xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยุคใหม่ ผลักดัน CSR และการพัฒนาที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดำเนินงานมาย่างเข้าสู่ปีที่ 39 แล้วในปัจจุบัน นับว่ามีความเติบโตในเชิงปริมาณอย่างโดดเด่น และมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปสู่ระดับมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (Market Cap) เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค รองจากสิงคโปร์ ตามเป้าหมายภายใน 3 ปีข้างหน้า
ขณะที่ความก้าวหน้าเชิงคุณภาพ คือเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) และหลักปฏิบัติการมีบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) หรือการกำกับกิจการที่ดีเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน
จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นที่น่าสนใจเหล่านี้
จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
การส่งเสริม CSR ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินการอยู่มีแนวทางอย่างไร?
ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือที่เรียกกันว่า ESG ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social และ Governance เพื่อใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจลงทุนควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินของบริษัทด้วย ช่วยให้สามารถเลือกบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรอย่างยั่งยืน หมายความว่า เป็นบริษัทที่สามารถให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนได้ในระดับที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่องในระยะยาวนั่นเอง
ก็ต้องเริ่มที่บริษัทจดทะเบียนให้มี CSR ?
เราดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว โดยเฉพาะพัฒนาการด้านบรรษัทภิบาลเห็นผลอย่างชัดเจนจากการประเมินของธนาคารโลกปีล่าสุด (2555) ปรากฎว่าตลาดทุนไทยมีพัฒนาการที่ดีในการยกระดับบรรษัทภิบาล และเป็นผู้นำในภูมิภาค ทั้งนี้ ธนาคารโลกเห็นว่า การเปิดเผยข้อมูลในรายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลหลายช่องทางในเวลาที่เหมาะสม
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่บริษัทควรดำเนินการให้สอดประสานเป็นเนื้อเดียวกันกับกระบวนการดำเนินธุรกิจที่เป็นปกติของตนเองที่มีอยู่แล้ว หรือที่เรียกว่า CSR in Process
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนบอกเล่าและเปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมดังกล่าว ให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบผ่านทาง CSR Report หรือ Sustainable Report อีกด้วย
ทั้งนี้ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) เป็นหน่วยงานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่พัฒนาและสรรหาองค์ความรู้ รวมถึงสร้างสรรค์กลไกต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเกิดการรับรู้ มีความเข้าใจและสามารถนำแนวทางของความรับผิดชอบต่อสังคมไปใช้พัฒนาร่วมกับการดำเนินงาน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในที่สุด
CSRI มีแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อรองรับการส่งเสริม CSR ให้กับบริษัทจดทะเบียน ได้แก่ การจัดทำคู่มือแนวทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และคู่มือการจัดทำรายงาน การอบรมและสัมมนาให้ความรู้ การจัดพบปะกับ CEO ของบริษัทเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การให้คำปรึกษาเชิงลึกเพื่อจัดทำรายงาน การสนับสนุนให้บริษัทที่มีศักยภาพเข้าสู่ดัชนีความยั่งยืนระดับสากล ที่เรียกว่า DJSI (Down Jones Sustainability Indexices)
"ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือที่เรียกกันว่า ESG ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social และ Governance เพื่อใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจลงทุนควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินของบริษัทด้วย"
การส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมี CSR เรามุ่งหวังผลอะไร?
ปัจจุบันนี้นักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญกับข้อมูลเชิงคุณภาพมากขึ้น เหมือนเป็นการกรองให้เห็นกิจการที่ดีอย่างหนึ่ง เพราะดูแค่ตัวเลขผลประกอบการไม่พอและผลประกอบการดีก็ไม่ได้หมายความว่ากิจการจะยั่งยืนเสมอไป การลงทุนนั้นเขาสนใจว่าจะยั่งยืนไหม
ถ้าเป็นบริษัทที่ยึดถือหลักการเติบโตแบบยั่งยืน มันมีปัจจัยสำคัญที่จะต้องมีอย่างน้อย 4 เรื่อง
1.เศรษฐกิจ คือการทำกำไร
2.ธรรมาภิบาล อยู่ในกรอบที่แน่นอน มีความถูกต้อง เป็นธรรม และโปร่งใส
3.สิ่งแวดล้อม ยุคนี้ใครไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมจะต้องโดนต่อต้าน
4.สังคม การที่บริษัทจะอยู่ในสังคมได้ต้องมีการรับผิดชอบต่อสังคม มีใจเอื้อซึ่งกันและกัน
ถ้าเริ่มที่การดำเนินกิจการอย่างมีหลักบรรษัทภิบาลก่อน เรามีแนวปฏิบัติ มีการวัดผล มีการผลักดัน มีการอบรม ทำให้เราขึ้นมาเป็นผู้นำในเอเชีย รวม 11 ประเทศ จากการประเมินผลของ ACGA เมื่อปีที่แล้ว เราเป็นอันดับ 3 ส่วนเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม วงการธุรกิจก็มีกิจกรรมส่งเสริมสังคมมากมาย แต่ยังไม่เป็นระบบในการเก็บข้อมูลให้เป็นมาตรฐาน จะได้เรียนรู้และพัฒนาให้เกิดประสิทธิผล
การพัฒนาตลาดทุนไทยในกระแสโลก?
ก็ต้องพัฒนาบริษัทจดทะเบียนไทยให้เป็นที่น่าสนใจของการลงทุนในเวทีโลก CSRI มีเป้าหมายส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีศักยภาพเข้าสู่การจัดอันดับของ DJSI ซึ่งเป็นดัชนีราคาหลักทรัพย์ที่มีการคัดกรองและประเมินผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก โดย CSRI ได้จัด Workshop เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมในการตอบแบบประเมินด้านความยั่งยืนให้แก่บริษัทไทยที่อยู่ในรายชื่อเชิญชวนของ DJSI ซึ่งในปีนี้น่ายินดีที่มี 15 บริษัทไทยอยู่ในรายชื่อดังกล่าว นับว่ามีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี
ลองนึกภาพเป็นปิรามิด 550 บริษัทจดทะเบียน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มบนเป็นเป้าหมายแรกที่อยากให้ติดในดัชนี DJSI World (เป็นการคัดสรรบริษัทจากทั่วโลก) ซึ่งตอนนี้มีบริษัทไทยที่มีโอกาสได้รับการจัดอันดับเข้าสู่ DJSI World Universe จำนวน 15 บริษัท เช่น SCG และ PTT สำหรับกลุ่มที่ 2 จะเป็นกลุ่มที่ CSRI จะพยายามผลักดันให้อยู่ใน DJSI Emerging Market รวม 35 บริษัท ซึ่งโชคดีที่ดาวโจนส์สำหรับกลุ่มประเทศ Emerging ซึ่งเราก็จะเตรียมพร้อมแก่บริษัทในกลุ่มดังกล่าว เข้าไปแล้ว 1 บริษัท คือ SCG และมี 2 บริษัทที่อยู่ในลำดับ 15% แรกของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ตนเองสังกัด คือ ปตท. และไทยออยล์ ซึ่ง CEO ได้ระบุแล้วว่าสนใจ DJSI ดัชนี DJSI Emerging Market และสำหรับกลุ่มที่ 3 ที่อาจยังไม่พร้อมเข้าสู่กระบวนการประเมินและจัดทำดัชนีแห่งความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ฯ เอง ที่เรียกว่า SET Sustainability Index จะเห็นได้ว่าแนวทางการพัฒนา CSR ของบริษัทจดทะเบียนทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ก็จะมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
จากการที่เรามีดัชนีอิงกับสากลมาก ส่งผลต่อพฤติกรรมของนักลงทุนมากขึ้นขนาดไหน?
มันเป็นมุมมองการให้ความสำคัญ อย่างดัชนี MSCI ซึ่งเป็นตัวอ้างอิงให้ผู้ลงทุนในตลาดโลกก็สนใจหุ้นขนาดใหญ่และต้องมีสภาพคล่องสูง นักลงทุนสถาบัน มีทั้งที่สนใจ มีคุณภาพระดับผ่านเกณฑ์ 5 ดาวของ IOD ว่ามีบรรษัทภิบาลและนโยบายที่ดี แต่นักลงทุนบางประเภทเขาอาจจะไม่สนใจเรื่องคุณภาพแต่สนใจเชิงปริมาณ ผมคิดว่ามีหลาย Segment ไม่ใช่แค่ดูขนาดและผลประกอบการที่อยู่ในกลุ่ม SET 50 การจัดกลุ่มดัชนีหลักทรัพย์ที่มีหลายลักษณะตามจุดเด่น หรือตามประเภทอุตสาหกรรมก็ทำให้ Demand เพิ่มมากขึ้นได้ เพราะมีดัชนีบ่งชี้ประเภทเป็นข้อมูลเลือกได้ชัดขึ้น
ในยุคปัจจุบันข้อมูลผลประกอบการเริ่มไม่เพียงพอ ในการพิจารณาเลือกลงทุนของต่างประเทศเมื่อก่อนเขาดูแค่ 3 ประเด็น คือ ดูเงินทุนขนาดใหญ่สุดต้องเกิน 1,000 ล้านเหรียญ ต้องมีสภาพคล่องเกิน 10 ล้านเหรียญต่อวัน ในปี 2008 ประเทศไทยมีหุ้นที่ติดตลาดสากลอยู่ 8 ตัว ปัจจุบันมี 33 ตัว สิงคโปร์มี 25 ตัว ฮ่องกงมี 40 ตัว แต่เมื่อระดับโลก มีดัชนีความยั่งยืน DJSI ก็เป็นเสมือนเครื่องมือวัดเชิงคุณภาพ จึงเหมือนกติกาบังคับให้ต้องเป็นไปในทิศทางนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น