พิษณุโลก - กรมควบคุมมลพิษร่วมปั้น “พิษณุโลกเมืองสวยใส ไร้มลพิษ” ตั้งเป้าทำขยะรีไซเคิล กำจัดขยะถูกหลักวิชาการในปี 59 ส่วนบ่อขยะเถื่อนวังน้ำคู้สั่งปิดแล้ว แต่อำนาจปิดถาวรขึ้นอยู่ในมือท้องถิ่น
วันนี้ (22 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) นายพันธ์เทพ ศรีวนิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พิษณุโลก นายบุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก น.อ.ภูวเดช สว่างแสง ผู้บังคับการกองบิน 46 ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือตามนโยบาย “พิษณุโลกเมืองสวยใส ไร้มลพิษ” โดยเชิญผู้นำองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 24 แห่ง และชุมชนกองบิน 46 ร่วมงานที่โรงแรมเรือนแพ รอยัล ปาร์ค
นายวิเชียรกล่าวว่า พิษณุโลกเป็น 1 ใน 16 จังหวัดที่ คพ. สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 3 และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ร่วมกันคัดเลือกเพื่อผลักดันให้เกิดชุมชนต้นแบบ “ลด คัด แยก และใช้ประโยชน์จากขยะ” ภายใต้เป้าหมายนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกหลักวิชาการไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2559 โดยเริ่มจากการคัดแยกขยะชุมชุมระดับครัวเรือนไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย
“จะเริ่มนำร่องใน 24 เทศบาล และชุมชนกองบิน 46 โดยมี อบจ.เป็นพี่ใหญ่คอยสนับสนุน มีเทศบาลนครพิษณุโลกเป็นต้นแบบ ซึ่งถือว่ามีศักยภาพสูง และมีโอกาสประสบความสำเร็จ เพียงแต่ คพ.ไม่สามารถบังคับ อปท.ได้ ทำได้เพียงขอความร่วมมือ ส่วนเตาเผาหรือสถานที่บำบัดขยะนั้น คพ.คงไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณได้ พราะเตาเผาขยะเป็นเรื่องปลายทาง อปท.ต้องของงบประมาณรัฐบาลเอง”
นายวิเชียรกล่าวถึงบ่อขยะวังน้ำคู้ อ.เมือง ที่มี อปท.หลายแห่งส่งขยะไปกำจัด ทั้งที่เป็นบ่อขยะเถื่อนไม่ได้รับอนุญาตนั้นได้สั่งปิดแล้ว เพราะเป็นบ่อขยะเถื่อนไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข แต่อำนาจปิดเป็นการถาวรนั้นเป็นของ อปท.
นายมนต์ชัยกล่าวว่า โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเมืองพิษณุโลกเติบโตต่อเนื่อง อนาคตจะเป็นศูนย์กลางการลงทุน มีโรงงานเกิดขึ้นอีกมากจะทำให้มีขยะมากขึ้น ทุกหน่วยงานจึงต้องร่วมมือกันลด และเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานให้ได้ สำหรับโครงการส่งบ่อกำจัดขยะนั้น อบจ.มีนโยบายอยู่แล้ว เพื่อ อปท.ใช่ร่วมกัน โดยตั้งงบประมาณศึกษาไว้ราว 5 ล้านบาท
ด้านนายบุญทรงกล่าวว่า ปัจจุบันเทศบาลนำเทคนิคการจัดการขยะมูลฝอยฝังกลบ บำบัดเชิงกล-ชีวภาพ หรือ MBT มาใช้ และเอาขยะไปเป็นเชื้อเพลิง โดยเซ็นสัญญากับบริษัท เอสซีไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด ในเครือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทยอุตสาหกรรม จำกัด ส่งขยะไปกำจัดปีละ 200,000 ตัน ถือว่ายืดอายุบ่อขยะที่ ต.บึงกอก ออกไปอีกไม่น้อยกว่า 10 ปี อีกทั้งเร็วนี้ทางบริษัทจะนำเครื่องร่อนและคัดแยกขยะมาให้คัดเหลือเฉพาะขยะเชื้อเพลิง (RDF : Refused Derived Fuel) ส่งไปใช้กับหม้อเผาซีเมนต์ที่โรงงานด้วย ซึ่งในภาพรวมถือว่าลดปริมาณขยะของพิษณุโลกลงได้อีกมาก