xs
xsm
sm
md
lg

ขยะกทม. ปัญหาใหญ่ “มหานครสีเขียว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชากรกรุงเทพฯ ร่วม 10 ล้านคน สร้างปริมาณขยะในแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 9,000 ตัน และต้องใช้รถขนขยะขนาดใหญ่ (6 ตัน) ถึง 1,500 คัน เพื่อนำไปกำจัด
-หากยังเกิดข้อสงสัยว่าขยะมหาศาล ทาง กทม. จะจัดเก็บแบบเดิมๆ ได้อีกนานแค่ไหน ?
-มีทางออกใดอีกบ้าง? จะช่วยจัดการขยะ ในกทม. ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี คือไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในเรื่องส่งกลิ่นเหม็น และป้องกันผลร้ายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย
ให้ชุมชนมีส่วนร่วมรับรู้ และจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง
พื้นที่ฝังกลบไม่พอ
เมื่อก่อน กทม. เน้นการเก็บแล้วนำไปไว้ในสถานที่ซึ่งจัดเตรียมไว้ มีทั้งกองไว้ก่อนนำไปหมักเพื่อกลายสภาพเป็นปุ๋ย แต่ขยะสุดท้ายถูกเก็บรวบรวมแล้วนำไปฝังกลบโดยใช้พื้นที่ฝังกลบอยู่ในกทม. ต่อมาเมื่อพื้นที่หายากส่วนหนึ่งต้องขนไปฝังกลบที่ต่างจังหวัด เช่น นครปฐม ฉะเชิงเทรา
“ในอนาคตอันใกล้ การหาพื้นที่ฝังกลบขยะจะยากยิ่งขึ้น เมื่อเป็นอย่างนั้น ทางกทม. จะต้องวางแผนรองรับสำหรับในอนาคตว่าจะต้องทำอย่างไร” ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม กล่าว และว่า
“ผมคิดว่า เมื่อมันไม่มีทางที่จะไปไหนได้ แต่ละบ้านคงจะต้องกำจัดขยะที่บ้านตัวเอง การทำหลุมฝังกลบที่บ้านตัวเอง กทม. ไม่มีที่หรอก เพราะที่มันแพงมาก เมื่อเป็นอย่างนั้นก็ต้องไปเตาเผา ซึ่งคนก็ตกใจอีก คือในต่างประเทศเตาเผาที่อยู่กลางเมือง มีหลายที่ มันทำได้นะที่จะไม่ให้มีมลพิษกระทบ แต่ความน่ากลัวของมันยังมี
กทม. คงจะต้องไปซื้อที่ แล้วปลูกป่าไว้ พอต้นไม้ใหญ่ขึ้น มองไม่เห็นก็มีแต่ป่า แต่จะมีทางเข้าไปตรงกลาง ตรงนั้นเราสร้างเตาเผาได้ และคนจะยอมรับมากขึ้น เพราะว่ามันไม่เห็นเตาเผา และโดยวิชาการมันทำได้โดยไม่มีมลพิษออกมา
ส่วนการเลือกพื้นที่ ปัญหาอยู่ที่ว่าพื้นที่ต้องใหญ่พอ ราคาต้องไม่แพงมาก และอยู่ห่างจากชุมชน ผมคิดว่าพื้นที่แถวหนองแขม บางขุนเทียน ลำลูกกา ยังน่าจะมีอยู่”
ขาย้ำอีกว่า กุญแจสำคัญที่จะทำให้การจัดการขยะโดยชุมชนคนกรุงเทพฯ สำเร็จได้จริง คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมระดับบุคคล ให้มีวิถีลดขยะ เรื่องง่ายๆ แต่เกิดขึ้นยาก และต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณอย่างเป็นระบบมากกว่าที่ผ่านมา
โครงการรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชนยิ้มสดใส
พื้นที่ฝังกลบขยะที่หายากขึ้น เกิดจากทั้งปัจจัยเรื่องราคาที่ดิน โดยเฉพาะการต่อต้านของชาวบ้านรอบๆ พื้นที่ฝังกลบยิ่งทำให้ทางเลือกนี้เดินสู่ทางตีบตัน เหตุนี้เอง กทม. หันมามุ่งให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะก่อนฝังกลบเพื่อลดปริมาณขยะซึ่งที่ผ่านมาก็ถือว่าประสบผลสำเร็จในระดับน่าพอใจ
“ถ้าขยะในกทม. เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ตันต่อวัน หากจะให้ทางกทม. เก็บฝ่ายเดียวคงไม่สำเร็จ เราจึงใช้การรณรงค์เพื่อให้คนลดการทิ้งขยะด้วยการลดใช้ นำมาใช้ซ้ำ หรือเอาไปทำใหม่เพื่อเกิดการใช้ประโยชน์มากขึ้น และปัจจุบันนี้ก็สามารถลดปริมาณขยะในอดีต ต่อหัว ต่อคน ต่อวัน จาก 41.5 ก.ก. เหลือประมาณ 1.2 ก.ก.” จุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว
แต่นั่นก็ไม่เพียงพอ สำหรับการจัดการขยะที่มีปริมาณมหาศาล และยังมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่องตามจำนวนประชากร และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
จุมพล สำเภาพล
ดึงชุมชนมีส่วนร่วม
กระบวนการจัดเก็บขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานครที่มีอยู่เดิมนั้นไม่เพียงพอรองรับปริมาณขยะที่มีจำนวนมหาศาลในชุมชน จึงมีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนและสภาพแวดล้อมอย่างมาก ขณะที่ผลการสำรวจตามข้อมูล ปี 2544 พบว่ามีปริมาณขยะ 9,700 ตันต่อวัน กทม.ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝังกลบขยะเฉลี่ย 450 บาทต่อตัน และค่าเก็บขนอีก 1,095 บาทต่อตัน รวมทั้งหมด 15 ล้านบาทต่อวัน
เมื่อ “ขยะ” เป็นปัญหาของทุกคนเพราะทุกคนสร้างขยะ ในการลดปริมาณขยะทุกคนจึงควรมีส่วนร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งนำมาสู่แนวทางแก้ปัญหาที่น่าสนใจในขณะนี้ก็คือ “การส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะ” เป็นวิธีการลดได้ทั้งปริมาณขยะและการเก็บขนตั้งแต่ต้นทางที่คนทิ้ง
“เรื่องรณรงค์ขยะทำกันมา 20-30 ปี แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น จุดใหญ่คือจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมให้ได้ พฤติกรรมคนไทย โดยเฉพาะคน กทม.ยังไม่ค่อยเปลี่ยนนัก การเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนวิธีคิดนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก และจะต้องทำต่อไป ที่ผ่านมาก็มีทำอยู่ แต่ยังไม่เห็นผลชัด ส่วนด้านงบประมาณ ถ้าไปมุ่งเรื่องการก่อสร้างพวกเตาเผา ใช้ทำปุ๋ย แต่งบประมาณเพื่อใช้ในเรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรมคน มันเทียบกันไม่ได้ ผมว่านี่คือความสำคัญมากกว่า เปลี่ยนคนได้ ขยะก็จะน้อยลง ลดต่อเนื่องได้เรื่อย ๆ อันนี้เรื่องใหญ่กว่าน่าจะทำตรงนี้” ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ กล่าว
ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
“โครงการรักษ์สิ่งแวดล้อมชุมชนยิ้มสดใส” โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในโครงการที่ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลดขยะ ซึ่งดำเนินการโครงการนำร่องไปแล้วกว่า 12 พื้นที่ชุมชนในปีที่ผ่านมา
เบญจมาส โชติทอง ผู้จัดการโครงการรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชนยิ้มสดใส บอกว่า พอบอกว่ามีขยะ เราคิดวิธีการจัดการเลย แต่รูปแบบการจัดการโดยชุมชน นี่คือใคร ใครจะทำ คิดถึงคนด้วย และมีวิธีการด้วย และความยั่งยืนมาจากไหน โดยศักยภาพชุมชนนั้นมีไม่เยอะ เพราะมีภาระอย่างอื่นที่จะต้องทำ เพราะฉะนั้น การมีคนที่มีความสามารถ มีกิจกรรมที่ดี และมีเครือข่ายมาหนุนเสริมที่ลงตัวกัน เราถือว่าเป็นรูปแบบการจัดการโดยชุมชนซึ่งควรใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ปีแรกริเริ่ม ถ้าให้ต่อเนื่องต้องอย่างน้อย 3 ปี หรือไม่ก็มีการดำเนินการต่อเนื่อง 1 ปี และมีการติดตามอย่างใกล้ชิดโดยไม่ทิ้งชุมชน
โครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนทางวิชาการ จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดี ในปีนี้ กทม. จึงตัดสินใจที่จะขยายการดำเนินการนี้ให้กว้างขวางขึ้นไป ให้ทั่วถึงทั้ง 50 เขต อย่างน้อยเขตละ 2 ชุมชน ครอบคลุม 5 ประเภทชุมชนเป้าหมาย คือ ชุมชนแฟลตและคอนโดมิเนียม ชุมชนบ้านจัดสรร ชุมชนเมือง ชุมชนชานเมือง และชุมชนแออัด
“เราได้เชิญผู้บริหารเขตทั้ง 50 เขต ผู้เกี่ยวข้องที่เป็นเจ้าหน้าที่ในการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เข้ามาซักซ้อมความเข้าใจ และก็มีการแนะนำโครงการเพื่อที่จะเข้าไปสู่การจัดการขยะในชุมชน โดยตั้งเป้าหมายไว้ 100 ชุมชน ที่จะต้องดำเนินการในปี 2556”
หลังจากนั้นจะทำการจัดเก็บข้อมูลเพิ่มเติม และแก้ไขปรับปรุงคู่มือที่ประชาชนชาว กทม.จะได้รับรู้ และเข้าใจถึงการร่วมกันจัดการขยะอย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ถูกมองอย่างท้าทายว่าจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหนกัน เพราะคนไม่น้อยยังเชื่อว่า ธรรมชาติต่างคนต่างอยู่ และสภาพที่เร่งรีบของคนกรุงเทพฯ ไม่น่าจะทำให้โครงการนี้ทำได้จริง และหากไม่ประสบผลสำเร็จ กทม. จะต้องหาทางออกใหม่ ให้กับวิกฤตขยะ นั่นรวมถึงการสร้างเตาเผาขยะกลางกรุง
ร่วมระดมความคิดเห็นในกิจกรรมการจัดการมูลฝอยและสิ่งแวดล้อมในชุมชน วันที่ 15-16 มิ.ย.56 ณ ชุมชนวัดดีดวด และ ชุมชมริมคลองบางกอกใหญ่
1 ใน 10 มาตรการเร่งด่วน กทม.สีเขียว
ภายใต้โครงการจัดการขยะและน้ำเสียชุมชนด้วยชุมชน ภายใต้แนวคิด “Bangkok Green Community-ชุมชนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยครอบคลุมพื้นที่ 6 ย่านคลอง 7 เขต พร้อมทั้งจัดตั้ง 9 ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบด้านการจัดการขยะและน้ำเสีย ได้แก่
1. คลองสวนหลวง เขตบางคอแหลม สร้างศูนย์เรียนรู้ ที่ ชุมชนสวนหลวง 1 และชุมชนวัดพระยาไกรระยะ 3
2. คลองประเวศบุรีรมย์ เขตลาดกระบัง สร้างศูนย์เรียนรู้ ที่ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
3. คลองจรเข้ขบ เขตประเวศ สร้างศูนย์เรียนรู้ ที่ โรงเรียนสุเหร่าจรเข้ขบ
4. คลองลัดมะยม เขตตลิ่งชัน สร้างศูนย์เรียนรู้ ที่ ตลาดน้ำคลองลัดมะยม และ ชุมชนวัดจำปา
5. คลองมอญ เขตบางกอกน้อยและเขตบางกอกใหญ่ สร้างศูนย์เรียนรู้ ที่ชุมชนตรอกไผ่-วัดบางเสาธง และวัดครุฑ
6. คลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) เขตภาษีเจริญและเขตบางกอกใหญ่ สร้างศูนย์เรียนรู้ที่ วัดวิจิตรการนิมิตร
ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบในแต่ละย่านคลอง จะเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี Zero Waste เปลี่ยนขยะเป็นทุน Biogas การแปรรูปขยะอินทรีย์-เศษอาหารเป็นพลังงานทดแทน กิจกรรมคลองสวยน้ำใส-บำบัดก่อนทิ้ง และกิจกรรม 3R +++ (3R คือ Reduce (ลดการใช้) Reuse (การใช้ซ้ำ) Recycle (การนำกลับมาใช้ใหม่)
พร้อมกับส่วนบวกเพิ่ม คือ MEN : M=Money รายได้ที่เพิ่มขึ้น E=Environment สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น N=Network เกิดเครือข่ายความร่วมมือ ให้กับประชาชนในพื้นที่และประชาชนทั่วไป เพื่อก่อให้เกิดชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Bangkok Green Community)
โครงการนี้เป็น 1 ใน 10 มาตรการเร่งด่วนที่เริ่มต้นแล้ว เพราะต้องการขับเคลื่อนนโยบายร่วมสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็น “มหานครสีเขียวและสะอาด” ที่มีความน่าอยู่ ทั้งในมิติด้านความปลอดภัยในชีวิตและด้านสิ่งแวดล้อมที่สะอาดเหมาะสมกับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอันเป็นรากฐานสำคัญของ “มหานครน่าอยู่อย่างยั่งยืน”
กำลังโหลดความคิดเห็น