xs
xsm
sm
md
lg

เอสซีจี เปเปอร์ ชูนโยบายนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้บริหารระดับสูงเอสซีจี ร่วมเยี่ยมชม และแสดงความยินดีกับ เอสซีจี เปเปอร์
เมื่อเร็วๆ นี้ เอสซีจี เปเปอร์ ได้ร่วมฉลองในโอกาส เอสซีจี ครบรอบ100 ปี มองเป้าขยายฐานธุรกิจให้ก้าวเติบโตในอาเซียน โดยการโชว์ศักยภาพผู้นำนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการทุ่มงบวิจัยและพัฒนากว่า 320 ล้านบาท
เอสซีจี เปเปอร์ เป็นธุรกิจแรกในเครือเอสซีจี ที่เปิดบ้านร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสเอสซีจี ครบรอบ100 ปี โดยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกส่วนได้เข้าเยี่ยมชมในกิจกรรม “เอสซีจี เปเปอร์เปิดบ้านสู่ความยั่งยืน” โดยการนำเสนอความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างสรรค์อนาคตที่ดีขึ้น ภายใต้แนวคิด “Thinking forward for Sustainability : คิดไกลเพื่ออนาคต”
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส เอ็มดี เอสซีจี เปเปอร์
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เอสซีจี เปเปอร์ ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน คำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตไปพร้อมกัน ผ่านแนวคิด 3G ได้แก่ Green Process, Green Product และ Green Mind คือ การมีกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปลูกจิตสำนึกของพนักงานและประชาชนทั่วไปให้รักษ์สิ่งแวดล้อม มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและสังคม ด้วยการดำเนินงานร่วมกับหลายฝ่ายผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน” รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปเปอร์ กล่าว และว่า
เอสซีจี เปเปอร์ ยังมุ่งมั่นเติบโตอย่างยั่งยืนในอาเซียนโดยเน้นสร้างความแข็งแกร่งของ 2 สายธุรกิจหลักคือ สายธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ (Packaging Business Value Chain) ด้วยกลยุทธ์พัฒนาสินค้าและขยายธุรกิจสู่ตลาดในภูมิภาคอาเซียน อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย และ พม่า เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจกระดาษครบวงจรในภูมิภาค ทั้งฐานการผลิตและการตลาด โดยการสรรหาพันธมิตรทางธุรกิจ หรือการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition) เพื่อช่วยให้การขยายธุรกิจและตลาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว และสายธุรกิจเยื่อและกระดาษ (Fibrous Business Value Chain) ด้วยกลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ได้แก่ การลงทุนผลิตสินค้ากลุ่ม HVA อาทิ กระดาษ Machine Glazed ที่ผลิตจากเยื่อกระดาษบริสุทธิ์ มีผิวมันวาวและความบางพิเศษ สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและอุตสาหกรรมทางการแพทย์ การลงทุนติดตั้งเครื่องจักรเพื่อผลิต Dissolving Pulp วัตถุดิบหลักสำหรับการผลิตเส้นใยเรยอนในอุตสาหกรรมเส้นใยและสิ่งทอซึ่งเอสซีจีคาดว่าในปี 2556 ยอดขายทั้งหมดจะเติบโตในปี 2556 ประมาณ 7-8%
ดร.ธนานันท์ อรรคเดชดำรง ผู้จัดการศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี เอสซีจี เปเปอร์ แนะนำบูทจัดแสดงผลิตภัณฑ์ต่างๆ บริเวณห้องโถงของโรงงานที่ จ.กาญจนบุรี
ผู้เยี่ยมชมขณะกำลังดูภาพยนตร์ที่บอกถึงกระดาษไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างที่คิด โดยเสนอด้วยเทคนิคพิเศษจนดูตื่นตาตื่นใจ
สำหรับโครงการการลงทุนทั้งในประเทศและภูมิภาค ซึ่งได้รับการอนุมัติและอยู่ในระหว่างการดำเนินการในปัจจุบัน โดยมีมูลค่าการลงทุน รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 13,000 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการที่สำคัญดังนี้
เอสซีจี เปเปอร์ ขยายกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยที่จังหวัดราชบุรีและกาญจนบุรีอีกประมาณ 400,000 ตันต่อปี ด้วยเงินลงทุน 6,700 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ของเอสซีจี เปเปอร์ ในอาเซียน (ประเทศฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม) รวมทั้งสิ้น 2.3 ล้านตันต่อปีทั้งนี้คาดว่าการขยายกำลังการผลิตจะแล้วเสร็จในปี 2557
Vina Kraft Paper Co., Ltd. (เวียดนาม) วางแผนขยายการลงทุนมูลค่า 700 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์จาก 220,000 ตันต่อปี เป็น 250,000 ตันต่อปี โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2556 เพื่อรองรับความต้องการกระดาษบรรจุภัณฑ์ในเวียดนามที่เพิ่มสูงขึ้น
เอสซีจี เปเปอร์ ร่วมทุนกับ Nippon Paper Industries Company Limited และ NP Trading Company Limited สองบริษัทย่อยของ Nippon Paper Group ประเทศญี่ปุ่นจัดตั้ง บริษัทสยาม นิปปอน อินดัสเตรียล เปเปอร์จำกัด(SNP) มูลค่าเงินลงทุน 2,200 ล้านบาท เพื่อเป็นฐานการผลิตกระดาษมูลค่าเพิ่ม Machine Glazed ที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและการแพทย์ (Hygienic Packaging) ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มีกำลังการผลิต 43,000 ตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในกลางปี 2557
บริษัทฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) ลงทุนปรับปรุงสายการผลิตเยื่อให้สามารถผลิต Dissolving Pulp ได้ด้วยเงินลงทุน 370 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถผลิตเยื่อ Dissolving Pulp ได้ประมาณ 96,000 ตันต่อปี และโครงการจะดำเนินการแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2556
ปัจจุบันเอสซีจี เปเปอร์ มีจำนวนพนักงานทั้งหมดประมาณ 10,000 คน ในประเทศประมาณ 7,000 คน และต่างประเทศประมาณ 3,000 คน
“เอสซีจี เปเปอร์ จะก้าวสู่เส้นทางธุรกิจสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA)ด้วยการประสานความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการสร้างเสริมศักยภาพในการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้เกี่ยวข้องในทุกๆ ด้าน และที่สำคัญที่สุด การพัฒนาดังกล่าวต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งยังได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคง ควบคู่ไปกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” รุ่งโรจน์ กล่าวย้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น