•แฉปัญหานี้แก้ไม่ตก เพราะไร้กฎหมายกำหนดความรับผิดชอบ “ผู้ผลิต ร้านค้า และผู้บริโภค”
•เส้นทาง e-waste ก่อผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน พบมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้น
•“ความร่วมมือโดยสมัครใจ” ยังเป็นทางออกเดียวที่เยียวยา
“ขยะอิเล็กทรอนิกส์” หรือ e-waste มีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 เท่าของขยะมูลฝอยในชุมชนในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงสองทศวรรษนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจกลายเป็นตัวเร่งพฤติกรรมการใช้ผลิตภัณฑ์ด้านไอทีต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงรุ่นและตกรุ่นอยู่ตลอดเวลา จนทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่เลิกใช้และถูกทิ้งเป็นขยะสะสมเป็นปริมาณมากตามความต้องการของตลาด
อีกทั้งประเทศไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของปลายทางขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลกที่แฝงมาในรูปของการนำเข้าสินค้าคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ใช้แล้วจากต่างประเทศ ดังนั้น การสร้างความเข้าใจถึงแนวทางจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างความปลอดภัยต่อสังคมและชุมชนจึงเป็นแนวทางของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะสื่อสารสร้างความเข้าใจ และนำไปสู่การดำเนินการอย่างถูกวิธี
เส้นทางออกกฎหมายที่จบไม่ลง
ประเทศไทยจะต้องดำเนินการให้มีกฎหมายจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยด่วน เพื่อจัดให้มีระบบการรวบรวม ขนส่งและรีไซเคิลอย่างถูกต้อง นั่นเป็นทางออกเดียวซึ่งดูเหมือนไม่ยาก แต่ก็ผ่านมาแล้วผ่านไปหลายรัฐบาลก็ยังออกกฎหมายไม่ได้ ทั้งที่ได้เห็นแบบอย่างที่ประสบสำเร็จมาแล้วในต่างประเทศ ที่ได้กำหนดความรับผิดชอบของผู้ผลิต ร้านค้าปลีก ท้องถิ่นและผู้บริโภค
ดร. สุจิตรา วาสนาดำรงดี ผู้จัดการโครงการจุฬาฯ รักษ์โลก เล่าสถานการณ์และอุปสรรคในการออกกฎหมาย ว่าที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยได้จัดทำยุทธศาสตร์การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เชิงบูรณาการเพื่อกำหนดกรอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาและได้มีการยกร่างกฎหมายเพื่อสร้างระบบบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547
ช่วงนั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดการของเสียอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว ต่อมา เมื่อกระทรวงการคลังได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม (ปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อเป็น “ร่างพระราชบัญญัติมาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม) ซึ่งกฎหมายนี้จะเปิดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถยกร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดรายละเอียดการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ผ่านการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์เข้ากองทุนซึ่งสอดคล้องกับร่างกฎหมายของกรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมมลพิษจึงได้ปรับเปลี่ยนแนวทางจากการเสนอร่างพ.ร.บ. เดิมของหน่วยงานมาเป็นการยกร่างพระราชกฤษฎีกาภายใต้ร่างพ.ร.บ. ของกระทรวงการคลังแทน ภายใต้ชื่อ “ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและการจัดการเงินรายได้จากค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์” ในปี พ.ศ. 2554
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของการผลักดันร่างมาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม มีทีท่าว่าจะหยุดชะงัก แม้ร่างกฎหมายนี้ได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากมติคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553 แต่กลับต้องเผชิญกับปัญหาความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างกระทรวงการคลังและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเรื่องของกองทุนที่จะจัดตั้งขึ้นประกอบกับข้อวิพากษ์เรื่องแนวทางการเขียนกฎหมายแบบกว้างๆ ที่ให้รายละเอียดไปอยู่ที่พระราชกฤษฎีกา ตลอดจนข้อกังวลว่าร่างกฎหมายนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจให้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ทำให้ปัจจุบัน กระทรวงการคลังอยู่ในระหว่างการทบทวนแก้ไขร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้อีกครั้งและยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการเดินหน้านำเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อรัฐบาลและสภาอีกเมื่อใด?
จากสถานการณ์ความชะงักงันของร่างกฎหมายแม่ดังกล่าว ทำให้ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ที่กรมควบคุมมลพิษได้ยกร่างรอไว้แต่ไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ ปัจจุบัน เป็นที่แน่ชัดว่า กระทรวงการคลังจะไม่รวมร่างอนุบัญญัติเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ในร่างพ.ร.บ.มาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ กรมควบคุมมลพิษ จึงต้องกลับมานับหนึ่งใหม่ ในการยกร่างกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ภายใต้ชื่อ “ร่างกฎหมายการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายจากชุมชน” โดยจะศึกษาทางเลือกของกฎหมาย 2 ทางเลือก
ทางเลือกแรก ยึดตามแนวทางเดิม คือ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์เข้ากองทุน
ทางเลือกที่สอง ออกกฎหมายที่ใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของตนเองเมื่อกลายเป็นซากผลิตภัณฑ์ฯ โดยการจัดระบบการเรียกคืนซากผลิตภัณฑ์ฯ การขนส่งและการบำบัดกำจัดเอง
หากถามประชาชนทั่วไปว่า ได้รับรู้เรื่องประเด็นปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์และความพยายามของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาโดยการยกร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ เชื่อว่าคำตอบส่วนใหญ่ที่คาดจะได้ คือ ไม่เคยทราบข้อมูลเหล่านี้มาก่อน (แต่จากผลการสำรวจของกรมควบคุมมลพิษรวมทั้งวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่าประชาชนไม่ค่อยรับทราบถึงประเด็นปัญหาเหล่านี้) ซึ่งสะท้อนข้อจำกัด หรือการไม่ให้ความสำคัญของหน่วยงานภาครัฐในการประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้แก่ประชาชนเท่าที่ควร
ดังนั้น หากประชาชนไม่ทราบข้อมูลถึงความจำเป็นที่ประเทศต้องมีการพัฒนาระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ อย่างถูกต้อง ประชาชนก็ย่อมไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการออกกฎหมายและอาจไม่สนใจที่จะเป็นแนวร่วมผลักดันให้เกิดกฎหมายนี้
อีกทั้งเป็นที่น่ากังวลว่า แม้จะสามารถผลักดันให้มีการออกกฎหมายได้จริง
แต่หากประชาชนไม่เข้าใจในหลักการและเหตุผลของกฎหมายก็อาจนำไปสู่ปัญหาการไม่ให้ความร่วมมือในการส่งคืนซากผลิตภัณฑ์ฯ ให้กับระบบที่จัดตั้งขึ้น (ไม่ว่าจะเป็นการส่งให้ฟรีหรือขายให้ก็ตาม) และทำให้ภาครัฐไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย เราจัดการอย่างไร??
ส่วนใหญ่ ขายต่อให้ซาเล้ง หรือรถเร่ (รถปิคอัพ) หรือไม่ก็บริจาคให้วัด มูลนิธิต่างๆ (ซึ่งเมื่อได้รับบริจาคมามากๆ บางแห่งก็ขายต่อให้กลุ่มพ่อค้า)
ของที่ซ่อมได้ จะซ่อมแล้วขายต่อ (หรือใช้ต่อ) เป็นสินค้ามือสอง
ของที่ซ่อมไม่ได้ จะขายต่อหรือถอดแยกชิ้นส่วนเพื่อนำไปรีไซเคิล แต่มักทำอย่างไม่ถูกต้อง จึงสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เช่น สายไฟที่ปอกด้วยมือไม่ได้ จะใช้วิธีการเผา รวมทั้งเผาพลาสติกเพื่อเอาชิ้นส่วนโลหะ เช่น น็อต ก่อให้เกิดสารพิษกระจายปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม
ชิ้นส่วนที่ขายไม่ได้ ถูกทิ้งปะปนไปกับขยะทั่วไป ทำให้เกิดสารพิษและโลหะหนัก (เช่น ตะกั่ว) แพร่กระจายสู่แหล่งดินและน้ำ