ชัยนาท - ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควงรองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษากรมชลประทาน ลงพื้นที่ตรวจดูสถานการณ์น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท เผยวันจันทร์นี้ทางรัฐมนตรีจะเรียกประชุมด่วนเพื่อประมวลสถานการณ์น้ำ ความเดือดร้อน ผลกระทบต่อประชาชน รวมทั้งแนวทางช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีในวันอังคารนี้
เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (14 มิ.ย.) นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษากรมชลประทาน เดินทางไปที่สำนักชลประทานที่ 12 เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท เพื่อรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำเจ้าพระยา และการปลูกข้าวในพื้นที่จังหวัดชัยนาท รวมทั้งผลกระทบจากการประกาศของกรมชลประทานที่ให้ชาวนาในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาชะลอการปลูกข้าวนาปีไปเดือนกรกฎาคม เนื่องจากน้ำในเขื่อนใหญ่มีปริมาณเหลือน้อยไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก
โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท นายเฉลิมเกียรติ วรวุฒิพุทธพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท นายฎรงค์กร สมตน ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 นายธีระศักดิ์ ขุมเงิน เกษตรจังหวัดชัยนาท และเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประมาณ 100 คนให้การต้อนรับ
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การเดินทางมาติดตามสถานการณ์ครั้งนี้ ทางสำนักชลประทานที่ 12 ได้เสนอแผนการส่งน้ำทำการเกษตรจากเดิม 2 ล้านกว่าไร่ เหลือเพียง 1.2 ล้านไร่ และในสถานการณ์น้ำที่น้อยลง ทำให้ทราบว่าสามารถส่งน้ำได้แค่ไหน และพื้นที่ใดปลูกแล้ว หรือยังไม่ได้ปลูกบ้าง พื้นที่ที่ปลูกแล้วต้องคอยดูไม่ให้เกิดความเสียหาย ส่วนที่เหลือต้องมีมาตรการประชาสัมพันธ์ และการให้ความช่วยเหลืออย่างไร
ในส่วนของจังหวัดชัยนาท ที่ได้นำเสนอค่อนข้างเป็นรูปธรรม ในระยะเร่งด่วนที่จะแก้ไขปัญหาและระยะยาวที่จะต้องกลับมาใช้ในเรื่องการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ บ่อน้ำตื้นในไร่นา หรือโซนนิ่ง หรือการวางแผนจัดการน้ำแห้งสลับเปียก หรือให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทางกรมชลประทานจะดูแลในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 22 จังหวัด
“ในวันจันทร์นี้ทางรัฐมนตรีจะเรียกประชุมด่วนเพื่อประมวลสถานการณ์น้ำ ความเดือดร้อน ผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน รวมทั้งแนวทางช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีในวันอังคารนี้ เพื่อเตรียมมาตรการให้ความช่วยเหลือทั้ง 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อไป”
นายฎรงค์กร สมตน ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำเขื่อนเจ้าพระยา ขณะนี้ได้รักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ 14.62 เมตร (รทก.) ท้ายเขื่อน 5.90 เมตร (รทก.) ปริมาณน้ำระบายท้ายเขื่อน จำนวน 70 ลบ.ม./วินาที ซึ่งปริมาณน้ำที่สำนักชลประทานที่ 12 ได้รับการจัดสรรจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีจำนวน 100 ลบ.ม./วินาที โดยจะจัดสรรให้เกษตรกรใช้ได้อย่างทั่วถึง แต่ปริมาณน้ำที่มีอย่างจำกัดทำให้ยากที่จะส่งน้ำได้ทั่วถึง จึงเตรียมขอกำลังทหารแ ละฝ่ายปกครองให้ช่วยกันนำน้ำที่มีน้อยกระจายไปใช้ได้ทั่วถึง พร้อมทั้งต้องทำการประชาสัมพันธ์อย่างหนักให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อน
ขณะที่ นายธีระศักดิ์ ขุมเงิน เกษตรจังหวัดชัยนาท ได้เสนอแนวทางการให้ความช่วยเหลือ และชดเชยรายได้ให้เกษตรกรเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 เกษตรกรที่ปลูกข้าวแล้วในเขตชลประทาน ให้ชลประทานส่งน้ำช่วยเกษตรกรกลุ่มนี้ไม่ให้ข้าวเสียหาย ส่วนนอกเขตชลประทานให้สนับสนุนการใช้บ่อน้ำตื้น และแหล่งน้ำธรรมชาติ กรณีที่ 2 เกษตรกรที่ยังไม่ได้ปลูกข้าว ในเขตชลประทานให้เกษตรกรงดปลูกข้าวโดยรัฐจ่ายเงินชดเชยรายได้ ส่วนเกษตรกรนอกเขตชลประทาน ให้ส่งเสริมการปลูกพืชไร่พืชผักที่ใช้น้ำน้อย และช่วยเหลือค่าเมล็ดพันธุ์ และปุ๋ยเคมี
ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ได้มีการเพาะปลูกข้าวนาปีแล้ว จำนวน 357,811 ไร่ คิดเป็น 43.03% ที่ยังไม่สามารถปลูกข้าวได้ จำนวน 473,676 ไร่ คิดเป็น 56.97%