xs
xsm
sm
md
lg

โรงไฟฟ้าถ่านหิน มรดกความกลัวข้ามรุ่น ชุมชนพร้อมหนุนสร้างโรงไฟฟ้า หาก กฟผ.ไม่ตอแหล! (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

อย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า การจะสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละครั้งจำเป็นที่จะต้องมีชาวบ้านเสียสละพื้นที่ในการสร้างโรงไฟฟ้า และชาวบ้านบริเวณชุมชนใกล้เคียงก็ต้องเสียสละสุขภาพ เพราะการผลิตกระแสไฟฟ้ามีโอกาสสูงที่จะก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน

หากยังจำกันได้ ตามหน้าสื่อต่างๆ จะพบข่าวคราวของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะอยู่เนืองๆ ทั้งการตั้งเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะขึ้นอย่างเป็นทางการ ศาลตัดสินให้ กฟผ.จ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ป่วยแต่อยู่ระหว่างรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด หรือข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ เป็นต้น

เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องต่อเนื่องยาวนานหลายปี จนฝังใจอยู่ในหัวใจคนไทยว่าการสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินจะนำมาซึ่งอันตรายของประชาชนบริเวณนั้น กลายเป็นมรดกความกลัวที่ตกทอดจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง แม้แต่ในเวทีเสวนาหลายรายการก็มีการพูดถึง เช่น สารพิษที่ปนเปื้อนในชุมชนรอบเหมืองถ่านหินลิกไนต์มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว เรื้อรัง ปอดดำ เป็นต้น

ล่าสุด นายไพสิฐ ตัณฑุลพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ.ระบุว่า จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเติมขึ้นที่ จ.กระบี่ ซึ่งที่นี่มีโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากน้ำมันเตาอยู่แล้ว เพื่อกระจายการผลิตกระแสไฟฟ้าให้สมดุลมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญภาคใต้ขณะนี้มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นจนอัตราการผลิตและอัตราการใช้ไฟฟ้าเกือบจะเท่ากัน ทำให้บางครั้งผลิตกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงเกิดภาวะไฟฟ้าดับเป็นบางช่วง จึงจำเป็นต้องมีการขยายโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม

“การเลือกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ เป็นไปตามแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งการเลือกผลิตโรงไฟฟ้าจากถ่านหินเพราะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่สำคัญกระบี่มีความเหมาะสมในแง่ของภูมิประเทศ เนื่องจากอยู่ติดทะเล มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถนำมาใช้รดถ่านหินเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายได้ สามารถนำมาใช้ขับเคลื่อนในการผลิตไฟฟ้า และมีท่าเรือน้ำลึกในการขนส่งถ่านหินมายังโรงไฟฟ้า

ด้าน นายธาตรี ริ้วเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การ กฟผ. กล่าวว่า การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเส้นทางขนส่งถ่านหินจากท่าเรือน้ำลึกมายังโรงไฟฟ้า ซึ่งคาดว่า พ.ย.นี้จะได้ข้อสรุป แล้วนำไปรวมกับผลการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในภาพรวมอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การรับฟังความเห็นหรือการทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 3 ซึ่งเดินทีจะต้องเริ่มทำในกลางปีนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มได้ใน พ.ค.-มิ.ย. 2557 ซึ่งจะทำให้การก่อสร้างซึ่งใช้ระยะเวลา 5 ปี ล่าช้าจากตามแผนกำหนดการเดิมที่กำหนดไว้ไปประมาณ 1 ปี จากที่ต้องแล้วเสร็จในปี 2562 เป็นปี 2563 ซึ่งการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นี่จะใช้เทคโนโลยีเดียวกับที่แม่เมาะและโรงไฟฟ้าเฮกินัน ประเทศญี่ปุ่น คือมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการกำจัดของเสียต่างๆ ที่เกิดจากการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งชัดเจนว่าทุกวันนี้ที่แม่เมาะก็ไม่มีปัญหาเรื่องมลพิษใดทั้งสิ้น โดยการตรวจคุณภาพอาการบริเวณโดยรอบโรงไฟฟ้าก็พบว่าไม่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งการตรวจนี้มีทั้งการตรวจของโรงไฟฟ้าเองและกรมควบคุมมลพิษเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่คนในชุมชน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนกังวลใจนอกจากเรื่องของมลพิษที่อาจเกิดขึ้นจากการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว นายด้นหล้า พยายาม ตัวแทนชุมชน จ.กระบี่ เปิดเผยความรู้สึกระหว่างการศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าเฮกินัน ที่ประเทศญี่ปุ่น ว่าจากการมาดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ญี่ปุ่นแล้วพบว่าเขามีเทคโนโลยีในการกำจัดมลพิษที่เกิดขึ้นจากการผลิตกระแสไฟฟ้าได้จริง สามารถสังเกตได้ว่าปล่องควันเขาไม่มีควันออกมาเลย จึงไว้ใจได้ว่ามีความปลอดภัยและอยู่ร่วมกับชุมชนได้ในระดับหนึ่ง เพราะชุมชนโดยรอบของโรงไฟฟ้าเฮกินันเองก็ไม่มีการออกมาต่อต้านการก่อสร้างแต่อย่างใด เพราะบริษัทมีการออกมาให้ข้อมูลที่ชัดเจนและทำความเข้าใจกับคนในชุมชนตลอด ที่สำคัญคือต้องไม่โกหก หลอกลวงข้อมูลประชาชน ตรงนี้ กฟผ.ก็สามารถทำได้ การจะกลับมาเรียกคืนความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจจากคนในชุมชน กฟผ.ต้องแสดงความจริงใจก่อน ให้ความรู้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง หากทำได้คนในชุมชนก็พร้อมจะสนับสนุนในการก่อสร้างเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น