xs
xsm
sm
md
lg

ขยะท่วมพัทยา! บ่อเขาไม้แก้วเต็ม-ชาวบ้านฮือต้านฝังกลบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ปัญหาขยะเมืองพัทยาเข้าขั้นวิกฤต พื้นที่ฝังกลบขยะที่เขาไม้แก้วเริ่มเต็ม ขณะที่ชาวบ้านรอบบ่อขยะทนกลิ่นเหม็น-น้ำเน่าเสียไม่ไหว รวมตัวประท้วงปิดบ่อห้ามเมืองพัทยานำขยะเข้าฝังกลบอีก จนมีขยะตกค้างในเมืองพัทยาวันละกว่า 400 ตัน

ปัญหาขยะเมืองพัทยาลุกลามรุนแรงที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลังจากพื้นที่ 140 ไร่ ที่ ต.เขาไม้แก้ว อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ที่เมืองพัทยาใช้เป็นที่ฝังกลบขยะมานานนับ 10 ปีนั้น มีขยะฝังกลบจนเกือบเต็มโ ดยยังเหลือพื้นที่สามารถนำขยะมาฝังกลบได้อีกเพียง 30 ไร่ หรือไม่ถึง 10% เท่านั้น

ขณะที่ชาวบ้านในบริเวณโดยรอบเริ่มอดทนต่อสภาพมลพิษจากบ่อขยะไม่ไหว เนื่องจากการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องของน้ำเน่าเสียที่ไหลซึมลงสู่แม่น้ำลำคลอง พื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้าง มลพิษทางกลิ่น ความสกปรกตามเส้นทางเดินรถขยะที่ต้องผ่านชุมชน และปัญหาสุขอนามัยที่เริ่มส่งผลกระทบเช่นกัน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ในช่วงกว่า 2-3 เดือนที่ผ่านมา มักเกิดปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างชาวบ้านในพื้นที่ตำบลเขาไม้แก้ว อ.บางละมุง จ.ชลบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลเขาไม้แก้วที่ดูแลพื้นที่ดังกล่าว กับเมืองพัทยาเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน และบ่อฝังกลบขยะมูลฝอยขนาดใหญ่ จนทำให้มีการปิดถนนประท้วงห้ามการขนถ่ายขยะมูลฝอยจากเมืองพัทยามายังพื้นที่ฝังกลบหลายครั้ง ร้อนถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งในส่วนของนายอำเภอบางละมุง นายกเมืองพัทยา และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งบริษัทผู้รับเหมาสัมปทานการเก็บขนที่ต้องไปเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อร้องขอให้มีการเปิดเส้นทางเพื่อขนถ่ายขยะตามปกติ โดยมีการรับปากว่าจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว ทั้งการแก้ไขปัญหาเรื่องมลพิษ และการก่อสร้างโรงคัดแยกขยะ โรงผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเพื่อลดปริมาณขยะสะสมที่ทับถมกันมานานนับสิบปี ซึ่งก็ทำให้สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าไปได้ในหลายครั้งหลายครา

อย่างไรก็ตาม การตกปากรับคำที่ดูจะไม่มีความจริงใจนี้ ก็สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ยังเกิดขึ้น จนชาวบ้านเริ่มอดรนทนไม่ไหว และยังคงเก็บกดความไม่พอใจอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งล่าสุดตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลเขาไม้แก้ว ก็รวมตัวประท้วงปิดบ่อทิ้งขยะของเมืองพัทยาอีกครั้ง และครั้งนี้ดูท่าว่าการเจรจาจะไม่เกิดประโยชน์ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรง และไร้การเยียวยา

ปัญหาขยะมูลฝอยเมืองพัทยาในอดีตที่ผ่านมา มีปริมาณขยะมูลฝอยของเมืองพัทยาเฉลี่ยอยู่ในปริมาณวันละ 200 ตัน โดยเมืองพัทยาได้ว่าจ้างภาคเอกชนเข้ามารับเหมาสัมปทานเพื่อทำการเก็บขนในสัดส่วน 70:30 ของพื้นที่โดยรวม โดยเมืองพัทยา จะทำการเก็บขนเองในพื้นที่ 30% ขณะที่ภาคเอกชนจะมีหน้าที่เก็บขน จำนวน 70% โดยทั้งสองส่วน หลังการเก็บขนจากพื้นที่ต่างๆ ก็จะนำมารวมกันยังจุดพักที่โรงพักขยะ หรือ Transfer บริเวณซอยสุขุมวิท 3 ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เพื่อทำการคัดแยกก่อนขนถ่ายไปทำการฝังกลบที่บ่อทิ้งขยะ 140 ไร่ ต.เขาไม้แก้ว ที่เมืองพัทยาจัดซื้อไว้เป็นที่ฝังกลบทำลาย

โดยเมืองพัทยาจะจ่ายค่าจ้างในการเก็บขนให้แก่ภาคเอกชนบางส่วนในอัตราคิดต่อปริมาณขยะ 1 ตัน ทั้งนี้ ปัจจุบันได้ว่าจ้าง “บริษัทกิจการร่วมค้าพัทยาเมืองสะอาด” เป็นผู้ดำเนินการ แต่ด้วยการเติบโตทางสังคม เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ซึ่งดูได้จากสถิติของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พัทยา ที่ระบุไว้ว่า เมืองพัทยา มีอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวเฉลี่ยปีละกว่า 12% โดยปีล่าสุด 2555 มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวมกว่า 8 ล้านคน ไม่นับรวมประชากรตามทะเบียนราษฎร ประชากรแฝง และแรงงานที่หลั่งไหลเข้ามาพักอาศัยอยู่ในพื้นที่อีกกว่า 500,000 คน จึงทำให้ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นแต่ละวันสูงเฉลี่ยถึง 400-420 ตัน ซึ่งกรณีนี้ทำให้เกิดปัญหาขยะสะสมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากปัจจัยดังกล่าว ทั้งกรณีของกลุ่มชาวบ้านที่ปิดถนนประท้วงห้ามเมืองพัทยาขนถ่ายนำขยะไปฝังกลบในพื้นที่ตำบลเขาไม้แก้ว และปัญหาเรื่องของการเตรียมแผนรองรับพื้นที่ฝังกลบที่ใกล้เต็มพื้นที่ ปัจจุบัน เมืองพัทยาจึงต้องก้มหน้ารับชะตากรรมที่ต้องประสบปัญหาอย่างรุนแรงในเรื่องของขยะตกค้างสะสมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณจุดโรงพักขยะ บริเวณซอยสุขุมวิท 3 ซึ่งพบว่า มีปริมาณขยะสะสมรอการขนถ่ายกว่า 5,000 ตัน หรือปริมาณขยะ 400 ตันต่อวันในยอดสะสมรวมกว่า 2 สัปดาห์ ด้วยความที่โรงพักขยะอยู่ในเขตชุมชนหนาแน่น และเมืองพัทยาใช้เป็นเพียงพื้นที่พักขยะเพื่อรอการขนส่งไปทิ้งเท่านั้น

ระบบการป้องกันปัญหาเรื่องมลพิษจึงเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น และด้วยปริมาณขยะที่สะสมเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบที่เรียกว่า “ชุมชนกระทิงลาย” ต้องพบกับความเดือดร้อนอย่างสาหัสจากกรณีดังกล่าว ไม่ต่างอะไรกับชาวบ้านในพื้นที่ตำบลเขาไม้แก้ว ที่ประสบชะตากรรมเช่นนี้มานานนับสิบปี โดยกรณีที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ชาวบ้านพยายามร้องเรียนผ่านมายังตัวแทนอย่างสมาชิกสภาเมืองพัทยา คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบเป็นครั้งคราว แต่ก็ยังไร้ความชัดเจนที่จะจัดการแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ

กรณีนี้ยังไม่นับรวมไปถึงปัญหาขยะมูลฝอยตกค้างในพื้นที่ชุมชนบ้านเกาะล้าน ม.7 ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ที่พบว่าที่ผ่านมาก็ต้องประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดยผู้เกี่ยวข้องชี้แจงว่า มีปัญหาในเรื่องของขนถ่ายที่ต้องนำลงทะเล และนำมาขึ้นฝั่งที่เมืองพัทยาก่อนส่งตรงไปยังบ่อทิ้งขยะในพื้นที่ตำบลเขาไม้แก้ว ซึ่งเมื่อทั้งโรงพักขยะในซอยสุขุมวิท 3 และบ่อทิ้งในพื้นที่ตำบลเขาไม้แก้วประสบปัญหา จึงทำให้ปริมาณขยะจำนวนกว่า 20 ตันต่อวัน บนพื้นที่ชุมชนบ้านเกาะล้าน ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกันไปด้วย ที่ผ่านมา เมืองพัทยาเสนอโครงการขออนุมัติงบประมาณกว่า 4 ล้านบาท

เพื่อไปทำการขุดบ่อขนาดใหญ่เพื่อนำขยะที่เกิดขึ้นแต่ละวันมาฝังกลบทิ้งไว้รอการขนถ่าย บริเวณเขานม หน้าชายหาดแสม ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งพบว่าปริมาณขยะเริ่มหนาแน่นจนใกล้เต็มพื้นที่แล้วเช่นกัน ขณะที่แกนนำชุมชน และชาวบ้านบางส่วนบนพื้นที่ชุมชนเกาะล้าน เริ่มมีกระแสการคัดค้านต่อต้าน เนื่องจากกรณีดังกล่าวมีการจัดทำในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อีกทั้งยังอาจส่งมลพิษทำลายภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวในภาพรวมของเกาะล้านที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ แต่ก็ยังไร้แนวทางการจัดการแก้ไขปัญหาจากเมืองพัทยา

ปัญหาที่เกิดขึ้น นายสุธีร์ ทับหนองฮี ผู้อำนวยการส่วนบำรุงรักษาและบูรณะ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม เมืองพัทยา ให้คำตอบว่า ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลเขาไม้แก้ว อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ประท้วงปิดทางเข้าออกบ่อฝังกลบขยะปลายเดือนที่แล้ว โดยไม่ยินยอมให้รถขนถ่ายขยะของเมืองพัทยาเข้าไปในพื้นที่ หลังพบว่าปัจจุบันบ่อฝังกลบดังกล่าวเริ่มส่งปัญหาด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงนั้น เรื่องนี้ชาวบ้านได้มีข้อเรียกร้องให้เมืองพัทยาเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาใน 6 ข้อหลักอย่างเร่งด่วน

คือ 1.ปัญหาขยะที่ส่งกลิ่นเน่าเหม็น มีน้ำเสียไหลลงสู่ลำคลองสาธารณะ 2.ปัญหาเตาเผาขยะติดเชื้อที่สร้างปัญหาเรื่องมลพิษทางกลิ่น 3.ปัญหาน้ำเสียล้นจากบ่อขยะ 4.การดำเนินการปิดผ้าใบคลุมบ่อขยะเพื่อป้องกันกลิ่น และเศษขยะ 5.การจัดทำที่ล้างล้อรถขนขยะก่อนออกจากบ่อขยะ เพื่อป้องกันปัญหาขยะติดล้อ และหล่นในพื้นที่ชุมชน และ 6.ปัญหาน้ำเสียที่ไหลลงพื้นที่ชุมชน ซึ่งแนวทางทั้งหมดปัจจุบันเมืองพัทยากำลังเร่งรัดเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนแล้ว

ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาขยะในระยะยาวนั้น เมืองพัทยาได้มีการทำสัญญากับบริษัทกิจกรรมร่วมค้าพัทยาเมืองสะอาดในปี 2555 ในสัญญา 20 ปี โดยกำหนดให้มีการก่อสร้างโรงคัดแยกขยะ เพื่อนำมาใช้รีไซเคิลสร้างมูลค่า และลดปริมาณขยะที่จะฝังกลบให้เหลือน้อยที่สุด เนื่องจากปัจจุบัน พื้นที่บ่อทิ้งขยะในตำบลเขาไม้แก้ว ที่เมืองพัทยาใช้ในการฝังกหลบขยะมูลฝอยนั้นพบว่า มีการใช้จนเกือบเต็มพื้นที่แล้ว โดยพบว่ามีการนำขยะฝังกลบไปแล้วกว่า 1.2 ล้านตัน ยังเหลืออีกเพียง 30 ไร่เท่านั้นที่จะสามารถดำเนินการได้ต่อไปได้ ซึ่งหากไม่หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาในระยะยาวคาดว่าปัญหาขยะของเมืองพัทยาจะต้องเป็นปัญหาสำคัญในอนาคต เนื่องจากปริมาณขยะสูงขึ้นกว่าวันละ 400 ตัน

ด้วยเหตุนี้ จึงมีแผนการในการสัมปทานให้ภาคเอกชนเข้ามาก่อสร้างโรงคัดแยกเพื่อนำขยะทุกชนิดมาสร้างมูลค่า เช่น นำมาเป็นพลังงานทดแทน การนำกลับมาใช้ใหม่ นำมาทำเป็นพลังงานไฟฟ้า ขณะที่ส่วนขยะที่เหลือจากการคัดแยกจะมีสัดส่วนเพียง 10% ก็จะดำเนินการนำไปฝังกลบ ซึ่งแผนงานนี้จะรวมไปถึงการนำขยะเก่าที่ฝังกลบไปแล้วในพื้นที่เพื่อนำมาคัดแยกใหม่ด้วย ซึ่งก็จะทำให้พื้นที่บ่อขยะเขาไม้แก้ว จะสามารถรองรับขยะไปได้อีกหลาย 10 ปี ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวปัจจุบันได้เริ่มก่อสร้างไปแล้ว และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 6 เดือน

นายสุธีร์ กล่าวเสริมว่า ขณะที่ปัญหาขยะพื้นที่เกาะล้านเมืองพัทยาได้มีการจัดสรรงบประมาณในการจัดสร้างโรงคัดแยกขยะเช่นกันในงบประมาณจำนวนกว่า 34 ล้านบาท แต่ขณะนี้ยังติดปัญหาในเรื่องของการส่งมอบพื้นที่จากกรมป่าไม้ โดยคาดว่าหลังจากนี้อีกประมาณ 9 เดือน ก็คงจะมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ปัจจุบันพื้นที่เกาะล้านมีขยะในปริมาณวันละกว่า 20 ตัน แต่คงไม่สามารถขนถ่ายเข้าสู่ฝั่งได้อย่างต่อเนื่อง เพราะติดปัญหาในเรื่องของเรือขนถ่ายที่จะเข้าพื้นที่ได้ในช่วงน้ำขึ้นเท่านั้น จึงจำเป็นต้องหาจุดพักขยะเป็นการเบื้องต้น โดยเมืองพัทยาได้อนุมัติงบ ประมาณกว่า 3 ล้านบาท ในการขุดบ่อพักขยะชั่วคราวบริเวณเขานม หน้าหาดแสม ม.7 ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งจะสามารถรองรับขยะได้ในปริมาณ 10 ตัน โดยปัจจุบันได้ทำการขุดไปแล้ว จำนวน 4 บ่อ ก่อนนำทยอยขนสู่ฝั่ง และรอโครงการคัดแยกต่อไป

จากคำตอบของผู้เกี่ยวข้องจากกรณีปัญหาขยะมูลฝอยของเมืองพัทยานั้น หากมองในภาพรวมก็ถือว่าคงจะสามารถแก้วิกฤต และสามารถลดปัญหา หรือภาระที่เกิดขึ้นกับเมืองพัทยาไปได้ในระยะยาว แต่แท้ที่จริงแล้ว แผนงานดังกล่าวควรจะริเริ่มดำเนินการ และวางแผนเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ส่อความรุนแรงมาก่อน แทนที่จะปล่อยให้สถานการณ์เริ่มคุกรุ่น และบานปลายเหมือนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่สำคัญขณะนี้เมืองพัทยายังไม่สามารถหาแนวทางออกในการเจรจาไกล่เกลี่ยห รือแก้ไขปัญหาในภาพรวมที่เกิดขึ้นกับชุมชนบริเวณบ่อฝังกลบในพื้นที่ตำบลเขาไม้แก้ว หรือชาวบ้านในพื้นที่บริเวณโดยรอยจุดพักขยะภายในซอยสุขุมวิท 3 ปัญหาขยะตกค้างบนพื้นที่เกาะล้าน และปัญหาขยะตกค้างหมักหมมตามแหล่งท่องเที่ยวหลักที่ประจานภาพออกสู่สายตาประชาชน และนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทุกวันนี้ เมืองพัทยากลับต้องหาทางออกด้วยการขนถ่ายขยะมูลฝอยที่สะสมเป็นจำนวนมากไปฝากทิ้งทำลายตามพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นข้างเคียง อย่าง แหลมฉบัง ตะเคียนเตี้ย นาจอมเทียน และสัตหีบ ซึ่งหากยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป และในอนาคตเมื่อถูกคัดค้านต่อต้าน ปัญหาขยะเมืองพัทยาก็ไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างสวยงาม ณ จุดใด..ซึ่งยังไร้คำตอบที่ชัดเจน







กำลังโหลดความคิดเห็น