ผุด 2 โปรเจ็กต์เพิ่มมูลค่าข้าวหอมมะลิไทย หนุนพัฒนา 10 โรงงานผลิตธาตุอาหารพืช ลดต้นทุนการผลิต พร้อมยกระดับ 12 โรงสีข้าวออแกนิก รุกตลาดข้าวสายพันธุ์ใหม่
อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การส่งออกข้าวหอมมะลิของไทย ที่ปัจจุบันมีคู่แข่งมากขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งเวียดนาม กัมพูชาและเมียนมาร์ ปัญหาสำคัญที่กำลังเผชิญอยู่เป็นเพราะต้นทุนการผลิตสูงแต่ได้คุณภาพข้าวต่ำ ทั้งเรื่องความหอมและผลผลิตต่อไร่ที่ลดลง ขณะที่การปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ หรือ ออแกนิก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่มีราคาสูงกว่า ที่ผ่านมาต้องพึ่งการรับรองและประเมินราคาตามมาตรฐานของประเทศคู่ค้าเป็นหลัก หากราคาสูงต้องได้มาตรฐานทั้งห่วงโซ่อุปทานซึ่งประเทศไทยจะมีความพร้อมเพียงแค่ต้นทาง คือการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์เท่านั้น
ดังนั้น รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมอบหมายให้3กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดูแลเรื่องการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ดูแลเรื่องระบบตรวจสอบย้อนกลับคุณภาพข้าวหอมมะลิอินทรีย์) และกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันประยุกต์ระบบเครือข่ายอุตสาหกรรมเกษตรเชิงพาณิชย์พัฒนาห่วงโซ่อุปสงค์-อุปทาน (Demand-Suppy Chain) ข้าวหอมมะลิทั้งระบบด้วยเทคโนโลยีปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ เพื่อให้มีต้นทุนต่ำลงแต่ได้ผลผลิตสูงขึ้น และมีความหอมเพิ่มขึ้นจากเดิม 2-3 เท่า
“ในประเด็นเรื่องข้าว กระทรวงอุตสาหกรรม รับผิดชอบเรื่องพัฒนาปุ๋ยธาตุอาหารสำหรับพืชและโรงสีข้าวหอมมะลิอินทรีย์ นำร่องโดยได้จัดทำ 2 โครงการ ซึ่งได้ว่าจ้างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นที่ปรึกษา คือ 1) โครงการพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพเพื่อลดต้นทุนเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มีการใช้ปุ๋ยเคมีในการปลูกข้าว ทำให้ดินเค็มกลายเป็นดินเปรี้ยว ปัจจุบันภาครัฐต้องการให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ผสมลงไปประมาณร้อยละ 20 ซึ่งโครงการนี้จะช่วยพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพสูตรใหม่ ให้มีธาตุอาหารพืชที่ตรงกับความต้องการของชนิดพืชและอายุการเติบโต มีการเติมปุ๋ยที่มีธาตุอาหารจำเป็นในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป นอกจากนี้ ยังช่วยปรับสภาพดินโดยการย่อยสลายสารพิษจากการใช้ปุ๋ยเคมีด้วย” ปลัด ก.อุตฯ กล่าว
สำหรับความคืบหน้าของโครงการ แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกเป็นการให้ความรู้ที่ถูกต้อง (Knowhow) แก่เกษตรกร จำนวน 2,000 คน มีแปลงทดลอง 20 แห่ง ระยะที่สอง คือการพัฒนาโรงงานผลิตธาตุอาหารสำหรับพืช โดยให้อุตสาหกรรมจังหวัดเลือกโรงปุ๋ยจังหวัดละ 1 แห่ง และจะคัดเลือกโรงปุ๋ยเพื่อพัฒนาให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ อย่างน้อย 10 แห่ง และผลิตธาตุอาหารสำหรับพืช นำมาทดลองใช้ใน 1 รอบปีการเพาะปลูก ส่วนระยะที่สาม คือ การวัดผลจากผลผลิตที่ได้ว่าตรงกับเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2559 ปัจจุบันกำลังดำเนินการระยะแรก
2) โครงการพัฒนาโรงสีข้าวคุณภาพเพื่อให้ได้มาตรฐานห่วงโซ่อุปทานเกษตรอินทรีย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานห่วงโซ่อุปทานของข้าวหอมมะลิออแกนิกที่ปลูกในประเทศให้ครบวงจร ตั้งแต่ระดับเพาะปลูก การสีและปรับปรุงคุณภาพข้าว จนถึงการแปรรูปเป็นข้าวสำเร็จรูป (Ready to Eat) ทุกอย่างเป็นออแกนิกทั้งหมด ซึ่งจะทำให้มีราคาสูงขึ้นมากกว่าข้าวหอมมะลิปกติหลายเท่า
ปลัด ก.อุตฯ กล่าวว่า โครงการฯจะช่วยพัฒนาโรงสีข้าวออแกนิกคุณภาพเพื่อให้ได้มาตรฐานของห่วงโซ่อุปทานเกษตรอินทรีย์ทั้งระบบ โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสานซึ่งมีการปลูกข้าวออแกนิก จะส่งโรงสีมาให้คัดเลือกเหลือ 12 จังหวัด เพื่อให้สามารถเป็นโรงสีเกษตรอินทรีย์ดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อทำให้ข้าวหอมมะลิออแกนิกของไทยสามารถเป็นเกษตรชีวภาพครบทุกกระบวนการได้สำเร็จในประเทศ
จังหวัดที่มีการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ประกอบด้วย จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี มหาสารคาม กาฬสินธุ์ สกลนคร และขอนแก่น โดยตลาดหลักรับซื้อข้าวออแกนิกของไทย ยังคงเป็นประเทศจีน อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น
สำหรับข้าวหอมมะลิ 1 ตัน ความชื้น 15% ราคาขายอยู่ที่ตันละ 12,000-14,000 บาท ส่วนข้าวหอมมะลิออแกนิก 1 ตัน ความชื้น 15% ราคาขายอยู่ที่ 20,000-26,000 บาท โดยคุณภาพข้าวสายพันธุ์ใหม่นี้จะมีลักษณะตรงตาม 5 ตัวชี้วัด (KPI) คือ หอม ยาว นุ่ม อร่อย และเป็นยารักษาโรคมะเร็ง