ASTVผู้จัดการรายวัน - พีทีที โกลบอลฯ จับมือไออาร์พีซี ศึกษาทำธุรกิจร่วมกันหวังสร้างSynergy คาดได้ข้อสรุปในปีนี้ เน้นต่อยอดสู่ธุรกิจยางสะเคราะห์ ไนลอน ป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งการจับมือของทั้งสองบริษัทเพื่อปูทางสู่การควบรวมกิจการกันในอนาคต
นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ลงนามบันทึกช่วยจำ (เอ็มโอยู) กับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาร่วมกันในการทำธุรกิจนับเป็นการสร้างSynergy ร่วมกัน ทำให้ไม่ลงทุนซ้ำซ้อนและแข่งชันกันเอง โดยเบื้องต้นมีการศึกษาความเป็นไปได้ใน 4 โครงการ อาทิ โครงการผลิตโพลิออล พีพี คอมปาวด์ ฯลฯ โดยพิจารณาว่าจะร่วมมือกันอย่างไร และที่มาของวัตถุดิบ รวมทั้งอาจพิจารณาหาพันธมิตรร่วมทุนใหม่ ถ้าเป็นโครงการที่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี คาดว่าจะได้ข้อสรุปผลการศึกษาในปีนี้
ทั้งนี้ บริษัท ไออาร์พีซีมี โครงการลงทุนภายใต้ฟินิกซ์ ทำให้มีวัตถุดิบหลายชนิดทั้งโพรพิลีน พาราไซลีน เบนซีน ที่สามารถนำมาต่อยอดไปสู่กลุ่มยางสังเคราะห์ หรือสายไนลอน ขณะที่บริษัทฯก็มีวัตถุดิบหลากหลายทั้งมิกซ์ซี 4 บิวทาไดอีน ซึ่งนำไปใช้ทำยางสังเคราะห์ได้เช่นกัน ดังนั้นหากมีการนำวัตถุดิบของทั้งสองบริษัทมารวมกัน หรือและเปลี่ยนผลิตภัณฑ์กัน เพื่อลงทุนต่อยอดธุรกิจจะทำให้โครงการเหล่านี้มีศักยภาพเข้มแข็งมากขึ้น
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ สนใจต้องการไปสู่กลุ่มยางสังเคราะห์ ไนลอน ก็เพื่อสนองความต้องการใน 3กลุ่มอุตสาหกรรมดาวรุ่งของไทยทั้งกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และวัสดุก่อสร้าง ล่าสุดกลุ่มอูเบะ ประเทศญี่ปุ่น มีโครงการที่จะขยายกำลังการผลิตคาโปรแลกตัมแห่งที่ 2 กำลังผลิต 1.5 แสนตันต่อปี ใช้เงินลงทุน 600-700 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยให้ ปตท.พิจารณาว่าจะให้ บมจ.ไออาร์พีซี หรือ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล เป็นผู้ร่วมทุนในโครงการนี้ เนื่องจากต้องอาศัยวัตถุดิบไปผลิตเป็นคาโปรแลกตัม และต่อเนื่องไปถึงผลิตภัณฑ์ไนลอน ซึ่งอูเบะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีอยู่ ซึ่งโรงงานผลิตคาโปรแลกตัมแห่งแรกของกลุ่มอูเบะนั้น ทางพีทีที โกลบอลฯ เป็นผู้ป้อนวัตถุดิบให้ ขณะที่โรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ของเขตประกอบอุตสาหกรรมเชิงเนิน จ.ระยอง ของไออาร์พีซี
ที่ผ่านมาไออาร์พีซีกับบริษัทฯ ก็มีการทำ Synergy ร่วมกันบ้างแล้ว อาทิ โครงการส่งน้ำมันดีเซลกำมะถันสูงของไออาร์พีซีมายังโรงกลั่นของบริษัทฯ เพื่อกลั่นให้ได้ดีเซล มาตรฐานยูโร 4 โดยมีการวางท่อส่งน้ำมันยาว 20 กม. และก่อนหน้านี้ ไออาร์พีซี (ทีพีไอเดิม) ก็เคยรับเอทิลีนจากบริษัทฯ มาผลิตปิโตรเคมีด้วย ดังนั้น ระยะทางห่างกันของ 2 โรงงานไม่ใช่อุปสรรคแต่อย่างใด ซึ่งการทำ Synergy ร่วมกันนี้ถือเป็นก้าวแรกที่จะเริ่มไปสู่แนวคิดที่จะให้ทั้งสองบริษัทควบรวมกิจการกันในอนาคต
นายอนนต์กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ปตท.เคมิคอล กับ บมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น ทำให้ขนาดธุรกิจใหญ่ขึ้น และมีความยืดหยุ่นในการใช้วัตถุดิบซึ่งเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับคู่แข่ง รวมทั้งได้ผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่หลากหลาย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งใน 3-5 ปีข้างหน้าบริษัทไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมากนักแต่จะสร้างได้เพิ่มจากการควบรวมกิจการครั้งนี้ 4-5 พันล้านบาท โดยมีผลตอบแทนต่อการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 14-15% ใน 10 ปีข้างหน้า รวมทั้งการขยายการลงทุนไปต่างประเทศเพื่อแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ทั้งที่ฝรั่งเศส สหรัฐฯ เป็นต้น ทำให้บริษัทมั่นใจว่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
ล่าสุดบริษัทฯ ได้ลงนามสัญญาเพื่อร่วมลงทุนในโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ กับเปอร์ตามิน่า บริษัทน้ำมันแห่งชาติอินโดนีเซีย มูลค่าเงินลงทุน 4+5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และการจับมือกับปิโตรนาส ของมาเลเซียภายใต้โครงการ RAPID เพื่อศึกษาความเป็นไปได้การขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ดาวน์สตรีม เป็นต้น