xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.สิ่งแวดล้อม แนะ 4 แนวทางการจัดการขยะของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขานุการและอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา
ศูนย์ข่าวศรีราชา - อนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา เสนอแนะ 4 แนวทางการจัดการมูลฝอยของประเทศไทย หลังพบว่ากำลังเป็นปัญหาระดับประเทศ และกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี

วันนี้ (26 ก.ค.) นายสนธิ คชวัฒน์ เลขานุการและอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ นางภารดี จงสุธามนี ประธานคณะอนุกรรมาธิการ ได้เชิญกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครอท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย หารือร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาการกำจัดมูลฝอยที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และการลักลอบทิ้งมูลฝอยในที่สาธารณะ

ซึ่งพบว่ามูลฝอยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปี 2555 มีจำนวน 16 ล้านตัน หรือคิดเป็น 43,000 ตันต่อวัน ถูกนำไปฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะเพียง 5.8 ล้านตัน หรือร้อยละ 36 ที่เหลืออีกกว่า 10 ล้านตัน กำจัดอย่างไม่ถูกวิธี เช่น กองทิ้งกลางแจ้ง เผาในที่โล่ง ทำให้เกิดปัญหามลพิษ เช่น น้ำเสีย กลิ่นเหม็น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์พาหะนำโรค ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ

จากการพิจารณาทั้งในด้านกฎหมาย และการจัดการของทางคณะอนุกรรมาธิการ เห็นควรมีข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหา ดังนี้ คือ 1.เนื่องจาก พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 กำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดวิธีการเก็บขน และกำจัดสิ่งปฏิกูล และมูลฝอย รวมทั้งกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการ

เห็นควรที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ต้องเร่งออกกฎกระทรวงเรื่องการจัดการมูลฝอย ให้มีควมชัดเจน ตั้งแต่การเก็บรวบรวม การขนส่ง การเลือกพื้นที่ และเทคโนโลยี่ในการกำจัด วิธีในการกำจัด รวมทั้งการให้ภาคเอกชนมาลงทุนการจัดการมูลฝอย เป็นต้น เพื่อเป็นแนวทาง หรือกรอบการปฏิบัติของราชการส่วนท้องถิ่นที่ชัดเจน ไม่ใช่รอให้ท้องถิ่นไปออกข้อกำหนดของตนเอง ดังจะเห็นได้ว่าท้องถิ่นส่วนใหญ่นำขยะมูลฝอยไปเทกอง และเผากลางแจ้ง ไม่มีการจัดการที่ถูกหลักสุขาภิบาล

2.รัฐบาลต้องสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมอย่างถูกหลักสุขาภิบาล เพื่อใช้ร่วมกันระหว่างท้องถิ่น ไม่ควรให้ท้องถิ่นในแต่ละแห่งกำจัดมูลฝอยของตนเองเท่านั้น ซึ่งทำให้ขาดแคลนพื้นที่ฝังกลบ และถูกการต่อต้านจากประชาชน

3.ภาครัฐควรสนับสนุน และส่งเสริมให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจการจัดการมูลฝอยอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเก็บ การขนส่ง และการกำจัด โดยสามารถหารายได้จากการนำมูลฝอยกลับมาใช้ใหม่ และการรีไซเคิลมูลฝอยให้มากที่สุด ทั้งนี้ การออกกฎกระทรวงจะต้องวางกรอบ และแนวทางที่ชัดเจน ในเรื่องของการบริหารจัดการ โดยต้องทำการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียม การเก็บขน และการกำจัด ให้สอดคล้องกับค่าดำเนินการ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการลงทุน เช่น เก็บค่าธรรมเนียมการเก็บ และการกำจัดมูลฝอยทั่วไป แต่ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ และแปรรูปได้ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดแยกมูลฝอย และภาคเอกชนรับซื้อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

4.สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำโครงการส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะมูลฝอย ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาคราชการ เช่น ร่วมมือกับตลาด ร้านอาหารในชุมชน ช่วยกันแยกเศษอาหาร เศษผักผลไม้ ให้ท้องถิ่นดำเนินการเก็บรวบรวมไปใช้ประโยชน์ เช่น การทำปุ๋ยหมัก การนำไปเป็นอาหารสัตว์ เป็นต้น หรือร่วมมือกับห้างสรรพสินค้า ตั้งเครื่องรับซื้อขยะรีไซเคิลอัตโนมัติ เช่น กระป๋อง แก้ว พลาสติก นอกจากนี้ ต้องสร้างจิตสำนึกแก่เยาวชน และประชาชน เพื่อลดปริมาณขยะ เช่น การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก
กำลังโหลดความคิดเห็น