xs
xsm
sm
md
lg

สุรินทร์ไอเดียเก๋ นำมูลช้างทำปุ๋ยอินทรีย์บำรุงต้นข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายถาวร กุลโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์
สุรินทร์ - รองพ่อเมืองสุรินทร์ไอเดียเก๋ผุดโปรเจ็ค “ผลิตข้าวอินทรีย์ขี้ช้าง” มุ่งใช้ประโยชน์จากมูลช้างที่มีปีละกว่า 12,700 ตันมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์บำรุงต้นข้าวหอมมะลิ ทั้งสามารถกำจัดมูลช้างที่ส่งกลิ่นรบกวนชุมชน วางแผนต่อไปใช้มูลช้างบำรุงไม้ดอก และต้นหม่อน

วันนี้ (10 ก.ค.58) ที่ทุ่งนาบ้านกระโพน้อย ม.1 ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ นายถาวร กุลโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดงานรณรงค์ผลิตข้าวอินทรีย์ขี้ช้าง (มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สุรินทร์) โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในชุมชน นำขี้ช้างส่วนเกินมาเป็นวัสดุปรับปรุงดินในการทำนาอย่างแพร่หลาย และประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงกระบวนการผลิตข้าวอินทรีย์ด้วยขี้ช้าง มีประชาชนสนใจร่วมงานกว่า 200 คน

จังหวัดสุรินทร์ เป็นถิ่นช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือชุมชนชาวกวย หรือชาวกูย ในบ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม ปัจจุบันมีช้างเลี้ยงมากกว่า 200 เชือกที่อยู่ในโครงการพัฒนาให้จังหวัดสุรินทร์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วิถีชีวิตและภูมิปัญญาเพื่อแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อน และอนุรักษ์คุ้มครองช้าง แต่ปัญหาที่ตามมาคือขี้ช้างจำนวนมากไม่น้อยกว่าปีละ 12,700 ตัน เกิดมลภาวะส่งกลิ่นรบกวนต่อชุมชน และนักท่องเที่ยว

นายถาวร กุลโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ จึงมีความคิดนำขี้ช้างส่วนเกินนี้มาเป็นวัสดุปรับปรุงดินสำหรับปลูกข้าวอินทรีย์ สำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ จึงร่วมกับ สนง.เกษตร อ.ท่าตูม และ อบต.กระโพ จัดทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ด้วยขี้ช้างจำนวน 6 ตัน ใช้ปรับปรุงบำรุงดินสำหรับทำนาอินทรีย์พื้นที่ 6 ไร่ เพื่อเป็นสถานที่เรียนรู้การทำนาอินทรีย์ด้วยขี้ช้าง และเก็บข้อมูลในการปลูก การดูแลรักษา และการให้ผลผลิตของข้าวที่ปลูกด้วยขี้ช้าง

หลังพิธีเปิดงานเสร็จแล้ว ทั้งหมดได้ทำพิธีหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยมีช้างแฝดเพศผู้คู่แรกของโลก คือพลายทองคำและพลายทองแท่ง อายุ 5 ปี มาร่วมถือกระเช้าที่บรรจุเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อให้ รอง ผวจ.สุรินทร์ ทำพิธีหว่านเพื่อเอาฤกษ์เอาชัย พร้อมกับช้างทั้งหมด รวม 9 เชือก ก่อนจะทำพิธีโรยปุ๋ยหมักอินทรีย์ขี้ช้างต่อไปอีกด้วย

รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า จังหวัดสุรินทร์มีสินค้าที่โดดเด่นก็คือข้าวหอมมะลิ จะเน้นใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำมาจากขี้ช้างเป็นตัวหลัก เพราะขี้ช้างสามารถเอามาใช้ทำนาได้ และจะช่วยมลภาวะจากมูลของช้างซึ่งมีปีละประมาณ 2 หมื่นตัน ขณะเดียวกันดินจะดีขึ้น ข้าวที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากขี้ช้างจะนำมาทำเป็นแพ็กจำหน่าย เป็นของฝากแกนักท่องเที่ยว เกษตรกรมีรายได้ นอกจากข้าวอินทรีย์ที่ใช้แล้ว ต่อไปจะเดินหน้าเอาขี้ช้างมาทำเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ขี้ช้างปลูกหม่อนให้ตัวไหมกิน




กำลังโหลดความคิดเห็น