พิษณุโลก - เทศบาลนครพิษณุโลกจับมือ บ.สหกันยง จำกัด นำขยะเปียกแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า 2 เมกะวัตต์ เริ่มตุลาคม 56 นี้ เผยวันนี้ขยะเพิ่มขึ้นอีก 40 ตันต่อวัน หลังบ่อขยะเถื่อนถูกปิด
นายบุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก กล่าวว่า หลังเทศบาลนครพิษณุโลกได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผ่านสำนักงานความร่วมมือทางวิชาการเยอรมนี (GTZ) ภายใต้โครงการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนเมืองจังหวัดพิษณุโลก ดำเนินงานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2541 สามารถคัดแยกขยะจากบ้านเรือนก่อนทิ้งลงสู่ถังขยะ ทำให้เทศบาลนครพิษณุโลกสามารถลดปริมาณขยะจากวันละ 140 ตัน เหลือ 80 ตัน/วัน และล่าสุดบ่อขยะผิดกฎหมายถูกปิด ทำให้ขยะจาก อบต.แห่งอื่นๆ มาทิ้งขยะด้วย ส่งผลให้เทศบาลนครมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นเป็น 120 ตันต่อวัน
ต่อมาบริษัท สหกันยง จำกัด เสนอขอนำเครื่องจักร GASIFICATION และอุปกรณ์คัดแยกขยะเข้ามาติดตั้ง เพื่อทดสอบระบบในโครงการกำจัดขยะเปียก แปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี ณ บ่อฝังกลบขยะมูลฝอยเทศบาลนครพิษณุโลกตำบลบึงกอก อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ล่าสุดได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกันแล้ว กำหนดเริ่มดำเนินภายในเดือนตุลาคมนี้ และน่าจะทดลองก่อน 2 ปี จากนั้นจะมีการพิจารณาส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่ได้ต่อไป แต่ถ้ามีผลกระทบใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อมก็ยกเลิกการทดสอบได้ทันที
“นับเป็นสิ่งที่ดีที่เทศบาลนครพิษณุโลกจะได้ประโยชน์สามารถลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทุกวันลงได้ คือ จะใช้ประมาณ 1 ส่วน 4 ของปริมาณขยะที่มีอยู่ 200,000 ตันต่อปี ส่วนขยะแห้งที่ผ่านขบวนการย่อยแล้ว ก็ส่งไปขายโรงงานปูน ซึ่งเซ็นความร่วมมือไปแล้ว”
นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ ประธานกลุ่มบริษัทกันยง อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานบริหารบริษัท สหกันยง จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัท สหกันยง จำกัด เป็นผู้ได้รับมอบสิทธิบัตรในการผลิตและจำหน่ายระบบกำจัดขยะด้วยอุณหภูมิสูง และแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียว นับเป็นแห่งแรกในเมืองไทยที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ วางเป้าหมายจะขยายผล 4-5 แห่ง ภายใน 1 ปี และและดำเนินการต่อไปในกลุ่มประเทศอาเซียนต่อไป
ระบบ GASIFICATION เป็นกระบวนการเผาไหม้อินทรีย์สารแบบจำกัดปริมาณออกซิเจน ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ซึ่ง ก๊าซที่ได้เรียกว่า ก๊าซเชื้อเพลิง (Producer Gas หรือ Syngas) สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงได้ โดยทำปฏิกิริยาในอุณหภูมิสูงกว่า 800 องศาเซลเซียส ถือว่าเป็นอุณหภูมิช่วงที่ไม่ทำให้เกิดมลพิษ ใช้ได้ดีกับขยะชุมชน โดยไม่ต้องผ่านการคัดแยกอย่างละเอียด จึงมีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูง
เบื้องต้นใช้ขยะจำนวน 100 ตันต่อวันเพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าจำนวน 2 เมกะวัตต์ มีระยะเวลาโครงการ 10 ปี โดยมีการลงทุนเป็นจำนวนเงิน 200 ล้านบาท นับเป็นต้นแบบการกำจัดขยะครบวงจร