ASTVผู้จัดการรายวัน - พีทีที โกลบอลฯ เซ็น HoA กับพีที เปอร์ตามิน่า บริษัทน้ำมันแห่งชาติอินโดนีเซีย ร่วมทุนตั้งโรงปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ขนาด 1 ล้านตัน ใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบ ใช้เงินลงทุน 1.2-1.5 แสนล้านบาท คาดจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ปี 60 โดยชูโมเดลเหมือน PTTGC ที่มีการเชื่อมโยงธุรกิจจากโรงกลั่นน้ำมันสู่โอเลฟินส์ และอะโรเมติกส์ แย้มเล็งหาพาร์ตเนอร์ใหม่เสริมความเข้มแข็ง
วันนี้ (1 เม.ย.) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) ร่วมลงนาม Head of Agreement (HoA) กับพีที เปอร์ตามิน่า ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศอินโดนีเซีย ประกาศความเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการเพื่อร่วมกันกำหนดกรอบความร่วมมือ แนวทางการศึกษารายละเอียดการลงทุน ตลอดจนการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนดำเนินการก่อสร้างโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์นับตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำที่มีขนาดกำลังการผลิตใหญ่ระดับโลก
โดยโครงการดังกล่าวจะประกอบด้วยโรงกลั่นน้ำมัน และปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ที่มีโรงงานโอเลฟินส์ขนาดกำลังผลิตปีละ 1 ล้านตัน รวมถึงโรงโพลิเมอร์ปลายน้ำเพื่อรองรับความต้องการใช้ภายในประเทศอินโดนีเซีย คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.2-1.5 แสนล้านบาท
โดยทั้ง 2 บริษัทนี้จะตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อดำเนินโครงการสร้างปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ โดยทางพีที เปอร์ตามิน่า จะถือหุ้น 51% และPTTGC ถือหุ้น 49% ซึ่งปลายปีนี้จะมีการลงนามJointventure Agreement และเริ่มก่อสร้างได้ในปีถัดไป คาดว่าโครงการดังกล่าวจะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2560
นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ จะร่วมกับพีที เปอร์ตามิน่า ในการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจการกลั่นของอินโดนีเซียกับปิโตรเคมีเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตคล้ายคลึงกับโมเดลธุรกิจPTTGC ทำให้โครงการนี้มีผลตอบแทนที่ดี
ทั้งนี้ ทางอินโดนีเซียมีโรงกลั่นน้ำมันในประเทศอยู่แล้ว 5 โรง พบว่ามีโรงกลั่นอยู่ 2 โรงที่มีศักยภาพที่จะเชื่อมโยงในการผลิตปิโตรเคมีทั้งโอเลฟินส์ และอะโรเมติกส์ได้ ทำให้สามารถต่อยอดธุรกิจไปสู่เม็ดพลาสติกที่หลากหลายทั้งเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ และเม็ดพลาสติกเกรดทั่วไป อาทิ HDPE PP LDPE LLDPE และส่วนโรงอะโรเมติกส์จะได้ผลิตภัณฑ์พาราไซลีนและเบนซีนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติก PS โพลีเอสเตอร์ และ PET รับเบอร์ เป็นต้น เพื่อป้อนให้กับ 3 อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศทั้งอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และวัสดุก่อสร้าง โดยทางพีที เปอร์ตามิน่าจะเป็นผู้ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโรงกลั่นว่าจะใช้โรงกลั่นเดิมหรืออาจต้องขยายกำลังการกลั่นก่อนมาเชื่อมโยงกับปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่โรงอะโรเมติกส์ทางพีที เปอร์ตามิน่ามีโรงงานเดิมอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจะเป็นการนำเข้าแนฟทาจากต่างประเทศเพื่อมาผลิตโอเลฟินส์ก่อน เพื่อให้โครงการเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว แทนการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบ เนื่องจากเห็นว่าการใช้แนฟธาจะสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้หลากหลายมากกว่า ขณะเดียวกันก็จะมีการพิจารณาความจำเป็นในการหาพันธมิตรร่วมทุนใหม่ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจหรือช่วยด้านการตลาดหรือไม่ อย่างไร
สำหรับแหล่งเงินทุนโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ดังกล่าวนี้จะกู้ยืมจากสถาบันการเงินประมาณกึ่งหนึ่งหรือ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเงินทุนอีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งฐานะการเงินของ PTTGC มีความเข้มแข็ง และมีสภาพคล่องเพียงพอ โดย 5 ปีนี้ บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานปีละ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมแล้ว 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีเงินจากการออกหุ้นกู้ไปแล้ว 1 พันล้านเหรียญ และมีแผนจะกู้ได้อีก 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ในการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
โดยจะรักษาอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ไม่เกิน 0.7 เท่า และหนี้สินต่ออีบิทด้าไม่เกิน 2.4 เท่า
“โครงการนี้เป็นการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ ในการขยายฐานการผลิตและตลาดในภูมิภาคอาเซียนภายใต้กรอบ AEC โดยอาศัยประสบการณ์ของบริษัทที่อยู่ในธุรกิจนี้มานาน 30 ปี โดยดูลู่ทางการลงทุนทั้งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และจีน”
นางคาเรน อากัสเทียวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีที เปอร์ตามิน่า กล่าวว่า ทั้งสองบริษัทจะร่วมกันกำหนดกรอบการศึกษาและพัฒนาธุรกิจ โดยจะจับตลาดเอเชีย และยุโรป หลังจากที่บริษัทพลาดโอกาสในการเจาะตลาดมานาน 15 ปี ซึ่งการผลิตโอเลฟินส์จากแนฟทามีศักยภาพที่ดีโดยจะผลิตสินค้าได้ครั้งแรกในปี 2560 และจะหาพันธมิตรรายที่ 3 เข้ามาเสริมหากสามารถช่วยด้านการตลาด
นายอนนต์กล่าวถึงความคืบหน้าในการลงทุนโครงการปิโตรเคมีกับปิโตรนาส ประเทศมาเลเซียว่า การร่วมทุนกับปิโตรนาสเพื่อตั้งโรงงานผลิตโพรพิลีนออกไซด์ หรือโพลีออล ในประเทศมาเลเซียนั้นมีความล่าช้ามากจากเดิมที่กำหนดว่าจะผลการศึกษาแล้วเสร็จในกลางปีนี้หรืออย่างช้าไตรมาส 3 คงต้องเลื่อนไปเป็นปลายปีแทน เนื่องจากมาเลเซียได้ย่อยโครงการลงทุนปิโตรเคมีเป็นหลายโครงการทำให้ต้องเจรจาทุกโครงการ ทำให้กระทบต่อโครงการของบริษัทฯ ซึ่งเป็นโครงการปิโตรเคมีขั้นกลาง ทำให้ยังไม่สามารถกำหนดเงินลงทุนได้ โดยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้นั้น จะนำมาป้อนให้ PTTGC ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะตั้งโรงงานผลิตโพลียูรีเทนในไทยและจีนในอนาคต
เมื่อปีที่แล้ว บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับทางซิโนเปคของจีน เพื่อร่วมมือกันทำการค้า รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตโพลียูรีเทนในประเทศจีน เพื่อสนองความต้องการใช้ภายในประเทศ ซึ่งบริษัทเห็นศักยภาพการใช้โพลียูรีเทนในจีนที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าผลการศึกษาการตั้งโรงงานนี้จะได้ข้อสรุปในเดือน เม.ย. 2556
ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ร่วมกันวางแผนด้านการตลาด โดยในการพัฒนาสินค้าและดูแลลูกค้าในจีน
สำหรับสถานการณ์ปิโตรเคมีในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ พบว่า ราคาปิโตรเคมีปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาส 4/2555 สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบโลกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ค่าการกลั่นรวม (Market GRM) 2 เดือนแรกอยู่ที่ 5% เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และค่าการกลั่นรวมเฉลี่ย (GIM) 8-9% ก็ดีขึ้นจากปีก่อนด้วย
โดยปีนี้ บริษัทฯ มีกำลังการผลิต MEG เต็มปี 4 แสนตัน และโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 6 เดินเครื่องได้ดีขึ้น แต่กลางปีนี้โรงกลั่นของบริษัทฯจะหยุดซ่อมบำรุงใหญ่เป็นเวลา 30-40 วัน โดยโรงโอเลฟินส์ และโรงอะโรเมติกส์จะเดินเครื่องจักรอยู่ ทำให้รายได้ปีนี้ใกล้เคียงปีก่อนที่ 5.7 แสนล้านบาท และเช่นเดียวกับกำไรสุทธิ โดยปีที่แล้วบริษัทมีกำไรสุทธิ 3.4 หมื่นล้านบาท