xs
xsm
sm
md
lg

CG ตลาดทุนไทยเป็นที่ 3 ในเอเชีย:ยังมีโจทย์รอแก้/สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การจัดอันดับการกำกับดูแลกิจการของตลาดทุนในเอเชีย ที่ดำเนินการโดย Asian Corporate Governance Association และ CLSA Asia-Pacific Markets ประจำปี 2555 เมื่อเร็วๆ นี้ ปรากฎว่าประเทศไทยขยับขึ้นจากปีก่อนมาหนึ่งอันดับ เป็นอันดับ 3 ต่อจากสิงคโปร์ อันดับ 1และฮ่องกง อันดับ 2 โดยมีญี่ปุ่นและมาเลเซียติดตามมาเป็นอันดับที่ 4 และ 5 ทั้งนี้ เป็นการพิจารณาจากทั้งหมด 11 ประเทศ

ในการประเมินครั้งนี้ ผลการประเมินกรณีตลาดทุนของไทยซึ่งคะแนนดีขึ้น 4 หมวด จากทั้งหมด 5 หมวด มีดังนี้

หมวด 1 หลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการและการปฏิบัติ พบว่าบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่สามารถเปิดเผยงบการเงินประจำปีได้ภายใน 60 วัน ซึ่งในหลายประเทศทำไม่ได้ รวมถึงการสอบทานงบการเงินอย่างเข้มงวดโดย ก.ล.ต. ทำให้มีการแก้ไขงบการเงินให้ถูกต้อง
สำหรับการจัดประชุมประจำปีผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนมีการเตรียมวาระ การลงมติโดยใช้บัตรลงคะแนน และการจัดทำรายงานการประชุมที่มีเนื้อหาครบถ้วนและทันกาล แต่ส่วนที่ควรปรับปรุงก็คือ การเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ด้านการเงิน เช่น คำอธิบายและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับผลการดำเนินงาน (MD&A) รายงานด้านบรรษัทภิบาล (CG) และรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นต้น

หมวด 2 การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งไทยได้คะแนนดีขึ้นเล็กน้อย ผลการประเมินระบุประเด็นที่น่าสนใจ เช่น การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของผู้บริหารบริษัทที่ถูก ก.ล.ต. ลงโทษ การกระตุ้นให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยไปใช้สิทธิในวาระที่อาจมีความขัดแย้งทางประโยชน์ และในส่วนของภาคเอกชนที่ดำเนินการเรื่องนี้ได้ดี ได้แก่ การทำหน้าที่ของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยในการประเมินคุณภาพการจัดประชุมประจำปีผู้ถือหุ้น และการเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นในการตั้งคำถามในที่ประชุมผู้ถือหุ้น
แต่ในส่วนของภาครัฐ ผู้ประเมินยังคงมีข้อสังเกตเกี่ยวกับประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมอันเนื่องมาจากจำนวนคดีที่เสร็จสิ้นในชั้นศาลมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษไป
หมวด 3 บรรยากาศด้านการเมืองและกฎหมาย ซึ่งไทยได้คะแนนเท่าเดิม ด้วยความเห็นว่าช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาการแก้ไขกฎหมายไม่มีความคืบหน้ามากนัก นอกจากนี้ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยควรปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์ให้ค้นหาได้สะดวกยิ่งขึ้น

หมวด 4 การจัดทำบัญชีและการตรวจสอบ เป็นหมวดที่ไทยได้คะแนนดีขึ้นมาก จากการที่ ก.ล.ต. แสดงบทบาทการกำกับดูแลและการยกระดับการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีจนเป็นที่ยอมรับทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมทั้งได้มีการประเมินคุณภาพสำนักงานสอบบัญชีตามมาตรฐานสากลเสร็จแล้วเป็นส่วนใหญ่

หมวด  5วัฒนธรรมธรรมาภิบาล คะแนวหมวดนี้ของไทยดีขึ้น เนื่องจากการทำงานของหลายภาคส่วน เช่น สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ที่ได้จัดอบรมความรู้ให้แก่กรรมการบริษัทอย่างต่อเนื่องและโดดเด่น สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รณรงค์ให้บริษัทจดทะเบียนมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีผ่านกิจกรรมต่าง ๆ
ในหมวดนี้ที่ผู้ประเมินเห็นความก้าวหน้ามากที่สุด คือ การรวมตัวของภาคเอกชนจัดตั้ง “เครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแนวคิดนี้จำนวนมาก อย่างไรก็ดี ผู้ประเมินยังคงไม่มั่นใจว่าการดำเนินการของภาคเอกชนจะแก้ไขปัญหานี้ได้จึงต้องติดตามต่อไป

ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีความเห็นว่า ผลการประเมินเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุนไทย เพราะทำให้รู้ว่ามีจุดเด่นและจุดด้อยตรงไหนบ้าง การปรับปรุงแก้ไขจะได้ตรงจุด
ผลการประเมินปีนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 3 โดยเป็นรองเพียง 2 ประเทศ คือสิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งนับว่าโดดเด่นกว่าอีกหลายประเทศในกลุ่ม ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในตลาดทุนที่เห็นความสำคัญของการมีกำกับดูแลกิจการที่ดี ส่วนประเด็นที่ยังต้องการปรับปรุงอย่างชัดเจนคือการป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจและภาครัฐอย่างมาก
“ส่วนการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ก.ล.ต.ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีด้านหลักทรัพย์กับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าการดำเนินการด้านนี้จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามลำดับ ส่วนการเปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างดำเนินการซึ่งมีแผนที่จะใช้งานได้ภายในต้นปี 2556”
ส่วน จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมีการพัฒนาด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาโดยตลอด โดยจัดตั้งศูนย์พัฒนาการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน หรือ CG Center ให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการและผู้บริหาร พร้อมจัดกิจกรรมให้ความรู้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2545 รวมถึงให้การสนับสนุนแก่สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ในการสำรวจการจัดทำรายงานการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CGR) ตั้งแต่ปี 2544 เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมี Benchmark หรือ ข้อมูลอ้างอิงเปรียบเทียบในการพัฒนางาน CG
ในปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างปรับปรุงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยศึกษาจากหลักการ CG ของสถาบันต่างประเทศ ผนวกกับเกณฑ์การประเมินของ ASEAN CG Scorecard ที่จะใช้เป็นแนวปฏิบัติให้บริษัทจดทะเบียนเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
นอกจากนี้ ยังผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน Sustainability Development Report (SD Report) ตามกรอบการรายงานของ Global Reporting Initiative (GRI) โดยได้จัดทำและเผยแพร่คู่มือรวมทั้งการจัดอบรมเตรียมความพร้อมให้แก่บริษัทจดทะเบียน
“หากบริษัทจดทะเบียนมีการพัฒนาด้านการกำกับดูแลกิจการที่ยึดหลักการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
จะช่วยให้บริษัทมีศักยภาพในการเติบโตอย่างยั่งยืน สามารถสร้างความน่าเชื่อถือและได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนมากขึ้นด้วย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวยืนยัน
สำนักงาน ก.ล.ต. นำองค์กรในตลาดทุนแถลงความสำเร็จการยกระดับ CGในการประเมิน CG Watch 2012 ไทยขยับอันดับขึ้นเป็นที่ 3 ในเอเชีย ผู้ร่วมแถลงข่าว ได้แก่  ดร.วรพล  โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. , จรัมพร  โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, มงคล  ลีลาธรรม นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย , เกษตร  ชัยวันเพ็ญ กรรมการสมาคมบริษัทจัดการลงทุน, ประทีป  ตั้งมติธรรมอุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย, ดร.บัณฑิต  นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย  และ มานะ  นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการศูนย์ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน  เมื่อเร็วๆ นี้
ข้อคิด …
ปรากฎการณ์ที่ตลาดทุนไทยมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น จากการประเมินของสถาบันระดับสากล โดยเฉพาะด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ CG ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ในมิติของกระบวนการบริหารกิจการ (CSR-in process)
ตัวอักษร S ในหลัก CSR จึงหมายถึง Stakeholders ซึ่งผู้บริหารธุรกิจจะมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อันได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ชุมชน และสังคมวงกว้าง ซึ่งหมายรวมถึงสิ่งแวดล้อม
ผลการประเมินดังกล่าวเป็นจังหวะดีสำหรับตลาดทุนไทยในช่วงที่มีการเชื่อมโยงประเทศกลุ่มอาเซียน ทำให้นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจตลาดทุนอาเซียนมากขึ้น
อย่างประเทศไทยเคยอยู่ในลำดับที่ 8 (ได้ 47 คะแนน) ในปี 2550 และลำดับที่ 4 (ได้ 55 คะแนน) ในปี 2553 จนกระทั่งเขยิบขึ้นเป็นลำดับที่ 3 ในครั้งนี้ (ได้ 58 คะแนน) จะเห็นว่าไทยแซงหลายประเทศ เช่น อินเดีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ มาเลเซีย หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่นที่เคยอยู่ในลำดับต้นๆ มาก่อน
อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินครั้งนี้แม้ประเทศไทยได้เลื่อนลำดับและคะแนนดีขึ้น แต่เมื่อพิจารณาถึงคะแนนในรายละเอียด จะเห็นว่า มี 3 หมวดที่ได้คะแนนสูงกว่าครึ่ง (50%) เล็กน้อยและมี 1 หมวดได้ครึ่งหนึ่ง (50%) และมี 1 หมวดที่ได้ต่ำกว่าครึ่งด้วย ถ้าเป็นการสอบก็คือคะแนนเฉลี่ยยังตกอยู่ และนี่คือสิ่งที่เราต้องหาทางแก้ไขปรับปรุง แม้เราจะดีกว่าหลายประเทศก็ตาม
แต่เมื่อมองไปข้างหน้าประเทศไทยมีโอกาสได้คะแนนเพิ่มขึ้นอีก โดยจะต้องแก้ไขในหมวดที่ยังได้คะแนนไม่ดี และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญในการปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างไร
ดังนั้น การที่ ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวในปาฐกถาเรื่อง โอกาสและความท้าทายของไทยจากการพัฒนาประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ว่าไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงตลาดทุนของกลุ่มประเทศ GMS โดย ก.ล.ต.ได้สร้างเครื่องมือการลงทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนในกลุ่มประเทศไว้ 5 รูปแบบ 1. การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) 2.กองทุนร่วมเพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) 3.การตั้ง Holding Company จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 4.กองทุนเพื่อการลงทุนในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ (Private Equity Fund) และ 5.การแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ (Securitization)
โดยเฉพาะการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนไทยที่มีศักยภาพไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศเพื่อเป็นช่องทางการระดมทุน นับเป็นบทบาทที่มีผลดีต่อการขยายธุรกิจและการลงทุนของกิจการชั้นนำของไทย
แต่กระแสโลกยุคปัจจุบันกำลังให้ความสำคัญแนวทางการบริหารจัดการที่มุ่งคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความรับผิดชอบต่อสังคม
การยกระดับมาตรฐานการมีบรรษัทภิบาล หรือ CG จึงอยู่ในกระบวนการมี CSR และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น