ศูนย์ข่าวศรีราชา - ปัญหาขยะพัทยาเข้าขั้นวิกฤต ไร้ที่ทิ้งฝังกลบ หลังบ่อขยะถูกชุมชนคัดค้านปิดตายเพราะสร้างปัญหามลพิษ ด้านสภาเมืองพัทยา ต้องเสนอญัตติด่วนขอความเห็นชอบขนถ่ายไปทิ้งนอกพื้นที่ เฉลี่ยวันละกว่า 400 ตัน ขณะที่อนาคตยังคลุมเครือ
วันนี้ (8 ส.ค.) ปัญหาขยะมูลฝอยของเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ยังไม่มีท่าทีจะยุติ และดูจะส่อเค้าความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลังปัจจุบันพื้นที่ฝังกลบบริเวณบ่อขยะ 140 ไร่ ต.เขาไม้แก้ว อ.บางละมุง ถูกชาวบ้านละแวกใกล้เคียงปิดตายห้ามขนถ่ายขยะไปทิ้งเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน เพราะทนปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นไม่ไหว
ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะตกค้าง และหมักหมมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณจุดพักขยะในซอยสุขุมวิท 3 ต.นาเกลือ อ.บางละมุง และตามจุดทิ้งขยะทั่วไป
ล่าสุด นายวัฒนา จันทนวรานนท์ รองนายกเมืองพัทยา เสนอญัตติต่อที่ประชุมสภาเมืองพัทยา ขอรับความเห็นชอบดำเนินการนอกเขตเมืองพัทยา หลังพบว่าปัญหาขยะมูลฝอยตกค้างเริ่มรุนแรงขึ้น โดยได้ประสานไปยังเทศบาลพื้นที่ใกล้เคียง ขอกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนเมืองพัทยา โดยจะขนถ่ายไปกำจัดยังเทศบาลนครแหลมฉบัง และเทศบาลเมืองศรีราชา ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์
พร้อมชี้แจงว่า หากไม่ดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วนอาจเกิดปัญหาขยะล้นเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการจัดการมูลฝอยชุมชนของเมืองพัทยา กระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
สมาชิกสภาเมืองพัทยาได้ลุกขึ้นอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น จึงขอให้เมืองพัทยาเร่งรัดหาแนวทางการแก้ไข เนื่องจากหากยังปล่อยไว้อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรง สุดท้ายต่างมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ตามข้อเสนอ
นายสุธีร์ ทับหนองฮี ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เมืองพัทยา กล่าวยอมรับว่า ปัจจุบันเมืองพัทยาประสบปัญหาขยะตกค้างจริง เนื่องจากประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบบ่อทิ้งขยะ 140 ไร่ ในเขตต.เขาไม้แก้ว อ.บางละมุง ปิดกั้นไม่ให้เมืองพัทยาขนถ่ายขยะไปทำลายมานานกว่า 1 เดือนแล้ว ทำให้เกิดปัญหาขยะตกค้างหมักหมม
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้หาทางออกโดยการประสานงานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อนำไปขยะไปทิ้งเป็นการชั่วคราว ซึ่งก็สามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ส่วนการแก้ปัญหาในอนาคต จะหารือกับเทศบาลเมืองศรีราชา ขอใช้พื้นที่จัดระบบคัดแยก หากอนุมัติเมืองพัทยาจะนำตู้คอนเทนเนอร์ไปติดตั้งเพื่อทำระบบร่อนคัดแยกขยะ ซึ่งส่วนหนึ่งจะนำมาทำเชื้อเพลิง ส่วนที่เหลือจะนำไปผสมกับวัสดุที่เผาไหม้ได้ เพื่อนำไปทำ RDF เข้าโรงงานไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ แผนงานดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จประมาณ 9 เดือน หรือคาดว่าสิ้นปีนี้ ซึ่งผิดจากแผนงานเดิมที่จะก่อสร้างใน ต.เขาไม้แก้ว ในระยะเวลา 6 เดือน แต่เมื่อบ่อขยะถูกปิดจึงต้องเริ่มดำเนินการใหม่ซึ่งอาจจะทำให้เสียเวลาไปบ้าง