คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
ผู้ซื้อกองทุนในปัจจุบันใส่ใจกับกองทุนต่างๆ มากขึ้นโดยเฉพาะกองทุนรวมที่เลือกซื้อหาได้ง่ายมากผ่านธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ และตัวแทนขายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงจังหวะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนและเชื่อมต่อกัน ผลที่เกิดขึ้นกับตลาดหนึ่งส่งผลต่ออีกตลาดหนึ่งอย่างปฏิเสธไม่ได้ การศึกษาหาข้อมูลเลือก บลจ. ที่มีวิธีการบริหารที่ตรงใจ ไว้ใจได้ จึงกลายเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนกองทุนรวม แสวงหา นอกเหนือจากความสะดวกในการลงทุนซึ่งเป็นปัจจัยหลักเดิมๆ เวลาเลือกซื้อกองทุน
สำหรับ บลจ.บัวหลวง ซึ่งก่อตั้งมากว่า 20 ปี มีหลักการและแนวทางบริหารที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ปรับเปลี่ยนวิธีการลงทุนไปตามนโยบายของแต่ละกองทุน แต่ยังคงอยู่ภายใต้ปรัชญาการลงทุนที่เชื่อมั่นและใช้เป็นแนวทางมายาวนาน
สำหรับวิธีการบริหารที่เราใช้ในปัจจุบันและต้องการบอกกับผู้ลงทุนก็คือ ในขั้นแรกเรามองภาพ Investment theme ใหญ่ก่อน ซึ่งที่ผ่านมา เราเห็นกระแสของการขยายเมืองออกไป (Urbanization) ซึ่งทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิต (Lifestyles) จะค่อยๆ เปลี่ยนไปจากอดีต เราเห็นการขยายตัวของกลุ่มชั้นกลาง คือมีคนขยับฐานะมาเป็นคนชั้นกลางได้มากขึ้น ผนวกกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังดีทำให้อำนาจการซื้อเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังได้ตลาดอาเซียน (AEC) เป็นตัว สนับสนุนการขยายตัวได้เพิ่มขึ้นด้วย และเมื่อมองออกไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า ก็เห็นว่ายังมีโมเมนตัมที่ดีอยู่
ขั้นต่อไป เราวิเคราะห์กลุ่มอุตสาหกรรมว่ากลุ่มไหนได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จาก Trend ที่เรา เห็นในอนาคตนี้บ้าง
ขั้นสุดท้าย เราจะเฟ้นหาหุ้น ซึ่งเราจะให้ความสำคัญกับคุณภาพในการทำกำไร + งบการเงินที่แข็งแรง + ธรรมาภิบาล โดยเราจะดูว่าหุ้นตัวใดที่ได้ประโยชน์จาก Theme ดังกล่าวข้างต้น และหุ้น ตัวไหนที่เรามั่นใจ เราจะให้น้ำหนักการลงทุนมากเป็นพิเศษ เพราะเราเชื่อมั่นในทีมวิเคราะห์ของเราว่า มีความสามารถในการเฟ้นหาบริษัทที่มีศักยภาพและมีคุณภาพ ทั้งนี้ เรื่องน้ำหนักการลงทุนนั้น เราไม่ได้อิง Market weight ของหุ้นตัวนั้นๆ เมื่อเทียบกับดัชนี (Index) แต่อย่างใด
สำหรับทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงที่เหลือของปีนี้ เราเชื่อว่า ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น เพราะความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังอยู่ในเกณฑ์ดีที่ระดับมากกว่า 20% ใน 2 ปีข้างหน้า และหุ้นไทยยังให้ Dividend yield ที่สูงในลำดับต้นๆ ของ Asia
อย่างไรก็ตาม ตลาดจะยังได้รับความผันผวนจากปัจจัยภายนอกเรื่องปัญหาหนี้ยุโรป ที่แม้ว่าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน รวมถึงความกังวลในเรื่องที่สหรัฐอเมริกากำลังจะสิ้นสุดมาตรการทางภาษี (Fiscal Cliff) ทั้ง Bush Tax Cuts และ Payroll Tax Cuts รวมไปถึงต้องลดงบประมาณรายจ่ายโดยอัตโนมัติ 2 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปี (Automatic Spending Cuts) ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.2556 (หลังกำหนดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือน พ.ย.55) ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้อาจกระทบต่อกระแสเงินไหลเข้าออก (Fund Flow) หรือการปรับพอร์ต (Asset Allocation) ของผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศ และตลาดอาจเกิดอาการกลัวๆ อยากๆ ที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นและ Commodity (Risk on / Risk off) จนมีอาการเข้าๆ ออกๆ พอมีข่าวที่คิดว่าดีก็กระโดดเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง พอนึกขึ้นมาได้ว่ามันไม่ดีจริง หรือมีข่าวอื่นที่ไม่ดีก็กระโดดออก เรียกว่าต่อม Greed กับต่อม Fear ของผู้ลงทุนทั่วโลกต้องทำงานหนักและถี่กว่าช่วงเวลาปกติ
ส่วนเรื่องปัญหาการเมืองในประเทศนั้น เรามองว่ามีผลต่ออารมณ์ของผู้ลงทุนเท่านั้น ไม่ได้กระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในตลาดหุ้นแต่อย่างใด
เราอยากให้นักลงทุนปรับมุมมองการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนหุ้นว่า เป็นการออมระยะยาวมากกว่า ผู้ลงทุนควรศึกษาการวางแผนการลงทุน และการออมในระยะยาวให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงิน โดยต้องกำหนดให้อยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ และหากยังไม่พร้อมที่จะลงทุนเองก็ควรหาผู้เชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษา ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งในธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกัน และบลจ. ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มั่นใจได้ว่า การลงทุนที่กำหนดนั้นมันเหมาะหรือมันใช่กับสไตล์ของผู้ลงทุน
อย่าลงทุนตามแฟชั่น อย่าลงทุนเพราะเห็นแก่ของแถม อย่าลงทุนเพราะคนขายขอให้ช่วยทำเป้า และอย่าลงทุนเพราะได้ข่าวว่าขาใหญ่กำลังเล่นตัวนั้นตัวนี้ เงินของคุณกว่าจะหามาได้มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ดังนั้น จงอย่าใจง่ายในการลงทุน
การลงทุนผ่านกองทุนรวมนั้นมีทางเลือกที่หลากหลาย กองทุนรวมแต่ละกองจะมีนโยบายลงทุนเฉพาะตัว สำหรับผู้ลงทุนที่มองว่าผลตอบแทนจากการฝากเงินน้อยเกินไปและต้องการได้รับเงินสดมาใช้ระหว่างการลงทุน รวมถึงคาดหวังผลตอบแทนสูงกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ หรือสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อโดยสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นได้ ก็แบ่งเงินส่วนที่เหมาะสมมาลงทุนใน กองทุนรวมบัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาล (BSIRICG) ซึ่งเลือกลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างมีคุณภาพในอนาคต ซึ่งบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่มีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ และได้รับการจัดอันดับความสามารถการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนไทย (Corporate Governance Scoring “CG Scoring”) ในระดับสูง
นอกจากนี้แล้วควรแบ่งเงินลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่สามารถทำรายการซื้อขายได้ทุกวันทำการ เพื่อเป็นการบริหารสภาพคล่องอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากกองทุนประเภทนี้เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ มีสภาพคล่องสูง และผลตอบแทนที่ได้โดยเฉลี่ยแล้วดีกว่าเงินฝากประเภทออมทรัพย์ ที่สำคัญหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ผู้ลงทุนต้องใช้เงินกะทันหัน ก็สามารถทำรายการขายคืนหน่วยลงทุนในส่วนนี้ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายก่อนได้
ข้อคิดจาก Dr. Marc Faber
คำถามสำคัญที่สุดในทศวรรษหน้า ไม่ใช่ถามว่า “ลงทุนอะไร ที่ไหน ถึงจะได้ผลตอบแทนสูงที่สุด” แต่ต้องถามว่า “ลงทุนอะไร ที่ไหน แล้วจะมีโอกาสขาดทุนน้อยที่สุด”