ชัยนาท - ชาวนาในพื้นที่ชัยนาท เร่งปลูกข้าวนาปี หลังชลประทานส่งน้ำให้เพาะปลูก แต่น้ำในคลองชลประทานยังมีน้อย ส่งผลชาวนาพื้นที่ปลายคลองยังไม่ได้น้ำทำนา ต้องพึ่งน้ำจากบ่อบาดาลใช้ปลูกข้าวแทน กลัวว่าปลูกข้าวล่าช้าจะเก็บเกี่ยวไม่ทันฤดูน้ำหลาก ข้าวอาจจมน้ำเสียหาย ทำราคาขายตก และจะอดตาย
วันนี้ (20 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดชัยนาท ว่า หลังสิ้นสุดแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งของลุ่มน้ำเจ้าพระยาในเดือนเมษายน และกรมชลประทานได้เริ่มแผนส่งน้ำสำหรับสนับสนุนการทำนาปีในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ในที่ลุ่มภาคกลาง ได้เริ่มทยอยหว่านกล้าทำนาปีตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
โดยในเขตอำเภอเมืองชัยนาท ได้เริ่มมีการส่งน้ำเข้าคลองชลประทาน มาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ทำให้คลองชลประทานที่เคยแห้งขอดเริ่มมีน้ำไหลเข้าคลองมากขึ้น ชาวนาใน อ.เมืองชัยนาท จึงเร่งสูบน้ำเข้านาร้าง เพื่อไถนาตีแปลง และลงมือปลูกข้าวนาปี หลังจากที่ต้องหยุดทำนาในช่วงฤดูแล้งไปนานกว่า 6 เดือน
แต่เนื่องจากยังเป็นช่วงแรกของการเริ่มส่งน้ำ ประกอบกับสภาพอากาศแห้งแล้งมานาน และยังไม่มีฝนตกในพื้นที่ จึงทำให้ปริมาณน้ำในคลองชลประทานยังมีน้อย อีกทั้งชาวนาเริ่มทำนาพร้อมกัน มีการสูบน้ำเข้านาพร้อมๆ กัน จึงทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าคลองชลประทานยังมีน้อย น้ำไหลไปไม่ถึงปลายคลอง ชาวนาที่อยู่ต้นคลองสามารถสูบน้ำไปใช้ได้ แต่ที่อยู่ปลายคลองยังไม่ได้น้ำทำนา
ชาวนาหลายรายจึงแก้ปัญหาด้วยการสูบน้ำจากบ่อบาดาล และน้ำบ่อธรรมชาติที่ยังมีน้ำเหลืออยู่ในพื้นที่สูบขึ้นมาใช้ทำนาแทน โดยไม่รอน้ำในคลองชลประทาน เพราะกลัวว่าหากลงมือปลูกข้าวล่าช้าออกไปจะทำให้เก็บเกี่ยวข้าวไม่ทันฤดูน้ำหลากในช่วงเดือนกันยายน
นางทัศนีย์ คงกระพัน อายุ 56 ปี ชาวนาหมู่ที่ 3 ต.เขาท่าพระ อ.เมือง จ.ชัยนาท กล่าวว่า ปัญหาที่ประสบอยู่ขณะนี้คือ การมีน้ำไม่พอใช้ทำนา แม้ชลประทานจะส่งน้ำให้เพาะปลูกแล้วก็ตาม เพราะสภาพอากาศที่แห้งแล้งมานาน และชาวนาได้เริ่มทำนาพร้อมกัน จึงมีการเร่งสูบน้ำไปใช้พร้อมๆ กัน น้ำจึงไหลมาไม่ถึงปลายคลอง ตนจึงต้องสูบน้ำจากบ่อบาดาลมาใช้ปลูกข้าวแทน แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะไม่สามารถรอน้ำจากคลองชลประทานต่อไปได้ ต้องรีบปลูกข้าวให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้
“หากล่าช้าออกไปกลัวว่าข้าวจะเติบโตเก็บเกี่ยวขายไม่ทันเดือนสิงหาคม และหากในเดือนกันยายนเกิดน้ำหลาก ข้าวก็จะล้มจมน้ำเสียหาย ทำให้ขายข้าวไม่ได้ราคา เพราะตอนนี้ราคาข้าวก็ถูกอยู่แล้วเหลือ 6,000 บาทต่อเกวียน หากข้าวเปียกน้ำอีกอาจจะขายได้เพียงเกวียนละ 4,500-5,000 บาทเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นชาวนาก็คงอยู่ไม่ได้ ต้องมีผูกคอตายกันอีก” นางทัศนีย์ กล่าว