๐ ปิ๊ง...นครปฐม ม.รังสิตเตรียมผุดมหาวิทยาลัยแห่งใหม่บนพื้นที่ 500 ไร่
๐ ชูแนวคิด “Green&Innovation University”
๐ ผนึกจุดแข็งของประเทศไทยกับความแข็งแกร่งของมหาวิทยาลัย
๐ มุ่งสร้างคนตอบโจทย์การขาดแคลนบุคลากรที่แท้จริงของชาติ
เมื่อพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ที่รังสิตถูกใช้จนเต็มพื้นที่แล้ว การขยายการบริการการศึกษาหรือภารกิจสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นบุคลากรที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศของมหาวิทยาลัยรังสิตซึ่งจะใช้พื้นที่ประมาณ 500 ไร่ในเขตเมืองนครปฐม เพื่อก่อเกิดมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ จึงเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวที่จะแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของ “ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” ผู้นำที่มองการณ์ไกลและนำพาองค์กรก้าวไปอย่างสร้างสรรค์มาตลอด
โครงการของมหาวิทยาลัยรังสิตแห่งที่สอง เป็นแผนระยะยาวที่คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในอีก 10-12 ปีข้างหน้านับจากนี้ โดยในด้านสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างพื้นที่ใช้สอยจะต้องมีแนวความคิดหลักทั้งสองส่วนนี้คือ “Green&Innovation” หรือจะอยู่ภายใต้แนวคิดการอยู่ใน “สิ่งแวดล้อมที่ฉลาดและรักษ์โลก” ไปพร้อมๆ กัน
ในการออกแบบก่อสร้างจะมีองค์ประกอบของบรรยากาศที่โอบล้อมด้วยผืนน้ำ การอยู่ในพื้นที่สีเขียว รายรอบด้วยเรือกสวนไร่นาที่เขียวชอุ่ม มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติบำบัด ในด้านของตัวอาคารจะมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน มีสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ เปิดโล่งและผ่อนคลาย รวมทั้ง แสดงถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่
เช่นเดียวกันในด้านของการให้วิชาความรู้หรือหลักสูตรต่างๆ ที่จะเปิดสอนจะอยู่บนแนวความคิดของ “Green&Innovation” ซึ่งเป็นการผนึกรวมความเข้มแข็งของประเทศไทยกับความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยรังสิตเข้าไว้ด้วยกัน
โดยส่วนที่จะเปิดก่อนคือ “วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ” ที่ประกอบด้วย 3 คณะ ได้แก่ คณะเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเทคโนโลยีอาหาร และใหม่ล่าสุดคือ คณะนวัตกรรมเกษตร และ “วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์” ซึ่งจะเปิดหลักสูตรใหม่คือเทคโนโลยีบัณฑิตในสาขาต่างๆ ได้แก่ สาขาซ่อมบำรุงอากาศยาน สาขายานยนต์ และสาขาแมคาทรอนิกส์ ที่ถือเป็นการสร้างคนระดับอาชีวศึกษามาสู่ระดับปริญญาตรี
นอกจากนี้ จะเปิดวิทยาลัยท่องเที่ยว และคณะศิลปะและการออกแบบ รวมทั้ง จะมีอีก 4 คณะ คือคณะวิทยาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และคณะบริหารธุรกิจ ซึ่งเป็นคณะที่คนเรียนเกษตรหรือวิศวะต้องมีความรู้ความสามารถด้านต่างๆ เหล่านี้
“ผมมองว่าประเทศขาดแคลนบุคลากรด้านการเกษตรและวิศวกรรมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรส่งเสริมคนด้านอาชีวศึกษา เพราะเมื่อเปิดประชาคมอาเซียน คนจากหลายประเทศจะเข้ามาแข่งขัน ถึงตอนนั้นหากคนไทยไม่มีทักษะที่มากกว่าก็จะสู้เขาไม่ได้ นอกจากนี้ ภาษาอังกฤษของคนต่างชาติดีกว่าคนไทย ซึ่งจะทำให้เกิดการแย่งงานได้” ดร.อาทิตย์กล่าว
ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการวิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ม.รังสิต กล่าวว่า วิทยาลัยประกอบด้วยคณะนวัตกรรมเกษตร คณะเทคโนโลยีชีวภาพ และคณะเทคโนโลยีอาหาร โดย 2 คณะหลังเป็นคณะที่ ม.รังสิตมีอยู่แล้ว จึงเสริมด้านนวัตกรรมเกษตรเข้ามา ถือเป็นคณะต้นน้ำ และช่วยตอบโจทย์การเรียนการสอนด้านการเกษตรได้อย่างครบวงจร
โดยแนวทางของวิทยาลัยมุ่งไปที่ Smart Farmer, Smart Technology รวมถึงเน้นให้นักศึกษาได้ปฏิบัติงานจริง เช่น การปลูกผักจะมีโรงเรือนอยู่ในพื้นที่ของวิทยาเขตใหม่ในจังหวัดนครปฐม ที่จะให้นักศึกษาชั้นปี 3-4 ของวิทยาลัยไปเรียน
“ม.รังสิตเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกที่ทำด้านนี้อย่างเต็มตัว และ 3 คณะที่เราเปิดสอนล้วนมีความสัมพันธ์กัน เป็นการบูรณาการแบบองค์รวมที่สามารถเรียนรู้ด้วยกันได้ ดังนั้น เด็กที่จบจากเราไปจะมีความรู้ทั้ง 3 ด้าน ซึ่งบางมหาวิทยาลัยก็แยก 3 หลักสูตรนี้ออกจากกันไปเป็นคณะเลย หรือนำไปเป็นสาขาหนึ่งของคณะวิทยาศาสตร์”
นอกจากนี้ วิทยาลัยยังมีศูนย์วิจัยและบริการวิชาการที่จะสนับสนุนการทำงานของอาจารย์และนักศึกษา โดยจะมีโรงงานต้นแบบเป็นสถานที่ผลิตสินค้าทางการเกษตร และจะสร้างสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์และอาหารทางการเกษตรในมหาวิทยาลัย เพื่อให้ครบวงจรตั้งแต่กระบวนการปลูก ผลิต และแปรรูปออกมาเป็นสินค้า และตั้งเป้าว่าภายใน 2 ปี จะมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด 1-2 ตัว โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นผลิตภัณฑ์แรกภายในปีนี้
“เพื่อจุดกระแสให้เด็กหันมาสนใจด้านการเกษตร เราจะให้ทุนการศึกษากับลูกเกษตรกร 15 ทุน เป็นทุนเต็มจำนวน 10 ทุน และทุนครึ่งจำนวน 5 ทุน เพราะต้องการให้พวกเขาเข้ามาเรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ในการผลิต รวมถึงอยากให้เข้าใจถึงธุรกิจเกษตรในด้านการจัดการธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์กลไกตลาด ทั้งหมดนี้เป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาเป็น Smart Farmer ได้ในอนาคต” ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าว
สำหรับโครงการมหาวิทยาลัยรังสิตแห่งใหม่นี้ ในส่วนของสิ่งปลูกสร้างอยู่ในระหว่างการออกแบบ โดยมีแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2558 ซึ่งเฟสแรกคาดว่าจะเสร็จภายใน 3 ปีข้างหน้า เพื่อเปิดสอนในคณะนำร่องดังที่กล่าวไปแล้ว ขณะที่ในส่วนของทีมงานและโครงร่างหลักสูตรมีการเตรียมความพร้อมไว้ค่อนข้างมากแล้ว
ก่อนจะเป็น “อาชีวะอัจฉริยะ” กับ “บูทีกเกษตร”
เมื่อ 3 ปีก่อน คำพูดหนึ่งจากปาก “ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” ที่สะท้อนทัศนคติหรือค่านิยมของคนไทยต่อการศึกษาในระดับอาชีวะคือ “ศักดิ์ศรีของความเป็นเด็กอาชีวะยิ่งกว่าลูกเมียน้อย” ทั้งๆ ที่ตลาดแรงงานของประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรในระดับปฏิบัติการ (Operation) ไม่ใช่ระดับผู้บริหาร
นอกจากนี้ กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารได้จะต้องผ่านภาคปฏิบัติมาอย่างโชกโชน ไม่เช่นนั้นจะบริหารไม่เป็น ขณะที่คนเรียนจบอาชีวะก็จะไม่ตกงานและไม่เป็นปัญหาสังคม แต่ลูกของคนที่มีฐานะดีหรือค่อนข้างฉลาดกลับไม่นิยมเลือกเรียน
ในฐานะผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยรังสิต หนึ่งในมหาวิทยาลัยแถวหน้าที่เป็นของเอกชน ดร.อาทิตย์จึงคิดว่า จะต้องวางคอนเซ็ปต์หรือแบรนดิ้งใหม่ให้กับการเรียนอาชีวะหรือสายวิชาชีพ โดยมองว่าจะทำอย่างไรในขณะที่เมื่อเรียนหลักสูตรอาชีวะจบแล้วได้ปริญญา “เทคโนโลยีบัณฑิต” ซึ่งในมุมมองของคนทั่วไปมองว่ายังไม่เทียบเท่า “วิศวะบัณฑิต”
จึงเกิดการแก้โจทย์นี้ด้วยการเปิด “สาขาซ่อมบำรุงอากาศยาน” ซึ่งให้ภาพลักษณ์ที่ดีและเป็นการร่างหลักสูตรใหม่ที่เน้นการปฏิบัติ นอกเหนือจาก “สาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม” ซึ่งแบ่งเป็น 3 แขนงวิชา คือ วิชาพลังงาน วิชาแมคาทรอนิกส์ และวิชายานยนต์ เพื่อให้บัณฑิตที่จบออกไปแล้วเรียกได้ว่าเป็น “อาชีวะอัจฉริยะ”
นับเป็นก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยรังสิตในการสร้างบุคลากรเพื่อตอบโจทย์การขาดแคลนแรงงานที่แท้จริงของประเทศไทย
อีกคำพูดหนึ่งของดร.อาทิตย์ซึ่งเชื่อมโยงกับการตัดสินใจเปิดสอนสาขาต่างๆ
ของม.รังสิตก็คือ “จุดแข็งของประเทศไทยมีอยู่ 4 ด้าน” ได้แก่ 1. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งโดยพื้นฐานวัฒนธรรมของคนไทยมีใจรักในการบริการ
2. ด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากประเทศไทยมีภูมิประเทศสวยงาม ศิลปวัฒนธรรมของไทยมีเอกลักษณ์ จึงเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติ สามารถสร้างความสนใจให้นักท่องเที่ยว
3. ด้านครีเอทีฟอาร์ต เพราะคนไทยมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และความสามารถด้านการออกแบบ เช่น งานโฆษณา ภาพยนตร์ และแอนิเมชัน และ4. ด้านการเกษตร เพราะผลิตผลด้านการเกษตรและอาหารไทยที่ได้รับความนิยมระดับโลก
“การเกษตรถือเป็นหัวใจสำคัญของประเทศไทยเป็นอย่างมาก แต่การศึกษาด้านการเกษตรที่มีการเรียนการสอนอยู่นั้นไม่เป็นที่นิยมทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับโรงเรียน แต่ถ้าเรามีแนวคิดใหม่เรื่องการเกษตรที่เป็นนวัตกรรมจริงๆ เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะฟื้นฟูและเข้มแข็งได้” ดร.อาทิตย์ย้ำ
อย่างไรก็ตาม แนวทางของมหาวิทยาลัยรังสิตมีการวางรากฐานให้เป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพ ดังนั้น นอกจากจะให้ความสำคัญกับการเปิดสอนในสาขาวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจุดแข็งของคนไทยดังที่กล่าวไปแล้วทั้งสามด้าน ล่าสุดมหาวิทยาลัยรังสิตมีความพร้อมในการเปิดหลักสูตรนวัตกรรมเกษตร เพื่อเติมเต็มจุดแข็งอีกหนึ่งด้านในการพัฒนาประเทศ
โดยมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญมากมายในวงการมาเป็นที่ปรึกษาและบริหาร ไม่ว่าจะเป็น “ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์” อดีตคณบดีคณะเกษตรศาสตร์และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาเป็นอธิการ “อาจารย์พีระพงศ์ สาคริก” อดีตกรรมการผู้จัดการตลาดไท ซึ่งเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มาเป็นรองอธิการฝ่ายบริหารและกิจการนักศึกษา และ“รศ.ดร.ไพบูลย์ กวินเลิศวัฒนา” นักวิชาการด้านการเกษตร มาเป็นรองอธิการฝ่ายวิชาการและวิจัย
รวมทั้ง การสร้างนวัตกรรมการเกษตรที่แตกต่างไปจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ เป็นนวัตกรรมการเกษตรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เรียกว่า “บูทีกเกษตร” (Boutique Agriculture) เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ตามหลักการ “Smart farmer, Smart technology” เป็นนวัตกรรมที่ใช้คนน้อยและคนที่อยู่ต้องเป็นเกษตรกรในความหมายใหม่คือ ใช้แรงงานน้อยมาก แต่ได้ผลผลิตต่อหน่วยมาก และที่สำคัญคือเป็นออร์แกนิก
ดร.อาทิตย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านใด มหาวิทยาลัยก็ต้องมุ่งสร้างความแข็งแกร่งด้านนั้น เกษตรกรรมคือหัวใจสำคัญของประเทศไทยและนำพาให้เจริญเติบโตมาโดยตลอด เรื่องการเกษตร เป็นเรื่องที่ต้องทำเพราะถือว่าเป็นความสมบูรณ์แบบของมหาวิทยาลัยรังสิตที่จะตอบสนองความต้องการของชาติ ด้วยการคิดนอกกรอบสู่นวัตกรรมการเกษตรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ