xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “ดีเจเคนโด้” อดีตผู้ป่วยไบโพลาร์ ทำไมเขาถึงหาย??

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เจ้าของฉายา “ดีเจเทวดา” ที่มีชื่อเสียงโลดแล่นอยู่ในแวดวงการเป็นนักจัดรายการวิทยุและพิธีกรมาหลายรายการ ด้วยความสามารถที่โดดเด่นของเขาใครเลยจะรู้มาก่อนว่า ‘เคนโด้-เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร’ หรือ ‘ดีเจเคนโด้’ นั้นเคยโดนโรค ‘ไบโพลาร์’ รุมเร้า ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันจนกระทั่งต้องเข้ารับการบำบัดมาก่อน

และนี่ก็คือการเปิดใจอดีตผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ที่ได้รับการรักษาอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ.2555 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้แล้วยังรวมไปถึงการทำความเข้าใจกับโรคดังกล่าวให้มากขึ้นด้วย เพราะเนื่องจากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกพบว่าต้องมีคน 1 ใน 5 คน ที่มีปัญหาสุขภาพจิตโดยถ้าประชากรไทย 60 ล้านคน น่าจะมีคนป่วยเป็นโรคไบโพลาร์อยู่ประมาณ 3 ล้านคน

เผชิญหน้า...กับโรคไบโพลาร์
เข้ารับการรักษา กว่า 5 ปี

“ผมเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเก่งไปหมดทุกอย่าง บ้าพลัง รู้สึกว่ามีพลังเยอะแยะมากมาย ทำตัวกร่าง ทั้งการพูดจา การไม่กลัวคน เที่ยวมีเรื่องกับคนอื่นไปทั่ว และรุนแรงกับหลายๆ คน เถียงผู้ใหญ่ มองโลกแปลก อีกทั้งดื่มเหล้าหนักมาก ดื่มทีเป็นขวดๆ ไม่หลับไม่นอน รวมถึงการแต่งตัว ก็จะประหลาดเหมือนคนเข้าทรง ถึงขนาดคิดว่าตัวเองเป็นร่างทรง เป็นผู้วิเศษ ติดต่อกับเทพเทวดาได้ กระทั่งออกไปข้างนอกกับคุณแม่ ยังมีคนทักว่าบ้าหรือเปล่า ซึ่งคุณแม่เองก็บอกว่าอาการยังไม่ชัดเจนว่าเราป่วย เพราะผมยังสามารถไปทำงานได้ปกติ

“ถามว่าเรารู้ตัวไหมตอนนั้น ตอนแรกจริงๆ ผมก็ไม่รู้หรอก คำว่ารู้ตัวหรือไม่รู้ตัว มันอาจจะใช้กับโรคไบโพลาร์ไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นขั้นตอนดำเนินการของโรค มันจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งคนที่เป็นระยะแมเนีย (Mania) จะออกแนวล้นๆ มากกว่าชาวบ้านเขา พูดจริงๆ ทุกคนที่เป็น ไม่รู้ตัวหรอก คนรอบข้างก็ไม่รู้หรอกว่าอะไรคือสัญญาณของโรคนี้ เพราะถ้ามันจะเป็น ก็เป็นไปเลย ตอนที่เป็นระยะแมเนีย สนุกจะตาย ตัวเองไม่ต้องหลับ ไม่ต้องนอน ล้น พลังเหลือเฟือ แต่พอเรามาอยู่ในระยะซึมเศร้านี่สิ อาการมันก็ค่อยๆ ลง ค่อยๆ ห่อเหี่ยว ไม่อยากทำอะไร เหนื่อย

“จนกระทั่งวันหนึ่งผมเริ่มรู้ตัวว่าอาการหนัก เพราะผมใช้อารมณ์แค่ชั่ววูบ ทำร้ายตัวเองด้วยการเอาจานฟาดไปที่ฝาผนัง และจิ้มเข้าไปที่แขนของตัวเองจนเป็นรู ถึงแม้จะรู้ตัว แต่ผมก็ห้ามตัวเองไม่ได้ เพราะคิดอย่างเดียวว่าตัวเองไม่อยากอยู่ ไม่มีคุณค่า แถมยังเคยด่าคนออกทีวีตอนออกอากาศสดด้วย แต่โชคดีตอนนั้นผมอ่านข่าวช่อง 11 ก็เลยได้เจอและปรึกษากับ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ หรือ หมอเบิร์ด อดีตนางสาวไทยปี 2542 ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ

“เราก็เลยได้เข้าไปคุยกับหมอว่า ผมผิดปกติ คุยกันเริ่มต้นก็คิดว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า เลยนัดกันไปที่โรงพยาบาลกรุงเทพ คุยไปคุยมา แจ็คพ็อต! ผมไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า แต่เป็นไบโพลาร์ครับ ผมเลยได้เข้ารับการรักษามาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2555 จนถึงปัจจุบัน”

‘ไบโพลาร์’
เป็นได้ก็หายได้

“โรคไบโพลาร์ คือโรคอารมณ์ 2 ขั้ว คนที่เป็นไบโพลาร์จะมี 2 อารมณ์ มีทั้งระยะแมเนีย กับอีกระยะหนึ่งคือระยะซึมเศร้า แต่ทั้ง 2 ระยะจะต้องกินเวลา ไม่ใช่ว่าวันนี้ดี พรุ่งนี้ร้าย อันนั้นที่เขาเรียกกันว่า ผีเข้าผีออก อารมณ์แปรปรวนมันจะคนละอย่างกับไบโพลาร์ เพราะไบโพลาร์จะเหมือนฤดูกาล เช่น คึกคักฤดูกาลหนึ่งเลย มันจะมีเป็นไทป์ ไทป์เอ ไทป์บี ไทป์เอ จะมีความคึกคักยาวมากกว่า ส่วนพวกไทป์บี ก็จะเป็นแบบซึมเศร้ายาวนานมากกว่า แต่ทั้ง 2 ขั้วจะต้องกินเวลา 3 เดือน หรือมากกว่านั้น แล้วแต่อาการของแต่ละคน

“โรคไบโพลาร์จะเกิดกับผู้ที่มีคนในครอบครัวที่ป่วยมาก่อน มีพันธุกรรมมาอยู่แล้ว หรือไม่ก็เจอเหตุกระทบกระเทือนจิตใจรุนแรง สารเคมีในสมองไม่สมดุล หรือการใช้ยาเสพติดก็เป็นส่วนกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคไบโพลาร์ได้ โดยเมื่อเป็นแล้วจะมีอาการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เปลี่ยนการกิน เปลี่ยนการนอน และเปลี่ยนการใช้ชีวิต

“ตัวอย่างคนที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีพฤติกรรม เช่น พี่เสก ตอนนี้จะเป็นช่วงคึกคัก เพราะในช่วงคึกคักจะเชื่อในสิ่งพลังวิเศษ เชื่อในปีศาจ หวาดระแวงว่าจะมีคนฆ่า พี่เสกไม่สามารถระงับยั้งชั่งใจตัวเองได้ ไปยิงปังๆ อะไรแบบนี้ แล้วก็มีหลายโปรเจคต์ ทุกครั้งที่พี่เสกออกสื่อ เช่น อยากจะทำเพื่อเด็กนักศึกษา ช่วยให้ประเทศพัฒนา คือมีแต่โปรเจคต์ แต่ไม่มีการลงมือทำ แล้วพี่เสกออกมาจากคุกก็บอกว่า จะไปซื้อที่ดินวางแผนโปรเจคต์

“คือสมองของไบโพลาร์ระยะแมเนียจะมีโปรเจคต์เยอะแยะ แต่ไม่สำเร็จสักอย่าง พี่เสกเคยจะทำมือถือช่วงหนึ่งจำได้ไหม ใหญ่โตมากเลย เคยจะทำเบียร์โลโซจำได้ไหม ทำทุกอย่างเลย นี่แหละมันคือโรคมันดำเนินการแบบนี้ แล้วทุกคนที่เป็นไบโพลาร์ก็จะเป็นแบบนี้ แต่ก็แตกต่างพฤติกรรมออกไป บางคนก็จะเป็นลักษณะใช้เงินเปลือง เช่น ผู้หญิงชอบชอปปิ้งก็จะซื้อรองเท้า 50 คู่ เลย บางคนใช้เงินวันละเป็นล้านเลยก็มี จะใช้เงินเปลืองมาก เพราะมีโปรเจคต์เยอะ คิดเล็ก ๆ ไม่เป็น และต้องทำให้ถึงที่สุด บางคนไปในรูปแบบของอารมณ์ทางเพศสูง ผู้ชายชอบเที่ยวมีอะไรกับผู้หญิงไปทั่ว หรือว่ามีแฟนเป็น 10 คนเลยก็มี อีกทั้งยังขยันมาก นอนน้อย คิดแต่เรื่องการลงทุน แต่คนรอบข้างอาจจะไม่รู้เพราะอาจคิดว่าเป็นคนขี้เหวี่ยง ขี้วีน อะไรประมาณนี้ครับ

“จริงๆ แล้วโรคนี้หายได้นะครับ การรักษาคือต้องให้ยาหนึ่งส่วน แต่ยาก็ไม่ได้ทำให้หาย แต่สิ่งที่จะทำให้หายคือ ต้องให้ยาควบคู่กับจิตบำบัด หรือพฤติกรรมบำบัด ให้ยาอย่างเดียวไม่มีทางหาย หรือจะทำจิตบำบัดอย่างเดียวก็ไม่มีทางหาย ต้องทำควบคู่กัน แต่อย่าใช้คำว่าหายขาดกับการกินยา มันก็เหมือนกับโรคเบาหวาน ความดัน เราก็ใช้ชีวิตปกติไม่รู้ว่าเบาหวานจะขึ้นเมื่อไหร่ ผู้ป่วยบางคนสามารถหยุดยาได้ และก็หายไปเลย บางคนก็หยุดยาไม่ได้ ก็แล้วแต่อาการแต่ละเคสไปซึ่งไบโพลาร์ มีอยู่ 2 ส่วน คือ ใช้ยาในการปรับเคมีในสมอง ยาก็มีหลายตัวมันขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน

“อย่างเคสของผมตอนแรกผมใช้ยาต้านเศร้าเพราะอาการของผมตอนที่ไปหาหมอจะอยู่ที่ระยะซึมเศร้าก็เลยต้องใส่ยาที่ทำให้เราหายเป็นขั่วซึมเศร้าก่อน ให้มาเป็นคนที่มีจิตใจปกติก่อน แต่ถ้าใช้ยาตัวนี้นานๆ เราก็จะดีดขึ้นไปเป็นไบโพลาร์อีกรอบหนึ่ง ก็จะกลายเป็นแมเนีย หมอก็จะคำนวณสูตรยาให้เราเป็นปกติ เสร็จแล้วก็ใส่ยาตัวใหม่เข้าไป คือยาลิเที่ยม (Litinum) คือยารักษาไม่ให้ขึ้นไม่ให้ลง แต่ละคนจะได้ยาสูตรไม่เหมือนกัน ถ้าใส่ยาผิดก็จะดีด คือหมอกลัวว่าบางคนเป็นซึมเศร้าอยู่ ใส่ยาไปเยอะๆ อีกวันก็กลายเป็นแมเนียไปเลย ดีดขึ้นไปเลยประมาณนั้น ไบโพลาร์ทุกคนใช้ยาไม่เหมือนกันครับ”


อย่ามองผู้ป่วยไบโพลาร์ว่า ‘บ้า’
อยากให้สังคมไทยเข้าใจแต่ไม่ได้เข้าข้าง

“ผมเป็นคนบ้าไหมล่ะ ก็ไม่ใช่ ผมก็ยังทำงานเป็นพิธีกรได้ แต่ทุกวันนี้ผมยังต้องกินยาวันละ 5 เม็ด จริงๆ หมอบอกว่าหยุดได้ แต่ผมบอกเองว่าไม่หยุด ผมแฮปปี้กับการกินยา เพราะเราไม่อยากกังวลว่าสารในสมองของเราจะมากขึ้นหรือลดลง ซึ่งยาก็ไม่ได้ส่งผลอะไรกับชีวิตผมเลย

“หลายคนมองไบโพลาร์ว่าบ้าเพราะด้วยความไม่เข้าใจ ผมถึงบอกว่าถ้าเข้าใจทั้งผู้ป่วยเองและคนที่อยู่ในสังคมเอง มันจะไม่เลือกข้างใดๆ เลย เราจะไม่เลือกโจมตี จะไม่เลือกชื่นชม จะอยู่ด้วยความเข้าใจ ทุกวันนี้เราต้องสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคมมากที่สุด ผมถึงออกมาเปิดตัวว่าผมยังเป็นพิธีกรได้ อยู่ในหน้าจอได้ สื่อกับสังคมได้ก็ไม่เห็นจะต้องบอกว่า ฉันไม่ได้เป็น ฉันไม่ได้ป่วย แต่ฉันป่วยก็ไม่ได้เป็นอะไร ไม่ได้ถูกกีดกั้นการทำงาน คนต่างประเทศก็มีศิลปินหลายคนเป็นไบโพลาร์ เป็นซึมเศร้ากันทั้งนั้น แต่เขาก็ยังใช้ชีวิตได้ปกติ ต่างประเทศเขามองว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ธรรมดามาก ผมเลยอยากให้สังคมไทยเข้าใจโรคนี้ให้มากขึ้น ต้องใช้คำว่าเข้าใจ แล้วผมจะไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเลย แต่คุณจะรู้ด้วยตัวคุณเอง

“ส่วนตัวใครที่ว่าโรคนี้คือโรคบ้า ผมไม่คิดจะโกรธคนเหล่านั้นเลยนะครับ เพราะว่ามันคือความรู้ คนไม่รู้คือไม่ผิด มันหน้าที่ของเราสิ เราควรชี้แจงให้สังคมได้รับรู้ ล่าสุดผมมีแฮชแท็กว่า “เข้าใจไม่ได้เข้าข้าง” พอนึกออกไหม ถ้าเราเกิดความเข้าใจโรคทุกโรค เราจะรู้ว่าเราจะมีความคิดเห็นกับสถานการณ์นั้นอย่างไร อย่างเช่น เรื่องพี่เสกนะครับ คนเข้าข้างคนอื่น ไม่เข้าข้างพี่เสกเพราะพี่เสกเลว บางคนก็บอกว่าเข้าข้างพี่เสก เพราะเป็นไอดอลกู คนเลือกเข้าข้างโดยที่มีข้อมูลไม่พียงพอ แต่ถ้าเข้าใจทุกคนจะรู้ว่าควรจะตัดสินใจอย่างไร ควรรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้ ผมก็เลยรู้สึกว่าเราต้องทำหน้าที่แล้วแหละ เราต้องชี้แจงให้สังคมได้รู้ว่าคุณควรเข้าใจแต่เราไม่ได้เข้าข้าง ประมาณนั้นครับ”

แนะ... หมั่นสังเกต
คนใกล้ตัว - คนในครอบครัว

“สำหรับผมกว่าที่บ้านผมจะเข้าใจว่าผมเป็นไบโพลาร์ เราหาคำตอบอยู่ตั้งนานว่ามันคืออะไร เพราะน้องสาวผมเป็นมาก่อน พ่อกับแม่ก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร อยู่ดีๆ น้องสาวผมก็คิดว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษ ลักษณะน้องสาวผมก็จะคล้ายๆ กัน ที่บ้านผมเป็นโรคนี้กัน 2 คน เราก็ต่อสู้กับมันมาปีนี้เป็นปีที่ 10 แล้ว กว่าเราจะมาได้รับคำตอบ ก็ประมาณเข้าปีที่ 5 กว่าจะหายสนิท อย่างน้องสาวผมกว่าจะหายก็ปีที่ 10 ซึ่งตรงนี้มันไม่มีใครรู้หรอก ว่าทุกคนไม่ได้ถูกให้เรียนรู้ว่า โรคจิตเวท โรคไบโพลาร์ที่บ้านเราคืออะไร กว่าที่จะเรียนรู้คือต้องเป็นก่อน ต้องประสบเหตุก่อน ต้องทุกข์ใจก่อน ลูกหลานต้องไปทำความเสียหายกับครอบครัวก่อน ถึงจะรู้ว่าลูกเราเป็นอะไร

“วันนี้ ผมและน้องสาวผ่านโรคนี้มาจนอาการกลับมาดีขึ้นได้ก็เพราะครอบครัว ผู้ดูแลสำคัญที่สุดเพราะว่าผู้ป่วยเองไปรักษาเองไม่ได้ บางคนก็ไม่รู้ว่าตัวเองต้องไปหาหมอด้วยซ้ำ ผมโชคดีที่มีคุณแม่ คุณแม่ผมคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ท่านอดทนและให้กำลังใจพวกเราอยู่เสมอ รวมถึงหาความรู้เกี่ยวกับวิธีการรักษา คุณพ่อกับคุณแม่ผมไปเรียนมาเลยนะครับว่าจะดูแลลูกอย่างไร ท่านยังไปซื้อหนังสือมาอ่านให้ฟังใช้วิธีการหลอกล่อให้ลูกๆ ตั้งใจฟัง ต้องนอนกุมมือกัน และคุณแม่จะตื่นก่อนเพื่อมาดูแลพวกเราทุกวัน ดังนั้นสำหรับผู้ป่วยด้วยโรคทางจิตเวช จึงควรดูแลเขาด้วยกำลังใจ และความอดทน จึงจะช่วยให้กลับมาเป็นปกติได้ครับ

“ผมอยากแนะนำว่าถ้ามีคนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ หรือคุณพ่อคุณแม่เริ่มรู้สึกว่าลูกเราแปลกๆ ไป อย่าตัดสินใจด้วยความรู้สึกของคุณพ่อคุณแม่เอง ว่าลูกเราเลว ลูกเรานิสัยไม่ดี ลูกเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ผมอยากให้คุณพ่อคุณแม่กล้าที่จะไปปรึกษาจิตแพทย์ นี่คือการรณรงค์ที่สำคัญมาก ให้รู้สึกว่าการไปหาจิตแพทย์ก็เหมือนกับการไปหาหมอปวดหัวตัวร้อน ท้องเสีย ให้คุณรู้สึกให้เหมือนกันเลยว่า การป่วยของทั้งทางกายและทางจิตมันไม่เลือกปฏิบัติ ทุกคนมีโอกาสเป็นไบโพลาร์ เป็นซึมเศร้า เป็นภาวะต่างๆ ได้ทั้งนั้น มันไม่เลือกปฏิบัติกับใครเลย แต่ถ้าวันหนึ่งโรคนี้เลือกเรา หรือเลือกคนที่เรารัก เราต้องมั่นใจว่าทุกโรคที่มันเป็นในโลกใบนี้ มันเป็นหนทางที่จะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นได้ หายได้ คุณต้องใจกล้า ที่จะก้าวไปหาทางออก นั่นก็คือไปหาจิตแพทย์ การหาจิตแพทย์ไม่ใช่ว่าตัวเองเป็นบ้า แต่มันคือคำตอบที่ดีที่สุด”




เรื่อง : วรัญญา งามขำ, เพ็ญญาเรีย บุญประเสริฐ
ภาพ : Facebook : Kendo Photjanasuntorn



กำลังโหลดความคิดเห็น