พระนครศรีอยุธยา - ชาวนากรุงเก่าในทุ่งนาปากกราน กว่า 2 พันไร่ ยันเสียงแข็งหยุดทำนาตามประกาศของกรมชลประทานที่ให้เลื่อนการปลูกข้าวไปเป็นปลายเดือนกรกฎาคมไม่ได้ เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่ชาวนาส่วนใหญ่เริ่มลงมือทำนาแล้ว หากขืนหยุดเสียหายแน่
วันนี้ (11 มิ.ย.) ผู้สื่อขาวได้เดินทางลงพื้นที่บริเวณทุ่งนาปากกราน หมู่ 5 ต.ปากกราน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ ที่มีการทำการปลูกข้าวของชาวนา โดยใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่า ตอนนี้การทำนาของชาวนาบางส่วนเริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งบ้างแล้ว ขณะที่บางส่วนยังสามารถเพาะปลูกได้ เนื่องจากการสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมาเลี้ยงต้นข้าวที่เริ่มโตอายุกว่า 1 เดือน แต่ต้องลุ้นว่าจะสามารถผ่านช่วงนี้ไปได้หรือไม่ เนื่องจากมีการประกาศว่า น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีปริมาณน้ำที่ลดน้อยลง
หลังจาก นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ออกประกาศกรมชลประทาน ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2558 ขอความร่วมมือเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปี ให้ชะลอการเพาะปลูกข้าวออกไปก่อนจนกว่าจะเริ่มมีฝนตกชุก หรือมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกประมาณปลายเดือนกรกฎาคม 2558 และขอให้ผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อป้องกันการเกิดการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา
นางสมปอง ทาคำ อายุ 40 ปี ชาวนาที่ปลูกข้าวกว่า 40 ไร่ ที่บริเวณทุ่งนาปากกราน หมู่ 5 ต.ปากกราน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากประกาศดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ที่ชาวนาส่วนใหญ่จะหยุดทำนา เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่ชาวนาส่วนใหญ่เริ่มลงมือแล้ว บางส่วนก็เริ่มก่อนจนต้นข้าวโตมีอายุนับเดือน ก็ยังต้องเดินทางเลี้ยงดูต้นข้าวต่อไป และหาทางแก้ไขเพื่อจะเก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคมนี้
“จะมาให้หยุดทำนาตอนนี้ได้อย่างไร หากหยุดก็คงได้รับความเสียหายแน่ และที่ให้มีการเลื่อนไปเพาะปลูกปลายเดือนกรกฎาคมยิ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว และเสี่ยงกว่าปัจจุบัน เพราะถ้าลงมือปลูกในช่วงกรกฎาคม การเก็บเกี่ยวก็จะร่นเวลายาวออกไป แม้จะรอฝน แต่การเสี่ยงถ้าฝนตกลงมามาก หรือน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นก็เกิดน้ำหลาก อาจเป็นปัญหานาข้าวสูญเสียได้เช่นกัน ทำให้ชาวนาส่วนใหญ่ยังคงลงมือปลูกข้าวในตอนนี้” นางสมปอง กล่าว
ด้านนายไมตรี ปิตินานนท์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครหลวง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำตอนนี้ยังน่าเป็นห่วง น้ำเริ่มมีปริมาณลดลง และจะส่งผลกระทบกระจายเป็นวงกว้าง ถ้าภายใน 20 วันนี้ฝนไม่ตกลงมาอาจส่งผลกระทบทั้งการอุปโภคบริโภค ดังนั้น จึงขอให้ชาวนาชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์จนกว่าจะมีฝนตกชุก
“คาดว่าจะเป็นปลายเดือนกรกฎาคมซึ่งตอนนี้ได้ประกาศแจ้งเตือนให้ชาวนาชะลอการเพาะปลูกไปทุกอำเภอในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว เพื่อย้ำให้ชาวนาแต่ละพื้นที่รับทราบถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน” นายไมตรี กล่าว