เพชรบุรี - ชาวบ้านบางจาน เมืองเพชรบุรี จัดเวทีคัดค้านการก่อสร้างโรงงานเผาขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า
วันนี้ (11 พ.ค.) ที่หอประชุมโรงเรียนบางจานวิทยา ต.บางจาน อ.เมือง จ.เพชรบุรี ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านกว่า 500 คน เข้าร่วมรับฟังการแสดงความคิดเห็นการต่อต้านการก่อสร้างศูนย์แปรรูปขยะชุมชนเป็นพลังงาน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า โรงเผาขยะ ของบริษัท ดีแอล อีเอนที จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัทดีแอลเอสจี ของสาธารณรัฐเกาหลี หรือประเทศเกาหลีใต้ โดยมีนักวิชาการ รวมถึง น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเพชรบุรี เข้าร่วม
ทั้งนี้ ในการแสดงความคิดเห็น ประชาชนที่มาร่วมเวทีคัดค้านที่ต่างพร้อมใจกันถือป้ายผ้า และกระดาษที่เขียนข้อความคัดค้านการก่อสร้างโรงเผาขยะดังกล่าว โดยบอกว่า ไม่อยากให้มีการก่อสร้างโรงเผาขยะ เนื่องจากแต่เดิมพื้นที่ตำบลบางจานมีอากาศบริสุทธิ์ ไม่มีมลพิษใดๆ แต่หากมีการก่อสร้างโรงเผาขยะ ก็จะทำให้เกิดมลพิษ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้าน นอกจากนี้ รถขนขยะที่จะนำขยะมาเข้าโรงงานก็จะต้องวิ่งผ่านพื้นที่ชุมชนต่างๆ มากมาย อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุแก่ชาวบ้าน โดยเฉพาะเด็กเล็กได้ ส่วนการที่โรงเผาขยะอ้างว่าจะมีการบริหารจัดการที่ดีนั้น ชาวบ้านทั้งหมดก็ไม่มีใครเชื่อ พร้อมทั้งอ้างว่า หากโรงเผาขยะดังกล่าวดีจริง ทำไมถึงต้องมาสร้างในพื้นที่ประเทศไทย
ขณะที่ น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา ที่ขึ้นเวทีเสนอแนะทางด้านกฎหมาย โดยกล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากกรณีโรงงานเผาขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าจะมาดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ ต.บางจาน อ.เมือง จ.เพชรบุรี เนื่องจากการประกาศผังเมืองรวมจังหวัดยังไม่สามารถประกาศได้ ทั้งนี้ ได้ผ่านขั้นตอนทั้งหมด 18 ขั้นตอน โดยได้ผ่าน 16 ขั้นตอนมาแล้ว เหลือเพียง 2 คือ ขั้นตอนส่งให้กฤษฎีกาตรวจสอบ และการประกาศใช้
จากการประชุมคณะอนุกรรมาธิการผังเมืองจังหวัดเพชรบุรี ที่ประชุมเห็นว่า การไม่ประกาศผังเมืองรวมได้เพราะมีผู้คัดค้านเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงผังเมืองรวมที่ผ่านการประกาศ 90 วัน โดยที่ประชุมได้มีความเห็นว่า ควรจะประกาศผังเมืองที่ทำมาแล้วเสียก่อน หากจะมีการแก้ไขอย่างไรให้มีการแก้ไขทีหลัง มิใช่นับหนึ่งจะเปิดช่องว่างให้จังหวัดเพชรบุรี ยังไม่มีผังเมืองอันเป็นช่องทางให้โรงงานอุตสาหกรรมรุกมายังพื้นที่เกษตรกรรมเหมือนดังพื้นที่ตำบลบางจาน
โดยชาวบ้านบอกว่า หากมีการสร้างโรงงานขึ้นจะได้รับผลกระทบไม่ใช่เพียงแค่บริเวณพื้นที่ตำบลบางจานเพียงแห่งเดียว แต่ยังได้รับผลกระทบอีกหลายพื้นที่เขตติดต่อทั้ง ต.บางขุนไทร ต.ท่าแร้ง ต.บางแก้ว ต.หนองโสน ต.ช่องสะแก และ ต.ปากทะเล โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตร พื้นที่นาที่จะได้รับผลกระทบ อีกทั้งคลองชลประทานทั้งคลองระบายน้ำ D25, D26, D27 คลองชลประทานคลอง 5, 6, 7 ขาว 1 ซ้าย 1 สายใหญ่ 3 คลองธรรมชาติ และลำเหมืองสาธารณะที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับประเด็นที่มีการเสวนาจากการตั้งเวทีจะพูดถึงสภาพการใช้น้ำในปัจจุบันที่มีการแบ่งจัดสรรรอบเวรน้ำใช้ด้านการเกษตรซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้น้ำของชาวบ้านอยู่แล้ว หากโรงงานมาใช้น้ำร่วมกับภาคการเกษตรจะเกิดปัญหาเกิดการแย่งชิงน้ำจนอาจเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นได้
ส่วนปัญหาด้านสังคม จะส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากศูนย์แปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าอยู่ห่างจากชุมชนประมาณ 500 เมตร และอยู่ไม่ไกลจากศูนย์เด็กเล็ก สถานีอนามัย อบต.บางจาน โรงเรียนวัดโพธิ์ทัยมณี วัดโพธิ์ทัยมณี ชุมชนหมู่ 1-หมู่ 9 ต.บางจาน และตำบลใกล้เคียงในพื้นที่รอบบริเวณที่จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพทั้งระบบหายใจที่จะมีฝุ่นละออง และก๊าซที่เป็นพิษ ซึ่งอาจเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและทำลายเนื้อเยื่ออวัยวะภายในก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ อีกทั้งด้านคมนาคมซึ่งในแต่ละวันจะมีรถส่งขยะประมาณ 700 คันต่อวัน จำนวนรถขยะ 1 คัน จะขนขยะประมาณ 5 ตัน ซึ่งจะเกิดน้ำจากขยะของรถบรรทุกขยะ กลิ่น และความแออัดในการใช้ถนนร่วมกับชุมชน อีกทั้งขยะจะมีกลิ่นเหม็นรุนแรงรวมถึงมีแมลงวันจำนวนมาก
โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งโรงงานเผาขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าเพราะเห็นว่าไม่เหมาะในการที่จะมาก่อสร้างขึ้นในพื้นที่ ต.บางจาน เนื่องจากบริเวณที่ก่อสร้างห่างจากชุมชนเพียง 500 เมตร และอยู่ใกล้สถานที่สำคัญหลายแห่ง อีกทั้งขยะในจังหวัดเพชรบุรี ไม่เหมาะสมกับการนำมาเผาเป็นพลังงาน เพราะว่าส่วนใหญ่เป็นขยะเปียกมากกว่าขยะแห้ง และมีความชื้นสูงมาก ปริมาณขยะ 47-50% เป็นขยะเปียก เช่น ใบตอง น้ำแกง เศษอาหาร เศษผัก เป็นต้น ดังนั้น โรงไฟฟ้าเผาขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ขยะแห้งในการเผานั้นจะไม่คุ้มค่า
อีกทั้งจังหวัดเพชรบุรี และตำบลบางจาน สามารถบริหารจัดการขยะได้โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ถ้าหากได้รับการสนับสนุนอย่างถูกต้องเหมาะสมในด้านองค์ความรู้ในการบริหารจัดการ เนื่องจากขยะภายในจังหวัดเพชรบุรี มีประมาณ 300 ตันต่อวัน ถ้าเทียบกับปริมาณขยะที่โรงงานใช้ในการเผาประมาณ 700 ตันต่อวัน ซึ่งมากกว่าปริมาณขยะในจังหวัดเพชรบุรีถึง 400 ตัน ในจำนวนขยะภายในจังหวัดเพชรบุรี สามารถจัดการได้โดยบ่อฝังกลบขยะ อ.ชะอำ และบ่อฝังกลบขยะ อ.เขาย้อย ที่สามารถรองรับปริมาณขยะได้อีก ขยะส่วนหนึ่งมีแหล่งรับซื้อของเก่าจำนวนมากที่รับซื้อขยะไปรีไซเคิล นอกจากนี้ การบริหารจัดการขยะในระดับตำบล ทั้งตำบลบางจาน และตำบลอื่นๆ สามารถบริหารจัดการได้โดยการส่งเสริมให้ครัวเรือนช่วยกันคัดแยกขยะอีกด้วย