xs
xsm
sm
md
lg

ซ้ำเติม! “ด้วงซัดดำ”ระบาดกัดกินต้นข้าวหอมทุ่งกุลาฯ หลังเพิ่งฟื้นตัวจากน้ำฝน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จนท.เกษตรจังหวัดสุรินทร์ ออกหน่วยบริการให้ความรู้เกษตรกรเรื่องการกำจัดด้วงดำหรือ  “ด้วงซัดดำ” ที่กำลังระบาดกัดกินต้นข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์
สุรินทร์ - ซ้ำเติมชาวนา “ด้วงซัดดำ” ระบาดกัดกินต้นข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ อ.ชุมพลบุรี สุรินทร์ ที่กำลังพื้นตัวจากน้ำฝนหลังแห้งแล้งมานาน จนท.เกษตรเมืองช้างเร่งลงพื้นที่ให้ความรู้การกำจัดแมลงศัตรูข้าว

วันนี้ (18 ก.ค.) ที่ศาลาการเปรียญวัดบ้านโพนม่วง-โพนสวรรค์ หมู่ที่10 ต.ไพรขลา อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ นายพีระเดช สายแก้ว หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วย นายเลื่อมศักดิ์ ฤทธิรน เกษตรอำเภอชุมพลบุรี และคณะได้ออกหน่วยบริการให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องการกำจัดด้วงดำ หรือ ชาวบ้านเรียก “ด้วงซัดดำ” ที่กำลังระบาดกัดกินต้นข้าวหอมมะลิ ทุ่งกุลาร้องไห้ซึ่งกำลังเจริญเติบโตจากน้ำฝนที่เริ่มตกลงมาหลังเผชิญภัยแล้งฝนทิ้งช่วงมานาน

ทั้งนี้เพื่อให้ความรู้ในด้านการป้องกัน และควบคุมศัตรูข้าวโดยวิธีผสมผสานแก่เกษตรกร โดยมีประชาชนจาก 4 หมู่บ้าน ในเขตพื้นที่ตำบลไพรลา ทุ่งกุลาร้องไห้ เข้าร่วมรับฟังนับร้อยคน

จากนั้นนายพีระเดช สายแก้ว หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ และคณะได้เดินทางไปตรวจสอบแปลงนาของเกษตรกรที่มีการระบาดของด้วงดำ พบด้วงดำกัดกินต้นกล้าอยู่เป็นจำนวนมาก

นายพีระเดช กล่าวว่า ด้วงดำเป็นแมลงจำพวกด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นศัตรูที่สำคัญของการทำนาปลูกข้าวแบบหว่านข้าวแห้ง โดยเฉพาะบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ พบมีด้วงดำ 2 ชนิด คือ ด้วงดำขนาดตัวใหญ่ และขนาดตัวเล็ก ซึ่งด้วงดำขนาดตัวใหญ่เกษตรกรในพื้นที่ระบาดรู้จักในชื่อ ด้วงซัดดัม หรือด้วงซัดดำ มักพบทำลายข้าวที่หว่านเร็วกว่าปรกติระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน และหลังจากมีฝนทิ้งช่วง 15-45 วันหลังข้าวงอก จะกัดกินส่วนอ่อนของต้นข้าวที่ชิดติดกับรากข้าวแต่อยู่ในดิน นอกจากต้นข้าวแล้วด้วงชนิดนี้ยังสามารถกัดกินวัชพืชพวกกก และวัชพืชในนาที่ขึ้นปะปนกับข้าวด้วย

ลักษณะการทำลายของด้วงดำ นั้น ต้นข้าวที่ยังเล็กอายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ จะเสียหายมากเนื่องจากต้นกล้าข้าวยังไม่ทันตั้งตัวเมื่อถูกด้วงชนิดนี้ทำลาย จะเหี่ยวและเแห้งตาย คล้ายอาการเพลี้ยไฟทำลายแต่การแพร่กระจายไม่เหมือนกัน เมื่อถอนต้นข้าวขึ้นมารากข้าวจะหลุดทำให้เข้าใจว่าด้วงชนิดนี้ทำลายรากข้าวด้วย แต่ถ้าใช้วิธีขุดต้นข้าวที่แสดงอาการใบเหลือง เหี่ยวจะพบว่ารากข้าวไม่ถูกกัดกินแต่อย่างไร ด้วงดำจะเคลื่อนย้ายทำลายข้าวต้นอื่นๆ โดยการทำโพรงอยู่ใต้ดินในระดับใต้รากข้าวทำให้เห็นรอยขุยดินเป็นแนว

สำหรับวิธีป้องกัน นั้น 1.ควรหว่านข้าวตามฤดูกาล (สิงหาคม) ไม่ควรหว่านช่วงระหว่างปลายเมษายนถึงต้นมิถุนายน เพื่อหลีกเลี่ยงตัวเต็มวัยของด้วงดำที่ฟักออกจากดักแด้ในดินหลังฝนแรกของฤดู 2.ล่อและทำลายตัวเต็มวัยของด้วงดำ โดยใช้หลอดไฟชนิดแบล็กไลท์ที่เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมใช้ล่อแมลงดานา และ 3.สำรวจนาข้าวเมื่อพบตัวเต็มวัยด้วงดำในกับดักแสงไฟปริมาณมากกว่าปกติ ก็จะกำจัดด้วงดำได้







กำลังโหลดความคิดเห็น