xs
xsm
sm
md
lg

พพ.-กฟผ. ยันแผนพัฒนาใช้พลังงานทางเลือกอิงข้อมูลจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) พพ. และ กฟผ.ยันมีหลักฐานทางวิชาการรองรับ และไม่ได้ประเมินไว้สูงเกินจริง ยกกรณีพลังงานลมในเบื้องต้นมีมากกว่า 11,882 เมกะวัตต์ กระจายอยู่ทั่วทุกภาค แต่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ซึ่งสามารถพิสูจน์ข้อมูลศักยภาพความเร็วลมได้จริง
ตามที่มีการนำเสนอข่าวถึงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) โดยระบุว่ากรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ใส่ข้อมูลเกินจริงจนอาจเกิดการวางแผนการลงทุนที่ผิดพลาด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้นั้น พพ.ชี้แจงยืนยันว่าข้อมูลที่ปรากฏในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558 -2579 หรือ PDP 2015 เป็นข้อมูลที่ถูกต้องพิสูจน์ได้
ธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดี พพ. และสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าฯ กฟผ. ยืนยันร่วมเดินหน้าสานแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP)
ธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ในส่วนของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเพื่อผลิตไฟฟ้านั้น ใช้ข้อมูลที่ถูกต้องและมีหลักฐานทางวิชาการรองรับที่ผ่านการศึกษาวิจัยมาก่อนจึงจะนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์
พพ.ทำการศึกษาแผนที่ศักยภาพพลังงานลม โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการศึกษา ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพพลังงานลมสูงถึง 13,019 เมกะวัตต์ โดยอยู่ในภาคใต้ 11,882เมกะวัตต์ และพพ.ยืนยันว่าไม่ได้มีการประเมินศักยภาพพลังงานลมในพื้นที่ภาคใต้ไว้สูงเกินจริงตามที่เป็นข่าว ทั้งนี้ จากแผน AEDP เบื้องต้นได้กำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งหมด 19,684.70 เมกะวัตต์ ภายในปี 2579 และในพื้นที่ภาคใต้มีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 2,966.81 เมกะวัตต์ ในส่วนของพลังงานลมที่เป็นประเด็นนั้น พพ.ยืนยันว่า พื้นที่ภาคใต้มีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ นายธรรมยศกล่าว
ด้าน ชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวเสริมว่า เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในภาคใต้ และเพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคใต้ รวมทั้งเพื่อรองรับการขยายตัวของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ตามแผน PDP 2015 นั้น กฟผ. ได้มีแผนพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าภาคใต้หลายโครงการ เช่น โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เป็นต้น
อมร ทรัพย์ทวีกุล
EA แนะรัฐควรตั้งเป้าใช้พลังงานที่พึ่งพาตัวเองได้
อมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA กล่าวว่าแต่เดิมนั้นต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนสูงมาก แต่ผลตอบแทนกลับไม่ได้สูงมากนัก ต่อมาผลตอบแทนดีขึ้น ทำให้เกิดความสนใจในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พลังงานทดแทนก็ช่วยผลิตไฟฟ้าได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่สามารถเป็นพลังงานหลักของประเทศไทยได้ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 100% เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม ส่วนใหญ่จะมีลมพัดช่วงกลางคืน บางทีก็พัดบ้างไม่พัดบ้าง โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ก็ผลิตได้แต่ตอนกลางวัน เป็นต้น
แต่พลังงานทดแทนยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอนาคต เพราะปัจจุบันโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักๆ ถูกต่อต้านกันมากมาย เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ถูกต่อต้าน การใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้ามากเกินไปถึง 70% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด ก็เป็นความเสี่ยงระบบความมั่นคงด้านพลังงานไทย หรือการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในไทยก็ทำได้ยากแล้ว ดังนั้นการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจึงต้องทำควบคู่กับโรงไฟฟ้าพลังงานหลักต่อไปก่อน
ทิศทางพลังงานทดแทนของบ้านเรายังเติบโตได้ต่อเนื่อง หากว่านโยบายรัฐบาลยังสนับสนุนให้เติบโตต่อ แต่หากรัฐบาลไม่ทำอะไรเลยการเติบโตจะอยู่ในวงจำกัด และมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะเรื่องสายส่งไฟฟ้าที่ควรรับไฟฟ้าได้ 20% ของพลังงานทดแทน แต่ปัจจุบันยังรองรับได้แค่ 11% ซึ่งรัฐบาลจะต้องพัฒนาระบบสายส่งต่อไป โดยจุดสายส่งไฟฟ้าขณะนี้ยังไม่แข็งแรงนัก เช่น ภาคอีสาน ยังมีสายส่งไม่เพียงพอ ต้องสร้างให้มากขึ้นเพื่อรองรับการกระจายการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน และต้องทำโครงข่ายสายส่งให้มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่านโยบายภาพรวมของการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนของรัฐบาลเป็นนโยบายที่ดี แต่การปฏิบัติไม่สอดคล้องกับการเดินตามนโยบายรัฐ เพราะการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ซึ่งแต่ละส่วนยังไม่ได้มองภาพรวมของประเทศ ยังมองเฉพาะจุดของตัวเองเท่านั้น แต่สุดท้ายเชื่อว่าพลังงานทดแทนของไทยยังต้องก้าวต่อไป แต่ปัญหาดังกล่าวอาจทำให้ต้องใช้เวลายาวนานขึ้นกว่าที่รัฐบาลคาดหวังไว้
ตัวอย่างเช่น การขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าระหว่างหน่วยงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พีอีเอ) ก็มีมาตรฐานที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะวิธีการของกฟผ.นั้น ก่อนที่ผู้ประกอบการจะขอขายไฟฟ้า จะต้องแจ้งรายละเอียดว่าจะเข้าระบบสายส่งตรงจุดไหน ต้องมีการทดสอบการเข้าระบบสายส่งไฟฟ้า ถ้าทดลองผ่าน กฟผ.จึงจะอนุญาตและล็อกสายส่งให้ในขณะที่พีอีเอไม่มีการทดสอบดังกล่าวให้ไปแย่งช่องทางสายส่งกันเอาเอง แต่ก็เป็นที่ชอบใจของผู้ผลิตไฟฟ้า เพราะขอใบอนุญาตง่าย
สิ่งที่ภาครัฐควรรีบปรับปรุง
อันดับแรก ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเดินต่อไปได้ ภาพระดับนโยบายจะต้องชัดเจนออกมาก่อน อย่าหลอกตัวเอง เช่น จำนวนโควตาสำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนมีเท่าใด ความเข้าใจของภาครัฐที่มีต่อการลงทุน มีความเสี่ยงอะไรบ้าง และผู้ประกอบการจะต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านการปฏิบัติหน้าที่ของภาครัฐ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่ผ่านมา คือ ปัญหาการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ซึ่งแม้รัฐบาลอยากจะส่งเสริมพลังงานทดแทน แต่หากติดปัญหา รง.4 ก็เท่ากับติดปัญหาคอขวดอยู่อย่างนั้น แถมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนยังมีจำนวนมากซึ่งต้องประสานขออนุญาตจากหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กรมป่าไม้ เป็นต้น ดังนั้น หากสามารถทำเป็นการบริการแบบเบ็ดเสร็จ หรือวันสต็อปเซอร์วิส ย่อมจะเกิดความสะดวกได้มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น