส่งไปยังรุ่นต่อไปด้วย
ประการที่ 2 เป็นการออกแบบที่ครบวงจร ตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำยังปลายน้ำ เพื่อให้กรีน เทคโนโลยี เข้าไปเป็นคำตอบในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน และรวมถึงการเข้ากระบวนการรีไซเคิล หรือ Reuse ที่เต็มรูปแบบ
ประการที่ 3 เน้นการลดลงของส่วนสูญเปล่า สูญเสีย สิ้นเปลือง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งด้านการผลิตไปจนถึงด้านการบริโภค หรือตัวผู้บริโภคด้วย
ประการที่ 4 มีความเป็นนวัตกรรม เป็นเทคโนโลยีทางเลือกใหม่ จากพลังงานฟอสซิล หรือลดการเน้นเคมีลง เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ประการที่ 5 ความเชื่อถือได้ ไว้ใจได้ของสังคม ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
ดังนั้น ในแต่ละสาขาของธุรกิจกรีน เทคโนโลยี จะมีกรอบการดำเนินงานที่แตกต่างกันออกไป ตามความจำเป็นและความเร่งด่วนของปัญหา อย่างเช่น ภาคพลังงาน เน้นการพัฒนาพลังงานทางเลือก นอกจากน้ำมันที่เป็นช่องทางการให้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ส่วนของอาคารแนวกรีน เน้นที่วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
การจัดซื้อจัดจ้างที่เน้นการเพิ่มทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นกรีนโปรดักส์ ธุรกิจกรีนเคมี หรือกรีนนาโนเทคโนโลยี เน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ลดการใช้วัสดุที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแดล้อม
กรณีของมาเลเซีย มีปัจจัยสนับสนุน กรีน เทคโนโลยีพิเศษ คือมีการจัดโครงการสนับสนุนทางการเงินที่เรียกว่า Green Technology Financing Scheme (GTFS) รองรับเป็นการเฉพาะ เพื่อให้มั่นใจว่าจะเกิดการพัฒนากรีน เทคโนโลยีในระยะยาว และมูลค่าทางการตลาดของกรีน เทคโนโลยี จะเพียงพอที่จะเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย และทำให้มาเลเซีย ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมารองรับกรีน เทคโนโลยีได้
กำลังโหลดความคิดเห็น