สุรินทร์ - ชาวนาเมืองช้างระทมแล้งหนักสุดในรอบ 50 ปี อีก 10 วันไม่มีฝนตกข้าวหอมมะลิยืนต้นแห้งตายเป็นบริเวณกว้างกว่า 2 แสนไร่ ชี้หากเดือนนี้ไม่มีฝนไม่มีข้าวขายและเก็บไว้กินในครอบครัวแน่ เผยชาวนาดิ้นหนีตายด้วยการปลูกสำปะหลัง พืชทนแล้งบนคันนาตาม “นายกฯ ประยุทธ์” แนะนำ วอนรัฐบาล และ คสช.ช่วยคลายทุกข์ชาวนาด้วย
วันนี้ (5 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบนาข้าวของชาวนาในหลายพื้นที่ หลัง จ.สุรินทร์ได้ประสบภัยแล้งยกจังหวัดทั้ง 17 อำเภอ พบว่าทุกพื้นที่ยังคงเกิดสภาวะแห้งแล้งรุนแรง เนื่องจากฝนทิ้งช่วงยาวนานทำให้แหล่งน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำน้อยมากไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร
โดยเฉพาะพื้นที่ทำนาข้าวหอมมะลิที่ชาวนาได้หว่านไปแล้วกว่า 2 แสนไร่ได้รับผลกระทบอย่างหนักเป็นบริเวณกว้าง เพราะขาดน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าว นาที่กำลังเหลืองใกล้ยืนต้นแห้งตาย และบางพื้นที่ต้นข้าวแห้งตายแล้วเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ชาวนาต่างได้รับความเดือดร้อน หากอีก 10 วันนับแต่นี้ไปไม่มีฝนตกลงนาข้าวคงต้องแห้งตายไม่เหลือ
นายไพโรจน์ สิงห์แก้ว อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 25/2 บ้านหนองจอก ม.5 ต.คาลาแมะ อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ปีนี้ถือว่า จ.สุรินทร์แล้งหนักที่สุดในรอบ 50 ปี ทุกปีที่ผ่านมาแม้จะประสบภัยแล้งทำนาก็พอได้ทุนคืน ปีที่แล้วตนทำนาได้กำไร 12,000 บาท และได้เงินช่วยเหลือภัยแล้งจากรัฐบาลอีก 10,000 บาท หักค่าปุ๋ยแล้วเหลือเงินเพียง 12,000 บาทจากการทำนา 10 ไร่ ขายข้าวเปลือกได้เพียง ก.ก.ละ 9 บาท เมื่อประสบภัยแล้งแบบนี้ตนก็แล้วแต่ทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาจะช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ครอบครัวอยู่ได้เพราะเลี้ยงวัวไว้ขาย ปีหนึ่งขายได้เงินนับแสนบาท ขณะที่ทำนาได้กำไร 10,000 บาท ใช้จ่ายไม่กี่วันก็หมดแล้ว จึงหันมาทดลองปลูกมันสำปะหลังอีก 3.5 ไร่ คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 30,000-40,000 บาท ซึ่งเป็นการคิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการนำมันสำปะหลังมาปลูกตามคันนา ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศแนะนำให้ทำคันนาใหญ่ๆ เพื่อปลูกกล้วย มันสำปะหลัง และพืชทนแล้งที่ใช้น้ำน้อย ซึ่งได้ไปหาซื้อพันธุ์มันสำปะหลังมาจาก อ.โนนนารายณ์ จ.สุรินทร์ ลงทุนจ้างรถมาไถคันนา ค่าต้นพันธุ์มันสำปะหลัง และค่าปุ๋ยหมดไป 6,000 บาทแล้ว
ฉะนั้น ยิ่งตอนนี้ผืนนาแห้งแล้งฝนไม่ตก ต้นข้าวขาดน้ำเริ่มแห้งตายลง หากอีก 10 วันฝนไม่ตกต้นข้าวคงแห้งตายหมด แต่หากมีฝนตกมาบ้างคงไม่เสียหายมาก และหากเดือนนี้ทั้งเดือนไม่มีฝนตกปีหน้าคงไม่มีข้าวจะขายและเก็บไว้กินในครอบครัวแน่ จึงอยากได้หน่วยงานรัฐลงพื้นที่ และขอให้รัฐบาล รวมทั้ง คสช.ช่วยคลายทุกข์ให้ชาวนาด้วย
ทั้งนี้ จากรายงานข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ระบุว่า จ.สุรินทร์มีพื้นที่การเกษตรทั้งหมดประมาณ 3,879,443 ไร่ (ร้อยละ 76.40 ของพื้นที่จังหวัด) มีครัวเรือนเกษตร 222,294 ครัวเรือน พื้นที่ถือครองทางการเกษตรแบ่งเป็น ทำนา 3,329,919 ไร่ ปลูกพืชไร่ 175,889 ไร่ ปลูกไม้ผล/ไม้ยืนต้น 216,924 ไร่ ปลูกไม้ดอก/ไม้ประดับ 66.50 ไร่ ปลูกพืชผักจำนวน 10,083 ไร่ ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ 15,958 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 11,327 ไร่ ทำการเกษตรอื่นๆ จำนวน 119,276 ไร่ ล่าสุดมีรายงานเกษตรกรได้ลงมือทำนาหว่านข้าวไปแล้วกว่า 2 แสนไร่ จากทั้งหมดกว่า 3.3 ล้านไร่ และมีนาข้าวได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้งแล้ว ที่ อ.บัวเชด จำนวน 42,000 ไร่
สำหรับพื้นที่อำเภออื่นได้รับรายงานว่า หากไม่มีฝนตกหรือฝนตกน้อยอีกประมาณ 1 เดือนนาข้าวคาดว่าจะได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง และเกษตรกรจะประสบปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวในการเพาะปลูกอีกครั้ง
รวมถึงหลายพื้นที่เริ่มขาดแคลนน้ำสำหรับผลิตน้ำประปา และมีแหล่งน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร เนื่องจากในปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของจังหวัดสุรินทร์กว่า 18 แห่งเหลือเพียง 59.44 ลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำทั้งหมด 145.07 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 40.98 ของความจุทั้งหมดเท่านั้น