กาฬสินธุ์ - ชาวนาในกาฬสินธุ์ประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำ ขายข้าวขาดทุน ระบุผลกระทบจากการบริหารจัดการน้ำของโครงการชลประทานลำปาวขาดประสิทธิภาพ ประกอบกับภัยแล้ง ทำให้ต้นข้าวงอกไม่ดี มีวัชพืชปกคลุม ขณะที่ผู้มีรายได้ในช่วงนี้กลับเป็นผู้ประกอบการรถเกี่ยวข้าวที่ทำเงินได้วันละกว่า 1 หมื่นบาท
วันนี้ (5 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.กาฬสินธุ์ว่า จากการติดตามบรรยากาศการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังในหลายพื้นที่พบว่าชาวนายังประสบปัญหาซ้ำซาก ผลผลิตตกต่ำ ขายข้าวขาดทุน โดยชาวนาระบุสาเหตุเกิดจากได้รับน้ำจากชลประทานลำปาวไม่เพียงพอและต้นทุนการผลิตสูง ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนซ้ำซาก
นางหนูจิม ภาระ ชาวนาบ้านตูม หมู่ 4 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้รุนแรง ประกอบกับปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวเหลือน้อย ตนจึงปลูกข้าวนาปรังเพียง 4 ไร่ แต่เนื่องจากได้รับน้ำจากชลประทานไม่ทั่วถึง ต้นข้าวจึงงอกไม่ดี และชะงักการเจริญเติบโต เกิดวัชพืชปกคลุมอย่างหนาแน่น ต้องสิ้นเปลืองปุ๋ยยา ค่าแรงงาน ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่ารถไถรถเกี่ยว ต้นทุนเฉลี่ยไร่ละ 2 พันบาท หรือรวมประมาณ 8,000 บาท ได้ผลผลิตเพียงไร่ละ 250 กก. หรือรวมประมาณ 1 ตัน ขายที่ตลาดรับซื้อ กก. ละ 7 บาท ได้เงิน 7,000 บาท
เมื่อหักค่าใช้จ่ายก็เท่ากับขาดทุน ชาวนาจึงเป็นอาชีพที่ไม่มีอนาคต เนื่องจากประสบปัญหามาก โดยเฉพาะเรื่องน้ำที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเกษตรกรรม และต้นทุนการผลิต วอนรัฐบาลกำหนดมาตรการช่วยเหลือชาวนาในระยะยาวด้วย
ขณะที่ชาวนาประสบปัญหาขาดทุน ผู้ที่ได้เงินกลับเป็นผู้ประกอบการรถเกี่ยวข้าวที่เริ่มต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง คิดอัตราค่าจ้างไร่ละ 600 บาท ในวันหนึ่งสามารถเก็บเกี่ยวไม่น้อยกว่า 20 ไร่ ซึ่งจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 10,000 บาททีเดียว