xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.อาทิตย์” เสนอทางปลดล็อกเปิดสภาไม่ได้ “นายกฯ มาตรา 7-เลือกตั้งใน 2 ปี” แก้วิกฤตประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต (ภาพจากแฟ้ม)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ออกแถลงการณ์แนะใช้มาตรา 7 เลือกตั้งใน 2 ปี แก้วิกฤตประเทศ ชี้ติดมาตรา 127 เปิดสภาตั้งรัฐบาลไม่ได้ รัฐบาลหมดความชอบธรรม ย้อนรอยตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาล นโยบายพรรคเพื่อไทยทำลายประเทศ บิดเบือนเจตนารมณ์ประชาชน เดินหน้าเลือกตั้งชนวนความขัดแย้ง หนำซ้ำจำนำข้าวผิดพลาดใหญ่หลวง คนในรัฐบาลนิยมความรุนแรง

วันนี้ (27 ก.พ.) ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ได้เขียนแถลงการณ์ต่อสถานการณ์การเมืองไทย ในขณะนี้ มีใจความว่า พี่น้องประชาชนชาวไทยทุกท่าน บัดนี้เป็นที่ปรากฏชัดแล้วว่าความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศที่ดำเนินอยู่ ได้ขยายตัวเป็นวิกฤตของชาติ ซึ่งนำไปสู่ความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กที่ไม่รู้ และไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระยะสั้นและยาวอย่างรุนแรง และมีแนวโน้มอันเป็นผลกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยของชาติ อาจจะนำประเทศไปสู่รัฐที่ล้มเหลว

นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยซึ่งชนะการเลือกตั้ง ได้ร่วมมือกับพรรคการเมืองอื่นๆ รวมกันเป็นเสียงข้างมาก จนสามารถจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากเข้ารับตำแหน่งก็เกิดวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จนเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งทำลายเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง พร้อมกับรัฐบาลได้เร่งดำเนินนโยบายประชานิยมด้วยการนำเงินของชาติไปใช้อย่างสุรุ่ยสุร่าย ซึ่งหวังแต่เพียงให้เกิดผลทางการเมืองที่จะมาค้ำจุนฐานะของรัฐบาลให้เข้มแข็งขึ้น

ภายหลังจากนั้นรัฐบาลก็ยังได้บิดเบือนเจตนารมณ์ที่ประชาชนได้มอบอำนาจให้ ด้วยการออกระเบียบชดเชยเงิน ซึ่งส่อเจตนาไม่สุจริตเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องตนที่สูญเสียชีวิต จากการชุมนุมทางการเมืองให้ได้รับเงินชดเชยจำนวน 7,000,000 บาทต่อคน อันเป็นการขัดต่อระเบียบทั่วไปที่ผู้เสียสละในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และพลเรือน พึงจะได้รับ

นอกจากนี้ ยังอ้างเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และดำเนินการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิด โดยเฉพาะในเหตุการณ์ความรุนแรงปี พ.ศ.2553 ซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้การชุมนุมในครั้งนั้นมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ รวมถึงการนิรโทษกรรมที่ครอบคลุมถึงการลบล้างความผิดในคดีคอร์รัปชันของ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นักโทษตามคำพิพากษาของศาล อันเป็นจุดเริ่มต้นที่พรรคการเมืองฝ่ายค้าน และประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ ออกมาคัดค้านอย่างแข็งขัน จนกระทั่งรัฐบาลและรัฐสภาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคเพื่อไทย ต้องยกเลิกและถอนพระราชบัญญัติดังกล่าว

แทนที่รัฐบาลและรัฐสภาที่ควบคุมโดยพรรคเพื่อไทย จะสนใจการแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากและเดือดร้อนของประชาชน กลับเร่งรีบผลักดันการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีผู้ยื่นคัดค้านให้ศาลรัฐธรรมนูญ จนศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำพิพากษาให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับดังกล่าวมีสภาพขัดกับรัฐธรรมนูญ ทำให้ประธานสภาผู้แทนราษฏร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางส่วน และสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน รวมถึงนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาแถลงการณ์อย่างเปิดเผยและเป็นทางการในการปฏิเสธคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่ยอมรับคำพิพาษาดังกล่าวอันเป็นการปฏิเสธอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

ในขณะที่วิกฤตทางการเมืองเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ใช้การยุบสภาให้เป็นทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองดังกล่าว เมื่อเช้าวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

เนื่องจากการเคลื่อนไหวคัดค้าน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่นำโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ความมุ่งหวังที่รัฐบาลจะสลายการชุมนุมไม่ประสบความสำเร็จ เพราะประชาชนทุกหมู่ทุกเหล่ามีความมุ่งมั่นที่จะให้รัฐบาลหลุดพ้นออกจากตำแหน่ง และเปิดทางให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง

ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาต้องรอวันประกาศโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่เรียบร้อย และรับมอบงานต่อจาก กกต.ชุดเดิมที่หมดวาระ ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่พรรคฝ่ายค้านประกาศไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง และปัญหาการเมืองต่างๆ ที่ดำรงอยู่ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ได้ลงความเห็นว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จะไม่สามารถบรรลุเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงเสนอให้รัฐบาลประกาศเลื่อนการเลือกตั้ง ซึ่งเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล กับ กกต.

ดังนั้น กกต.ได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเลื่อนการเลือกตั้ง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีความเห็นว่าสามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ โดยความเห็นชอบร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นผู้มีอำนาจในการออกพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งไม่เห็นชอบกับการเลื่อนการเลือกตั้ง เพราะต้องการให้มีการเลือกตั้งดำเนินต่อไป จนเป็นผลปรากฏว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นั้นไม่ประสบผลสำเร็จ และไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ระบบได้ อันเป็นชนวนของความขัดแย้งของพรรคเพื่อไทยกับ กกต.และยังสร้างปัญหาทางกฎหมายทั้งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้งอีกเป็นจำนวนมาก จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ภาระหน้าที่ของ กกต.ซึ่งจะต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จเพื่อจะได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบจำนวน หรืออย่างน้อย 95% เพื่อสามารถเปิดการประชุมภายใน 30 วัน ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 3 มีนาคม 2557 แต่ในความเป็นจริงคือ กกต.ก็ยังไม่สามารถประกาศผลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ระบบได้ ย่อมถือว่าการเมืองในระบบรัฐสภาได้ดำเนินมาสู่ทางตัน และการที่จะเลือกผู้นำรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งจำเป็นจะต้องเลือกมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้มาดำรงตำแน่งนายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 ได้

ดังนั้น ท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองที่รุมเร้ารัฐบาลก็ยังมีปัญหาแทรกซ้อนที่เป็นความผิดพลาดทางนโยบายอย่างใหญ่หลวงในเรื่องโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดกับชาวนาในประเด็นการไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าว ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาล จนสร้างความเดือดร้อนทุกข์ยากให้กับชาวนา และมีชาวนาจำนวนหนึ่งต้องสังเวยชีวิตไปกับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล และมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องจากรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ทั้งยังโยนความรับผิดชอบไปให้กับผู้อื่น จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพลักษณ์ การค้า การลงทุนของประเทศอย่างรุนแรง

การดำเนินการของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นอกจากจะไม่สามารถแก้วิกฤตการณ์ได้ยังดำเนินการต่างๆ ที่ก่อให้เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต ด้วยการออกพระราชกำหนดภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเป็นพระราชกำหนดที่ร้ายแรง ส่งผลให้ธุรกิจการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักไป อันเกิดจากพระราชกำหนดดังกล่าว ไม่คุ้มครองบุคคลที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยที่เกี่ยวกับการประกันภัย เป็นต้น

เพราะเจตนาที่แท้จริงคือการมุ่งหวังที่จะใช้พระราชกำหนด เพื่อเข้ามาควบคุม และสลายการชุมนุมของประชาชน โดยศาลแพ่งได้มีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 ว่าขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพประชาชนตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติ ไว้จึงไม่สามารถดำเนินการได้ และยังไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจับกุมผู้นำในการชุมนุมได้ ก่อให้เกิดเหตุการณ์การใช้อาวุธสงครามเข้ามาข่มขู่ศาล ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์ประเทศไทย รวมถึงคนที่สนับสนุนรัฐบาลก็มีพฤติกรรมข่มขู่ และหมิ่นศาลอย่างเปิดเผย และคนภายในรัฐบาลได้ชักนำให้ผู้สนับสนุนของตน ประกาศใช้ความรุนแรงเข้ามาทำลายล้างผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล ด้วนการจัดตั้งกองกำลังอาวุธ และประกาศจะให้มีแบ่งแยกดินแดน

ทั้งนี้ ปรากฏชัดว่า นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และรักษาการ รมต.กระทรวงมหาดไทยได้เข้าร่วมและให้การสนับสนุน โดยพฤติกรรมดังกล่าวเหล่านี้ไม่อาจกล่าวอ้างได้ดังเช่นที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้อ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย ในทางตรงกันข้ามพฤติกรรมเช่นนี้เป็นพฤติกรรมของบรรดาเผด็จการที่ชอบใช้ความรุนแรง ในการข่มขู่คุกคามผู้รักประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งไม่ได้เป็นการดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน

การดำเนินการของรัฐบาลชั่วคราวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงหมดความชอบธรรม ทั้งทางกฎหมายและทางการเมืองที่ได้ละเมิดรัฐธรรมนูญ และประพฤติผิดมิชอบในโครงการรับจำนำข้าว เป็นรัฐบาลทรราชย์

พวกเราซึ่งประกอบไปด้วย ประชาชนชนชาติต่างๆ ทุกสาขาอาชีพ ทั้งพลเรือน ทหาร และตำรวจ ที่ได้รวมกัน ณ ที่นี้ อันเป็นเจตนาร่วมกันของคนทั้งชาติที่ต้องการขจัดภัยร้ายแรงที่เกิดจากการกระทำที่ผิดและปฏิเสธการดำรงอยู่ของรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นับแต่นี้ตลอดไป

ดังนั้นประชาชนทุกหมู่เหล่านี้จึงมีความประสงค์ที่จะใช้อำนาจอธิปไตยของตนเองตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 พร้อมทั้งเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 127 ที่ไม่สามารถเปิดการประชุมรัฐสภาครั้งแรกได้ และมาตรา 171 ซึ่งไม่อาจจัดหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้

ทั้งนี้จึงจำเป็นที่องค์พระประมุขของประเทศ จะต้องทรงวินิจฉัยเพื่อแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 ขึ้นมาเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ โดยอาศัยอำนาจประเพณีการปกครอง เมื่อครั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 และเหตุการณ์วันประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 อันเป็นประเพณีการปกครองตามนัยยะมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย 2550 โดยขอพระบรมราชานุญาตให้รองประธานวุฒิสภา เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เพื่อแต่งตั้งและบริหารประเทศเป็นการชั่วคราว โดยให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แก้ไขกฎระเบียบ และจัดการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ภายใน 2 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น